วัยทำงาน เสี่ยงโรคเรื้อรังคุกคาม
ที่มา : สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
แฟ้มภาพ
กรม สบส. เผยกลุ่มวัยทำงานอายุ 15-59 ปี ทั่วประเทศ ยังมีความเสี่ยงป่วยเป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจ มะเร็ง เร่งยกระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ และพฤติกรรมสุขภาพของวัยทำงานให้ถูกต้อง
นายแพทย์วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส.มีนโยบายเร่ง พัฒนาส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ด้านสุขภาพอย่างเพียงพอ และมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดปัญหาการเจ็บป่วย ลดรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลประเทศ
ทั้งนี้ กองสุขศึกษา กรม สบส. ได้ทำการประเมินระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy) และพฤติกรรมสุขภาพ (Health Behavior) ตามหลัก 3อ. 2ส. ของประชาชนกลุ่มวัยทำงาน ช่วงอายุ 15 – 59 ปี ในปี 2559 จำนวน 15,278 คน ที่อยู่ในหมู่บ้าน ในตำบลจัดการสุขภาพคลอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด ที่ดำเนินงานเสริมสร้างการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ตามหลัก 3 อ. 2ส. ซึ่งเป็นวิธีการสร้างสุขภาพดี ลดความเสี่ยงการเกิดโรควิถีชีวิต 5 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง ประกอบด้วย การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย อารมณ์ การงดสูบบุหรี่ และงดดื่มสุรา
ผลพบว่า วัยทำงานมีความรอบรู้ด้านสุขภาพตามหลัก 3อ. 2ส. ส่วนใหญ่อยู่ในระดับไม่ดี ร้อยละ 49 โดยเฉพาะประเด็นการสื่อสารสุขภาพ การเข้าถึงข้อมูลและตัดสินใจเลือกปฏิบัติที่ถูกต้อง พบว่าอยู่ในระดับดีมากเพียงร้อยละ 5.5 เท่านั้น ส่วนพฤติกรรมตามหลัก 3อ.2ส. ของวัยทำงานพบว่า ส่วนใหญ่อยู่ในระดับไม่ดีถึงร้อยละ 56.7 โดยอยู่ในระดับดีมากหรือถูกต้องเพียงร้อยละ 5.2 จากข้อมูลนี้ ชี้ให้เห็นว่าประชาชนวัยแรงงานส่วนใหญ่ยังมีความเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคเรื้อรังอย่างมาก
นายแพทย์วิศิษฎ์ กล่าวต่อว่า จากผลการประเมินทั้ง76 จังหวัดซึ่งไม่รวมกทม.ยังพบว่า วัยทำงานที่อาศัยอยู่ใน 43 จังหวัดมีความรอบรู้ด้านสุขภาพอยู่ในระดับไม่ดี เพศหญิงมีความรอบรู้ด้านสุขภาพดีกว่าเพศชาย และกลุ่มอายุ36-59ปี ที่มีระดับการศึกษามัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และกลุ่มอาชีพที่ทำงานใช้แรงงาน มีระดับความรอบรู้ด้านสุขภาพดีกว่ากลุ่มอื่น ส่วนพฤติกรรมสุขภาพพบว่ามี50จังหวัดที่วัยทำงานมีพฤติกรรมไม่ถูกต้อง เพศหญิงมีพฤติกรรมสุขภาพดีกว่าเพศชาย และกลุ่มอายุ 36-59 ปี ที่มีระดับการศึกษามัธยมศึกษา/อาชีวศึกษา และกลุ่มอาชีพทำงานใช้แรงงาน มีระดับพฤติกรรมดีกว่ากลุ่มอื่น
สำหรับในปีงบประมาณ 2560 นี้ กรมสบส. จะมุ่งเน้นสร้างความร่วมมือกับหน่วยงาน องค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและเครือข่ายสังคม ในการบูรณาการยุทธศาสตร์การดำเนินงานเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยผ่านกลไกการขับเคลื่อนของอสม. และ อสค. 500,000 คนในหมู่บ้าน เพิ่มศักยภาพการสื่อสารด้านสุขภาพให้อสม. นักจัดการสุขภาพภาคประชาชนตำบลละ 10 คน เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล พัฒนาช่องทางให้ชุมชนสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ด้านสุขภาพได้ง่าย ให้ชุมชนจัดรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย มีการสื่อสาร/ถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จนเกิดการเข้าถึงและเข้าใจ
รวมทั้งสร้างปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการเรียนรู้ด้านสุขภาพ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และตำบล มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องอย่างยั่งยืน สามารถดูแลสุขภาพและพึ่งตนเองได้ ซึ่งจะลดปัญหาการเจ็บป่วย ลดผู้ป่วยรายใหม่ในโรงพยาบาล รายจ่ายค่ารักษาพยาบาลของประเทศลงได้อย่างมหาศาล