วันพระใหญ่ จูงมือลูกเข้าวัด ร่วมสร้างสานสัมพันธ์ในครอบครัว
“ครอบครัว” หนึ่งสถาบันหลักของสังคมที่มีความสำคัญ เปรียบดั่งรากฐานอันแข็งแกร่งและงดงามของสังคมไทย หากแต่ปัจจุบันนี้ครอบครัวไทยห่างกันมากขึ้นหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมเราไม่ใช้โอกาสในวันสำคัญทำให้ครอบครัวใกล้ชิดกันมากขึ้น เหมือนดั่งวันสำคัญทางศาสนาอย่างวันมาฆบูชาที่ใกล้ถึงนี้
เพียงใช้โอกาสการทำบุญตักบาตร ฟังธรรมร่วมกันในครอบครัว ในช่วงเวลาเพียงไม่นาน เปรียบดั่งสิ่งสานสัมพันธ์ในครอบครัวให้งดงาม
นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า วันพระใหญ่คือวันที่ 15 ค่ำ ซึ่งในทุกเดือนจะมีวันเพ็ญที่มีพระจันทร์เต็มดวง และมีวันสำคัญทางศาสนาเกิดขึ้น สำหรับวันมาฆบูชาก็เป็นอีกวันพระใหญ่เช่นกัน ที่เดิมทีในอดีตกาลสังคมไทยในชนบท เทศกาลวันพระจะพบว่าสมาชิกในครอบครัวจะต้องทำกิจกรรมร่วมกัน แต่ที่ผ่านมาสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไป วันพระจะมีสัปดาห์ละครั้ง และมักไม่ตรงกับวันหยุด ดังนั้นทำให้สมาชิกในครอบครัวละเลยการทำกิจกรรมร่วมกัน เปลี่ยนเป็นการทำบุญในวันเสาร์-อาทิตย์แทน อย่างไรก็ตามเนื่องในเทศกาลสำคัญทางศาสนา อย่างวันมาฆบูชาที่จะถึงนี้ และเป็นวันหยุดน่าจะเป็นโอกาสอันดีของครอบครัวที่จะทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว ซึ่งปัจจุบันนี้จะพบว่าแนวโน้มของคนนิยมไปเวียนเทียน ทำบุญในวันสำคัญทางศาสนามีมากขึ้น โดยเฉพาะในวัดใหญ่ๆ ที่สำคัญๆ แต่อาจไปในลักษณะรูปแบบเชิงเดี่ยว คือไม่ได้ไปกับครอบครัว อาจไปกับเพื่อน หรือคู่รักหนุ่มสาวแทน
“ช่วงหลังๆ มานี้ผมเห็นคนเข้าวัดไปเวียนเทียนกันมากขึ้น แต่อาจได้ในเชิงปริมาณ ไม่ได้ทางคุณภาพ เพราะภาพที่เห็นคือจะเป็นลักษณะของหนุ่มสาววัยรุ่นที่เข้าไปเวียนเทียนแล้วเดินคุยกัน หัวเราะเสียงดัง โดยไม่ได้ตั้งใจทำกิจกรรมอย่างแท้จริง แต่อย่างน้อยก็พบว่ามีการเวียนเทียน เสี่ยงเซียมซีทำนายความรักเพิ่มขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามันสะท้อนให้เห็นว่าคนเราเดี๋ยวนี้ไม่รู้จะพึ่งอะไร อยู่กับสิ่งที่ยังสับสนว่าจะพึ่งพาใครดี โดยไม่รู้จะนำใครมาเป็นต้นแบบ เกิดความเหงา ไม่มั่นใจในตนเอง ต้องหาที่พึ่งทางใจ ซึ่งการเข้าวัดเสี่ยงเซียมซีขอพรก็เป็นเหมือนความเชื่อศรัทธาที่ได้ผลตอบกลับทางเดียว คือความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ส่วนผลจะออกมาว่าตรงหรือไม่ตรงนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”นายวันชัย กล่าว
ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะครอบครัว สสส. กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ การส่งเสริมให้บุตรหลานเข้าวัดตั้งแต่เด็กๆ เท่ากับทำให้เด็กได้เรียนรู้ความสำคัญของการทำบุญตักบาตรวันพระว่าคืออะไร เพราะปัจจุบันนี้มักมีความเชื่อว่าการตักบาตร คือการทำบุญให้ผู้เสียชีวิตไปแล้วเท่านั้น แต่ความจริงแล้วคือการตักบาตร ภัตราหารให้แด่พระภิกษุสงฆ์ฉัน เพื่อให้พระนำเวลาไปปฏิบัติธรรมและเผยแผ่ศาสนาต่อไป
การปลูกฝังตั้งแต่วัยเด็กนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ขณะที่วันพระอื่นๆ ที่ไม่ใช่เป็นวันพระใหญ่ ที่ผู้ปกครองอาจไม่มีเวลาพาบุตรหลานไปเข้าวัดฟังธรรม ก็อาจใช้เวลาช่วงเช้าตักบาตร หรือสวดมนต์ร่วมกันในบ้านในช่วงเย็น ก่อนเข้านอนแทนก็ได้ หากทำได้ในทุกวันพระ ก็เท่ากับว่าปีหนึ่งสามารถทำได้ 50 กว่าครั้ง ซึ่งก็จะช่วยให้เด็กซึมซับในหลักพุทธศาสนา ส่วนเด็กวัยรุ่น อาจต้องเข้าใจเค้าให้มาก เพราะวัยรุ่นหากใช้การบังคับให้ทำ บังคับให้ไปคงจะไม่ได้ผล ดังนั้นควรเลือกเป็นการสร้างแรงจูงใจแทน เช่น กลุ่มเพื่อนของเด็กวัยรุ่นเองที่จะชวนกันไปวัด ทำบุญ ซึ่งในบางกลุ่มอาจจะยากที่จะทำก็อาจต้องเลือกสิ่งที่เด็กสนใจ เช่น การปล่อยนก ปล่อยปลา เสี่ยงเซียมซีขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
“วันมาฆบูชานี้ถือเป็นโอกาสที่พ่อแม่จะใช้วัฒนธรรมวันพระใหญ่ชวนครอบครัวไปทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การไปกันพร้อมหน้าพร้อมตาในครอบครัว มีพ่อ แม่ ลูก ช่วยจูงญาติผู้ใหญ่ คุณตา คุณยาย ให้พี่คนโตคอยดูแลน้อง ใส่เสื้อผ้าเป็นรูปแบบเดียวกัน สีเดียวกัน ก็จะเป็นภาพครอบครัวที่ดี ซึ่งไม่เพียงแต่เทศกาลวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น จะเป็นวันอื่นๆ หรือเทศกาลอื่นๆ ก็ได้ทั้งนั้น เพียงแต่เราต้องเลือกให้เป็นประโยชน์” นายวันชัย กล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ในเรื่องของการดื่มและค้าขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ ก็ควรเป็นสิ่งที่งด โดยภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ฝากไว้ว่า วันมาฆบูชานับเป็นวันสำคัญทางศาสนาอีกวันหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนจะปฏิบัติตนให้อยู่ในศีลธรรม โดยเฉพาะศีล 5 คือการงดดื่มสุรา เครื่องดื่มมึนเมาต่างๆ ขณะที่ผู้ขายก็ต้องงดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันพระใหญ่ ปฏิบัติตามกฎหมายที่บังคับใช้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นสิ่งที่เราจะได้บุญใหญ่มาก สำหรับวัดปลอดเหล้าที่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ในช่วงที่ผ่านมา ก็ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้น จะพบคนดื่มเหล้าในวัดน้อยลง อาจมีบ้างที่ยังแอบดื่ม โดยผสมกับเครื่องดื่มน้ำอัดลมที่เป็นสี ใส่ขวดมาบ้างตามงานบวช หรืองานศพเพียงเล็กน้อย แต่โดยภาพรวมนั้นถือว่าน่าพอใจอย่างมาก
ส่วนในหลักพุทธศาสนา กับการปฏิบัติตนในวันสำคัญทางศาสนานั้น พระอาจารย์ คึกฤทธิ์โสตฺถิผโล แห่งวัดนาป่าพง กทม. บอกไว้ว่า หน้าที่ของพุทธศาสนิกชนคือการปฏิบัติบูชาพระรัตนตรัย ด้วยการศึกษาคำสอนของพระคาถาคตและนำคำสอนของพระองค์มาประพฤติปฏิบัติ และพยายามถ่ายทอดออกไปต่อยังชนรุ่นหลัง ทั้งนี้ในสมัยพุทธกาลการประพฤติปฏิบัติตนของพุทธศาสนิกชนนั้นก็ไม่ต่างกับปัจจุบันมากนัก โดยยังมีผู้ปฏิบัติตามทางมรรคในองค์ 8 อยู่ ขณะที่พุทธศาสนิกชนเองก็ควรรักษาศีล ดูตรวจศีลตนให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ อย่างน้อยก็ควรให้บริสุทธิ์กว่าเดิม โดยเฉพาะการถือศีล 5 ที่เป็นข้อปฏิบัติทางกาย วาจา ที่เป็นพื้นฐาน ซึ่งหากมีศีล 5 ที่สมบูรณ์ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่าก็ถือเป็นผู้ที่พ้นจากวัยเวร 5 ประการ ไม่ไปสู่อบายอย่างถาวร
สำหรับพิธีเวียนเทียนที่อาจจะยังมีผู้ไม่เข้าใจในความหมายของการเวียนเทียนนั้น พระอาจารย์คึกฤทธิ์ เล่าว่า พิธีเวียนเทียนเป็นสิ่งที่บัญญัติขึ้นมาในภายหลัง เดิมทีการเวียนเทียนก็เปรียบเหมือนเป็นการแสดงความเคารพของพวกเทวดาที่ทำกันเมื่อเข้าพบพระศาสดา ซึ่งความหมายของการเวียนเทียนก็คือการแสดงออกถึงความเคารพนั่นเอง ส่วนวัยรุ่นที่เข้าไปเวียนเทียนแล้วคุยกันเสียงดังที่มักเห็นเป็นประจำตามพิธีเวียนเทียนนั้น ในกรณีนี้อยากให้นึกว่าเวลาพูดคุยกันหรือหยอกล้อกันนั้นยังมีอีกมาก การใช้เวลาเดินเพียง 3 รอบในชั่วเวลาไม่กี่นาที กับปีหนึ่งที่มีไม่กี่ครั้ง น่าจะใช้โอกาสนี้ฝึกฝนจิตใจเราให้มีความสำรวม มีศีล สมาธิและปัญญาให้เกิดประโยชน์สูงสุดดีกว่า
ใช้เวลากับวันสำคัญทางศาสนา ทั้งงดขาย งดดื่มเครื่องดื่มมึนเมา แล้วยังใช้ประโยชน์จากกิจกรรมทางศาสนาที่ครอบครัวจะร่วมกันทำ คงทำให้วันสำคัญทางศาสนา ไม่ใช่มีกำหนดไว้ในปฏิทินให้เป็นวันหยุดให้ใครดีใจเท่านั้น แต่ยังได้ประโยชน์อีกมาก อย่างที่เราอาจไม่คาดคิด
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th