วัยรุ่นไทยหันพึ่งยาเส้น หนีราคาบุหรี่

หมอประกิตแนะแก้พ.ร.บ.สกัด

 

 

วัยรุ่นไทยหันพึ่งยาเส้น หนีราคาบุหรี่

 

          เมื่อวันที่ 25 มีนาคม ผศ.ศุภวรรณ มโนสุนทร หัวหน้าศูนย์ข้อมูลเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เปิดเผยในงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์เครือข่ายครู4 ภาค “พลังครูนักรณรงค์เพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่” ที่โรงแรมปรินซ์ พาเลซ ว่าการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยในภาพรวมยังมีจำนวนคงที่ จากการสำรวจการสูบบุหรี่ในเยาวชน อายุ 13-15 ปี พบว่า ความชุกของการสูบ

 

          บุหรี่ในปี 2548 และปี 2552 เป็นร้อยละ 11.7 เท่ากัน แต่น่าสังเกตว่าเยาวชนกลับสูบบุหรี่อื่นๆ และบุหรี่ไร้ควันเพิ่มขึ้น เนื่องจากบุหรี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายมีราคาสูง จึงสูบบุหรี่ชนิดอื่น เช่น ซิการ์ ฮุคก้า บารากู่ และบุหรี่มวนเอง ร้อยละ 10.8 และสูบบุหรี่ไม่มีควัน เช่น เคี้ยวยาเส้น ยาฉุนอม ยานัตถุ์ และหมากพลู ร้อยละ 5.8 ซึ่งน่าตกใจว่า ในปี 2552 เยาวชนหันมาเคี้ยวยาเส้นถึงร้อยละ 5.7 เนื่องจากหาซื้อง่าย ราคาถูก และมีการโฆษณาชวนเชื่อทางอินเตอร์เน็ตอย่างกว้างขวาง นอกจากนี้ เยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่แต่อยากลองสูบมีมากถึงร้อยละ 70

 

          ด้าน นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายควบคุมการผลิตยาเส้น อีกทั้งยังมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษียาเส้นพันธุ์พื้นเมือง ทำให้ผู้สูบบุหรี่หันไปสูบยาเส้นที่มวนเองแทน เนื่องจากมีราคาถูก เพียงห่อละ 5 บาทเท่านั้น ดังนั้น รัฐบาลควรปรับปรุง พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 และการขึ้นภาษียาเส้นให้เทียบเท่ากับยาสูบประเภทอื่น เพื่อลดจำนวนผู้สูบบุหรี่อย่างแท้จริง

 

          ทั้งนี้ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เรื่องพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ในปี 2547 พบว่า มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 24 ปี สูบบุหรี่แบบประจำและชั่วคราว รวมทั้งสิ้น 1,705,526 คน

 

 

 

 

 

ที่มา : สำนักข่าว สสส.

 

Update 23-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : วีระ วานิชเจริญธรรม

Shares:
QR Code :
QR Code