‘วันหยุดที่ไม่ได้หยุด’ หัวใจของการรวมศูนย์ทุกศาสนา
วันเวลาในการทำงานของคนไทย มีผู้กล่าวขานแสดงความคิดเห็นกันในสังคมอยู่บ่อยๆ ว่า "เวลาทำงานของคนไทย มีวันหยุดมากเหลือเกิน" ทุกวันนี้ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ได้ว่า ผู้กล่าวขาน วิพากษ์วิจารณ์เพื่อต้องการลดวันหยุดการทำงานของคนไทยให้น้อยลง หรือ เกรงว่า คนไทยจะเสียเวลากับวันหยุดมากเกินไป
หากประเมินกันอย่างคร่าวๆ เราจะพบว่า วันหยุดการทำงาน หรือวันหยุดราชการที่ถูกประกาศออกมาอย่าง เป็นทางการ ส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับ วันสำคัญทาง ชาติ ศาสนา และ พระมหากษัตริย์ นอกเหนือจากนั้นก็อาจจะเกี่ยวข้องกับวันสำคัญทางวัฒนธรรมประเพณีของชนชาติไทย
จากการให้ความสำคัญวันต่างๆ โดยการประกาศให้ เป็นวันหยุดราชการ หรือ วันหยุดงานนี้ ล่าสุด ได้เกิด แนวคิดใหม่ เพิ่มเติมออกมาจากกลุ่มคนบางกลุ่มถึงเรื่อง "วันหยุดที่ไม่ได้หยุด" โดยแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่นับถือศาสนาอื่น ซึ่งไม่ใช่พุทธศาสนา
"วันหยุดที่ไม่ได้หยุด" เป็นผลผลิตจากโครงการขับเคลื่อนการยอมรับความหลากหลายในสถาบันการศึกษา ที่ดำเนินการโดย มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย(สสม.) ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) เพื่อเผยแพร่ความสำคัญ ของวันสำคัญทางศาสนาอิสลาม และศาสนาอื่นๆ ให้มากขึ้น
โดยเมื่อไม่นานมานี้ ทางมูลนิธิฯ ได้ส่งมอบข้อเสนอ เชิงนโยบาย "ให้วันหยุดที่สำคัญทางศาสนาเป็นวันหยุดราชการ" ให้แก่กรุงเทพมหานคร เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้น
คงเป็นที่ทราบกันดีสำหรับผู้ที่นับถือศาสนาพุทธว่า เมื่อถึงวันสำคัญทางศาสนารัฐบาลจะประกาศให้เป็นวันหยุด ราชการเพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ทำหน้าที่ชาวพุทธ เช่น เข้าวัดทำบุญ แต่สำหรับเพื่อนต่างศาสนาคงหาโอกาสแบบนี้ หาได้ยาก เช่น ศาสนาอิสลามที่มีวันฮารีรายอ และศาสนาคริสต์ มีวันคริสต์มาสที่เป็นวันสำคัญทางศาสนา ที่มักตรงกับวันราชการของไทย และน้อยคนนักที่จะมีโอกาสหยุดเรียน หรือหยุดงานไปร่วมวันสำคัญเหล่านั้น เนื่องจากรัฐบาลยังไม่ได้ประกาศให้วันสำคัญดังกล่าว ให้เป็นวันหยุดราชการ
นางสาวกัลยาณา วาจิ ผู้ดูแลโครงการขับเคลื่อนการยอมรับความหลากหลายในสถาบันการศึกษา ได้อธิบายถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า เพื่อศึกษาแนวทางการปรับตัว เรื่องวันสำคัญทางศาสนาของนักเรียนในโรงเรียน โดยชูประเด็นวันสำคัญทางศาสนา และใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน ให้สังคมไทยเกิดการยอมรับในวันสำคัญของชนกลุ่มต่างๆ ที่นอกเหนือจากศาสนาพุทธ ซึ่งยังเป็นประเด็นที่ไม่สามารถ สร้างความเข้าใจกันในสังคมไทยได้มากนัก
โครงการฯ ได้ทำผลสำรวจความคิดเห็นจากนักเรียน ผู้ปกครอง อาจารย์และบุคลากรของโรงเรียนทั้งหมดกว่า 26 โรง ทั่วกรุงเทพมหานคร พบว่า การรับรู้และให้ความสำคัญใน วันหยุดสำคัญทางศาสนา จากกลุ่มตัวอย่างรับรู้ถึงวันหยุดทางศาสนาพุทธมากที่สุด รองลงมาคือ ศาสนาคริสต์ และศาสนาอิสลาม เนื่องจากวันหยุดสำคัญของศาสนาพุทธได้ประกาศเป็น วันหยุดราชการและเขียนไว้ในปฏิทินอย่างชัดเจน การผลักดันเชิงนโยบายครั้งนี้จะสร้างการรับรู้และให้ความสำคัญกับวันหยุดสำคัญของทุกศาสนาให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น และได้ยื่นข้อเสนอ แก่กรุงเทพมหานคร 2 ข้อ ดังนี้ 1.เสนอให้รัฐบาลประกาศให้ วันสำคัญของทุกศาสนาเป็นวันหยุดราชการเพื่อให้เกิดความ เท่าเทียมขึ้นในทุกๆ ศาสนา และเพิ่มความสำคัญของแต่ละศาสนาในปฏิทินประจำปี เพื่อส่งเสริมการยอมรับความหลากหลาย ของประชาชนผ่านการรับรู้วันหยุดของแต่ละศาสนา และ 2.เสนอให้ กรุงเทพมหานครผลักดันให้โรงเรียนในสังกัดกำหนดให้วันสำคัญของทุกๆ ศาสนา เป็นวันหยุดราชการเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในทุกศาสนา หรือให้วันสำคัญทางศาสนาที่ตนเองนับถือเป็นวันหยุดได้โดยไม่ถือเป็นวันลา เพื่อให้นักเรียนและบุคลากรสามารถเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาได้
ในเรื่องนี้ นางชนัญยา จาดชนบท รองผู้อำนวยการสำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร ตัวแทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ผู้รับมอบข้อเสนอเชิงนโยบายฯ กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการศึกษาเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ ในด้านการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร และด้วยความหลากหลายของบริบททางสังคม ศาสนา วัฒนธรรม กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินการส่งเสริมการศึกษาวิชาอิสลามศึกษา การศึกษาภาษาอาหรับ การศึกษาภาษามลายู เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนในโรงเรียนสังกัดได้มีโอกาสเลือกการศึกษา และเรียนรู้ความแตกต่างทางด้านศาสนา ซึ่งการสนับสนุนให้นักเรียนได้มีโอกาสปฏิบัติศาสนกิจ ในวันสำคัญทางศาสนาตามที่ตนได้นับถือ โดยไม่ถือว่าเป็นวันหยุดเรียนนั้น ก็นับว่าเป็นการสร้างเสริมสุขภาวะทางด้านจิตวิญญาณ ให้แก่นักเรียนในแต่ละศาสนาได้อีกด้วย ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวจะถูกนำไปพิจารณาและผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป
ดังนั้นการกำหนดวันสำคัญทางศาสนาอื่นที่ไม่ใช่ศาสนาพุทธให้เป็นวันหยุดราชการ นับเป็นการบ่งบอกถึงความเคารพเพื่อนต่างศาสนา ยอมรับและให้เกียรติศาสนาที่แตกต่าง รวมทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน อันเป็นเรื่องที่น่าคิดอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทย
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า