วันออทิสติกโลก ดึงพลังครอบครัวร่วมดูแล
ที่มา: กรมสุขภาพจิต
แฟ้มภาพ
วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันออทิสติกโลก ในปีนี้เน้นการรณรงค์ส่งเสริมพลังครอบครัวในการดูแล ยอมรับ ทุ่มเท และสู้ไปด้วยกันกับเด็กออทิสติก พร้อมย้ำหมั่นสังเกตสัญญาณเตือน “ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง” หากพบให้รีบพาเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะการบำบัดฟื้นฟูในช่วงเด็กอายุ 2 – 5 ปีแรก จะส่งผลต่อการพัฒนาสมอง ทำให้เด็กสามารถมีชีวิตปกติแบบคนทั่วไปได้ดี
นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า วันที่ 2 เมษายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันออทิสติกโลก ในปีนี้ได้เน้นการรณรงค์ส่งเสริมพลังครอบครัวในการดูแลเด็กออทิสติก ให้เปิดใจยอมรับโดยไม่มองว่าเด็กเป็นส่วนเกินของครอบครัวและสังคม ขณะเดียวกันก็พร้อมทุ่มเทและสู้ไปด้วยกัน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อโอกาสในการรักษา ย้ำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง สังเกตบุตรหลาน หากพบสัญญาณเตือน “ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ไม่ชอบเปลี่ยนแปลง” ให้รีบพาเข้ารับการตรวจวินิจฉัย เพราะการได้รับการบำบัดฟื้นฟูในช่วงเด็กอายุ 2 – 5 ปีแรก จะให้ผลดีต่อการพัฒนาสมอง ทำให้เด็กสามารถมีชีวิตปกติแบบคนทั่วไปได้ดี นอกจากนี้ทุกภาคส่วนควรร่วมกันเปิดพื้นที่บวก ให้โอกาสบุคคลออทิสติก ได้มีที่ยืนในสังคมให้มากขึ้น เพื่อทำให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข ทั้งนี้จากการสำรวจของสมาคมออทิสติกแห่งชาติ (The National Autistic Society) ประเทศอังกฤษ พบว่า มีผู้ป่วยออทิสติกวัยผู้ใหญ่เพียงร้อยละ16 ที่สามารถทำงานเลี้ยงชีพและมีรายได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยออทิสติกถูกจัดว่าเป็นแรงงานไม่มีความชำนาญ จึงได้รับค่าตอบแทนในระดับต่ำ มีอัตราการเปลี่ยนงานบ่อยและมีความยากลำบากในการปรับตัวกับสถานที่และเพื่อนร่วมงาน สำหรับประเทศไทยพบบุคคลออทิสติกไม่ถึง 100 คน ที่มีงานทำ มีรายได้ โดยในส่วนของกรมสุขภาพจิตได้มอบหมายให้โรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลในสังกัดที่เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านออทิสซึม ดำเนินการพัฒนาความพร้อมของบุคคลออทิสติกในการเข้าสู่โลกของการทำงานในชีวิตจริง ส่งเสริมการใช้ความสามารถ การมีงาน มีรายได้และพึ่งพาตนเอง เพื่อลดภาระและเพิ่มคุณภาพชีวิตของบุคคลออทิสติกและครอบครัว รวมทั้งดำเนินการเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาในเด็กออทิสติก อายุ 2 – 5 ปี ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาสามารถเพิ่ม จากร้อยละ 8.51 ในปี 2559 เป็นร้อยละ 56.85 ในปี 2561
แพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ กล่าวว่า “ออทิซึม” เป็นโรคที่มีความผิดปกติของการพัฒนาสมอง ด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม ในไทยพบเด็กออทิสติก กลุ่มอายุไม่เกิน 5 ปี 1 ต่อ 161 คน คาดว่าทั่วประเทศมีประมาณ 18,220 คน ระดับความรุนแรงของโรคแต่ละคนไม่เท่ากัน ประมาณร้อยละ 10 ของจำนวนที่พบมีความเป็นอัจฉริยะในบางด้าน เช่น การวาดภาพหรือเล่นดนตรี, ร้อยละ 20 มีไอคิวต่ำที่ระดับน้อยถึงปานกลาง และอาจมีปัญหาพฤติกรรมร่วมด้วย แต่สามารถเรียนร่วมและฝึกอาชีพได้, ส่วนที่เหลือต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง โดยการบำบัดรักษาต้องผสมผสานทั้งด้านพัฒนาการ การจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม ส่งเสริมอาชีพ การมีงานทำ และการอยู่ร่วมกันในสังคม