วัยเก๋าตั้ง password ยังไงให้เดายาก แต่จำได้
ที่มา : YOUNG HAPPY
แฟ้มภาพ
เชื่อว่าหนึ่งในปัญหาสำหรับการใช้สมาร์ทโฟนที่พี่ๆ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่พบเจอ นั่นก็คืออาการหลงๆ ลืมๆ วิธีการใช้งานแอปพลิเคชันต่างๆ เข้าตรงไหน กดตรงไหน และส่วนที่น่าจะหลงลืมกันมากที่สุด คงหนีไม่พ้น รหัสผ่าน หรือ password ที่ใช้สำหรับล็อกอินเข้าใช้แอปฯ ต่างๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากเลยทีเดียว เพราะถ้าหากตั้งยากเกินไป ก็ไม่สามารถจำได้ หรือถ้าตั้งง่ายเกินไป ก็อาจเสี่ยงต่อการถูกแฮกข้อมูลจากเหล่ามิจฉาชีพออนไลน์ได้ก็เป็นได้ ขอแนะนำเคล็ดลับสำหรับวัยเก๋า ในการตั้ง password ให้เดายาก แต่จำได้ ไม่มีหลงลืมแน่นอน
1. คุณสมบัติของ password ที่ดีและปลอดภัย สิ่งสำคัญอย่างแรกคือความยาวของรหัสผ่าน ควรจะมีไม่น้อยกว่า 10 ตัวอักษรขึ้นไป และควรประกอบไปด้วยหมายเลข 0-9 ตัวอักษรภาษาอังกฤษทั้งพิมพ์เล็กและใหญ่ และเครื่องหมายสัญลักษณ์ต่างๆ ซึ่งถือเป็นค่าพื้นฐานที่บางเว็บไซต์บังคับให้พี่ๆ ต้องตั้งให้ครบตามนี้เลยทีเดียว
2. หลีกเลี่ยงการใช้ข้อมูลส่วนตัวมาตั้ง password พี่ๆ หลายคนมักจะกลัวหลงลืม จึงใช้วิธีการตั้งจากตัวเลขหรือข้อมูลส่วนตัวที่จดจำได้ง่าย เช่น หมายเลขโทรศัพท์ เลขที่บ้าน วันเดือนปีเกิด หรือเลขที่บัตรประชาชน ซึ่งเลขเหล่านี้สุ่มเสี่ยงต่อการที่มิจฉาชีพจะสามารถคาดเดาได้ง่ายๆ จึงควรหลีกเลี่ยงการตั้งในลักษณะนี้อย่างเด็ดขาด
3. เทคนิคการตั้ง password ให้เดายาก แต่จำง่าย เทคนิคง่ายๆ เบื่องต้น แนะนำให้พี่ๆ ลองตั้งจากคำต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่เป็นคำที่จำได้ เช่น ชื่อดาราที่ชอบ ชื่อผลไม้ที่ชอบกิน แล้วนำคำเหล่านี้มาผสมกัน พร้อมกับใส่ตัวเลขลงไป เพื่อให้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และอย่าลืมใช้ทั้งตัวพิมพ์เล็กและใหญ่ และสัญลักษณ์เข้าไปด้วย
หัวใจสำคัญนอกจากจะตั้งให้เดายาก แต่จำง่ายแล้ว ที่สำคัญคือห้ามบอก password นี่แก่ผู้อื่นเด็ดขาด หรือถ้าจำเป็นต้องบอก เพื่อให้ช่วยเหลือจริงๆ ก็ขอให้เป็นคนในครอบครัวหรือลูกหลานเท่านั้น