“วัยรุ่น 4G กับวิถีไทย จะสร้างสุขร่วมกันได้อย่างไร”
ที่มา : แฟนเพจ โชว์ แชร์ เชื่อม
ภาพประกอบจากแฟนเพจ โชว์ แชร์ เชื่อม
ปราชญ์ชาวบ้าน อดีตข้าราชการครู นายช่าง และบัณฑิตคืนถิ่น รวมทั้งอดีตมนุษย์เงินเดือน ที่หวนคืนชนบทพร้อมอาวุธใหม่ที่อยู่ในมือถือ ตั้งวงเสวนาเล่าประสบการณ์ล้ำค่าทำเกษตรพอเพียงสร้างชีวิตมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ได้อย่างไร ในยุคสมัยที่เรามี 4G
ในเวทีโชว์ แชร์ เชื่อม เมื่อ 1-2 เมษายน ที่ผ่านมา พ่อคำเดื่อง ภาษี ปราชญ์ชาวบ้าน จ.บุรีรัมย์ บอกว่า การที่คนเราทำงานแบบเป็นเพียงอาชีพทำมาหากินนั้น เป็นความผิดพลาดของมนุษย์ เพราะทำให้คนมองแคบ ๆ แค่ทำอย่างไรก็ได้เพื่อทำงานหาเงิน ถ้าทุกคนทำงานแบบที่ทำหน้าที่ของคน ก็จะทำงานไปด้วยดูแลโลกไปด้วยเพื่อส่งต่อสิ่งดี ๆ ให้ลูกหลาน
ต่อมา ดร.เชาวลิต สิมสวย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ กล่าวว่า มนุษย์มีบทบาทหน้าที่ที่ต่างกัน ในส่วนของมหาวิทยาลัยทำหน้าที่เชื่อมส่วนราชการให้เห็นว่า เรามีบุคคลตัวอย่างพ่อคำเดื่องที่ทำ (เกษตรผสมผสาน) ประสบความสำเร็จ ราชการจะส่งเสริมได้อย่างไร โดยไม่ติดกรอบในระบบ
ตามด้วย คุณคำนึง เจริญศิริ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาปลูกสวนป่า ปี 2562 แชร์ประสบการณ์ชีวิตว่า เมื่อก่อนใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ทำงานประจำ กินเที่ยวสนุกสนาน มีเงินมีทองใช้ แต่ความสุขนั้นเป็นสุขชั่วคราว จนกระทั่งได้เจอพ่อคำเดื่อง และเข้าฝึกอบรม ทำให้คิดหาคำตอบได้ว่า เราเกิดมาเพื่อช่วยเหลือและเป็นคนต้นแบบให้กับชุมชน จึงหันมาปลูกสวนป่าในที่นา สร้างความอุดมสมบูรณ์ มีรายได้ และชวนชุมชนให้ช่วยกันปลูกปล่าในที่สาธารณะเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติและสร้างความมั่นคงในชีวิต
ด้านตัวแทนเยาวชนบัณฑิตคืนถิ่น คุณจิณพร ดีรบรัมย์ เล่าว่า หลังจากที่เรียนจบปริญญาโท สาขาการเกษตร และได้รับทุนศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก แต่ได้ปฏิเสธไป เพราะยังไม่สามารถตอบคำถามของตัวเองได้ว่า สิ่งที่ทำจะมีประโยชน์ต่อเกษตรกรอย่างไร เป็นจุดเปลี่ยนให้หันกลับมาทำเกษตรพอเพียงที่บ้านเกิด ปัจจุบันสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองไม่ต่ำกว่าเดือนละสามหมื่นบาทพิสูจน์ว่าทำการเกษตรก็สามารถมีความมั่นคงทางการเงินได้
และ คุณวัสพล ดีรบรัมย์ เล่าว่า ในช่วงที่เรียนจบวัยรุ่นแถวบ้านจะไปทำงานในเมืองกันหมดและทิ้งพ่อแม่ให้อยู่ที่บ้าน คิดว่าวิถีชีวิตแบบนี้ไม่เหมาะกับตน จนกระทั่งได้มีโอกาสไปฟังคุณโจน จันได พูดถึงความสุข ความทุกข์ของชีวิต จึงกลับมาถามตัวเองว่า ตัวเองเป็นคนแบบไหน พบว่าเป็นคนที่ชอบความสงบ เรียบง่าย และอยากอยู่กับพ่อแม่ ฉะนั้นการทำอาชีพเกษตรกรที่บ้านจึงตอบโจทย์ต่อตนเอง ที่ได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอย่างแท้จริง
ต่อมา คุณพิชาญ ดัดตนรัมย์ เล่าถึงการค้นหาชีวิตที่เรียบง่าย พบว่า อาหารเป็นสิ่งสำคัญในการดำรงชีวิต อย่างอื่นเป็นเพียงสิ่งเสริม ตนจึงเปลี่ยนที่ดินเปล่า ๆ เป็นแหล่งน้ำและเป็นไร่นา พอทำไปสักพักต้องการตัวช่วยอย่างไฟฟ้าเพราะที่นาอยู่ห่างไกล จนกระทั่งค้นหาความรู้เรื่องพลังงานโซล่าเซลล์มาจัดการในที่นาของตนได้อย่างดี ตนเป็นช่างและเป็นคนใช้เทคโนโลยีทำสื่อเป็นอยู่แล้ว จึงทำสื่อเผยแพร่ความรู้ให้กับคนอื่นผ่านช่องยูทูปชื่อช่อง “ช่างดำ คนเดิม”
คุณประดิษฐ์ เวหน อีกหนึ่งคนรุ่นใหม่ อดีตราชการครู ตัดสินใจลาออกมาทำเกษตร กล่าวว่า ชีวิตที่ผ่านมาไม่ตอบโจทย์ความสุขเท่ากับการกลับมาอยู่บ้านกับครอบครัวได้อย่างแท้จริง จึงไปเรียนกับปราชญ์ชาวบ้านชื่อดังทั่วประเทศ พร้อมพาพ่อของตนเองไปเรียนรู้ ไปค้นพบความสุขที่แท้จริงด้วยกัน ปัจจุบันเป็นเกษตรกร ใช้ชีวิตอิสระและพอเพียง มีรายได้จากการขายข้าว ขายลูกหมู ขายผัก ขายปลา เพียงเท่านี้ก็อยู่สบายแล้ว
ฝั่งผู้เข้าร่วมเรียนรู้ นางสาวสาคร ตันแก้ว ได้แชร์ความคิดเห็นว่า บ้านที่สุรินทร์เราทำนาแบบโบราณ ข้าวไม่สวยก็เอาปุ๋ยเคมีมาใส่ เราก็กินข้าวที่มีสารเคมีมาตลอด เพราะไม่คิดว่าเป็นสิ่งอันตราย และวันนี้ได้ฟังพ่อคำเดื่องและคนที่มาแชร์ความรู้ จากนี้จะกลับไปเปลี่ยนการปลูกที่บ้านให้ได้ดีกว่าเดิม
คุณจรรยาวัฒน์ ทับจันทร์ ผู้เข้าร่วมเวทีอีกหนึ่งท่าน กล่าวว่า เรามีที่ดินอยู่แต่ปล่อยให้เขาเช่าทำนา มาเวทีนี้ ก็ได้แนวความคิดหลายอย่าง เพิ่งคุยกับทีมงานว่า เดี๋ยวจะกลับมาอีกครั้ง เพื่อเรียนรู้ด้วยตัวเองก่อน แล้วค่อยเอาไปคุยกับกลุ่มอีกที
หากเพื่อนภาคีท่านใดสนใจอยากแชร์เรื่องราวโครงการของตนเอง สามารถส่งภาพกิจกรรมการทำงานพร้อมคำบรรยายมาได้ ทาง [email protected] หรือสอบถามพวกเรามาก่อนได้ที่ Inbox เฟสบุ้ค โชว์ แชร์ เชื่อม