วันผู้สูงอายุสากล มองต่างแดนรับมือโควิด
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
วันที่ 1 ตุลาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติ กำหนดให้เป็นวันผู้สูงอายุสากล เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของผู้สูงอายุ ที่ครั้งหนึ่งได้สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ให้กับสังคม
โดยผู้สูงอายุสามารถแบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ ผู้สูงอายุวัยต้น คือผู้มีอายุตั้งแต่ 60-69 ปี และผู้สูงอายุวัยปลาย คือผู้มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป แต่สำหรับวันผู้สูงอายุสากลประจำปี 2563 นั้นคงไม่ใช่ปีที่ดีนัก เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำเอาปั่นป่วนไปทั้งโลก
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีอภิปราย "การดูแลผู้สูงอายุในช่วงวิกฤติ…บทเรียนจากไทยและต่างประเทศเพื่ออนาคต" ที่ รร.แมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ โดย ศ.ศศิพัฒน์ ยอดเพชร ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสังคมศาสตร์ ในคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ยกตัวอย่างมาตรการดูแลผู้สูงอายุจากหลายประเทศช่วงโควิด-19
อาทิ "สหรัฐอเมริกา" เป็นต้นแบบที่ดีด้าน "ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุตอนกลางวัน" เพราะแม้ศูนย์จะปิดแต่บริการไม่ได้ปิดไปด้วย เช่น อาหาร ยารักษาโรค และการให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ซึ่งมีเจ้าหน้าที่หมุนเวียนมาประจำการตลอด 24 ชั่วโมง ภายใต้การกำกับดูแลโดยภาครัฐคือ กรมผู้สูงอายุกับภาคประชาชนคือ สภาผู้สูงอายุแห่งชาติ ออกคู่มือแนวปฏิบัติกำหนดหน้าที่ของศูนย์ฯ ว่าต้องทำอะไรบ้าง
ที่สำคัญคือ "ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุทุกแห่งมีการเตรียมพร้อมสมาชิก ให้สามารถใช้เครื่องมือดิจิทัลได้" และในช่วงที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐเริ่มรุนแรง ทางศูนย์ฯ ได้สำรวจฐานข้อมูลผู้สูงอายุที่เป็นสมาชิกเพื่อปรับข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอย่างรวดเร็ว อาทิ พักอาศัยกับใคร ต้องการความช่วยเหลืออะไรบ้าง มีทักษะด้านการใช้สื่อออนไลน์หรือไม่ มีภาระการเจ็บป่วยฉุกเฉินอะไรอย่างไร มีการตรวจสอบกระทั่งว่าโทรศัพท์และอุปกรณ์ดิจิทัลใช้การได้หรือไม่ เป็นต้น รวมถึงมีการจัดอาหารกลางวันเตรียมไว้ ใครมารับได้ก็มา ใครมาไม่ไหวมีบริการส่งถึงบ้าน
มี 2 ประเทศ คือ "ออสเตรเลีย-สิงคโปร์" เป็นต้นแบบที่ดี ด้าน "การให้ข้อมูลที่เน้นการพึ่งตนเอง" ทำให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างราบรื่น สิงคโปร์นั้นเน้นให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้เมื่ออยู่ที่บ้าน ตามคำขวัญ "อยู่อย่างแข็งแรง อยู่อย่างปลอดภัย (Stay Strong Stay Safe)" มหาวิทยาลัยแห่งชาติ จัดทำคู่มือทั้งแบบเป็นหนังสือเล่มและหนังสือดิจิทัล ภายในบรรจุข้อมูลสายด่วนบริการให้ข้อมูลและการดูแลผู้สูงอายุ เช่น สายด่วนโควิด เครือข่ายที่ปรึกษา จัดหาผู้ดูแลช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน อาทิ เมื่อไม่มีอาหารรับประทาน รวมถึงส่งเสริมให้ออกกำลังกาย
"ในเรื่องการดูแลตัวเอง เขาให้ข้อแนะนำแม้กระทั่งว่าคุณจะต้องเช็ดเท้าอย่างไร รองเท้าแตะคุณจะต้องใส่อย่างไร จัดบ้านให้ปลอดภัย ไฟต้องเปลี่ยนอย่างน้อยต้อง 100 วัตต์ขึ้นไป ไฟริบหรี่ใช้ไม่ได้เดี๋ยวจะล้ม เพิ่มประสิทธิภาพการรับประทานอาหาร ออกแม้กระทั่งเมนูอาหารมาให้ แล้วก็มีอื่นๆ มากมาย อันนี้จะต่างจากบ้านเรา ข้อมูลตรงนี้เราไม่ค่อยจะมี เรามีที่ให้ป้องกันให้รักษาตัวเอง ซึ่งผลมันก็ออกมาว่าประเทศเรานี่ป้องกันได้ดีมาก แต่ข้อมูลด้านสังคมก็จะมีน้อย อาจจะเป็นเพราะเครือข่ายเราดี ครอบครัวเราดี เราไม่เหมือนคนอื่น" ศ.ศศิพัฒน์ กล่าว
ขณะที่ออสเตรเลีย มีการจัดทำข้อมูลเพื่อให้คำแนะนำสำหรับผู้สูงอายุ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มเฉพาะหลากหลาย เช่น กลุ่มชาว อะบอริจินส์ (ชนพื้นเมืองในออสเตรเลีย) กลุ่มผู้มีความหลากหลาย ทางเพศ (LGBTIQ) เพื่อให้แต่ละกลุ่มดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง ส่วน "แคนาดา" เป็นประเทศที่โดดเด่นด้าน "การกระจาย งบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหา" มีโครงการ New Horizon for Senior Program ซึ่งคล้ายกับกองทุนผู้สูงอายุในประเทศไทย กองทุนนี้จะแบ่งทุนไว้ 2 ระดับ คือ ระดับท้องถิ่นกับระดับประเทศ
ในช่วงก่อนการระบาดของไวรัสโควิด-19 กองทุน New Horizon for Senior Program ได้อนุมัติงบประมาณระดับชุมชน 2,166 โครงการ แต่เมื่อสถานการณ์โรคระบาดมาเยือน ทุกโครงการมีการปรับเปลี่ยนโดยให้สามารถนำงบฯ ไปใช้เพื่อการรับมือในกลุ่มผู้สูงอายุได้ทันที ภายใต้ขอบเขตงาน 5 ประการ 1.จัดหาอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ 2.กิจกรรมคงความสัมพันธ์กับครอบครัวและชุมชน เช่น จัดหารอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัลเพื่อการสื่อสาร 3.พาผู้สูงอายุไปพบแพทย์
4.จ้างพนักงานแทนอาสาสมัคร เพราะในช่วงวิกฤติพบอาสาสมัครขาดแคลน และ 5.ให้ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ ต่อมาในเดือน พ.ค. 2563 เมื่อรัฐบาลแคนาดาเห็นว่าสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย จึงเพิ่มงบประมาณอุดหนุนกองทุนอีก 20 ล้านเหรียญแคนาดา โดยกองทุนจะทำงานกับเครือข่ายที่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนแล้ว แต่มีการเพิ่มกิจกรรมเข้าไป เช่น ป้องกันผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งและปัญหาสุขภาพจิต เพิ่มศักยภาพการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเสมือนจริง และเตรียมพร้อมผู้สูงอายุในการใช้ชีวิตหลัง คลายมาตรการล็อกดาวน์
กรณีของแคนาดา สหรัฐฯ และออสเตรเลีย ยังโดดเด่น ด้าน "การบูรณาการระหว่างองค์กรต่างๆ ทั้งในและนอกภาครัฐ" รวมถึงแบ่งปันข้อมูลและทรัพยากรเพื่อจัดระบบกระจายบริการอย่างทั่วถึง ขณะที่ต้นแบบด้าน "การเสริมสร้างทักษะด้านเทคโนโลยี" สิงคโปร์มีการทำรายการสอนการใช้เครื่องมือดิจิทัลโดยเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุโดยเฉพาะ ส่วนออสเตรเลียกับสหรัฐฯ ยังจัดมาตรการให้ผู้สูงอายุเข้าถึงอุปกรณ์เชื่อมต่อเหล่านี้ด้วย เช่น การให้ยืม
"อิตาลี-จีน" เป็น 2 ประเทศที่น่าสนใจในด้าน "การดูแลสุขภาพจิตผู้สูงอายุในช่วงล็อกดาวน์" อิตาลีนั้นมีข่าวน่าสะเทือนใจ เมื่อผู้สูงอายุที่เคยขี่จักรยานชมเมืองรู้สึกซึมเศร้า แต่ละวันเห็นรายชื่อคนตายจากโรคระบาดแล้วบอกว่า โควิดไม่น่ากลัวเท่าความเหงา จึงจัดสายด่วนสุขภาพจิต และเมื่อผู้สูงอายุชาวอิตาลีนิยมอยู่ในอาคารชุด ก็มีการส่งเสริมให้คนหนุ่มสาวที่อยู่อาคารเดียวกัน เป็นอาสาสมัครส่งสิ่งของที่จำเป็น และเข้าไปพูดคุยกับผู้สูงอายุ
รวมถึงนำภาพยนตร์เก่าๆ มาฉายผ่านทางออนไลน์ ซึ่ง ผู้สูงอายุชาวอิตาลีมีทักษะด้านดิจิทัลค่อนข้างดีอยู่แล้ว ส่วนประเทศจีนนั้นเมื่อใช้มาตรการขั้นปิดเมือง ครอบครัวญาติพี่น้องไม่สามารถมาเยี่ยมผู้สูงอายุได้ เกิดความเครียดถึงขั้นอัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มสูงขึ้น รัฐบาลจีนโดยกรมการสุขภาพ จัดทำคู่มือจิตวิทยาสำหรับผู้ต้องดูแลผู้สูงอายุ มีแผนปฏิบัติการสุขภาพจิต และมีสายด่วนสุขภาพจิต
อย่างไรก็ตามประเทศต่างๆ รวมถึงไทย ก็ยังพบข้อจำกัด เช่น เมื่อจำนวนเตียงในโรงพยาบาลไม่เพียงพอผู้สูงอายุ มักเป็นกลุ่มสุดท้ายที่เข้าถึงการรักษา การจัดบริการทางดิจิทัลยังเป็นอุปสรรคของผู้สูงอายุในการเข้าถึง รวมถึงผู้สูงอายุที่พึ่งพิงตนเองไม่ได้ก็เข้าไม่ถึงเช่นกัน