“วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” จุดเริ่มต้นของการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

 

 

ใน ปี 2555  นับเป็นโอกาสที่ดีของพุทธศาสนิกชนจะได้ร่วมเฉลิมฉลองพุทธชยันตี2,6000 ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าโดยถือโอกาสวันเข้าพรรษา หรือวันงดดื่มสุราแห่งชาติ  เป็นจุดเริ่มต้นของการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เป็นเวลากว่า 1 ทศวรรษมาแล้วที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)และสำนักงานเครือข่ายองค์งดเหล้า (สคล.) รวมทั้งพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมรณรงค์ให้ประชาชนได้รับรู้ถึงอันตรายต่างๆที่มีปัจจัยมาจากการดื่ม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยใช้วันเข้าพรรษาเป็นตัวกระตุ้นที่ก่อให้เกิดการลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงเป็นที่มาของคำว่า “งดเหล้า เข้าพรรษา”จนกระทั่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นมา ในการประกาศให้”วันเข้าพรรษา” “วันงด ดื่มสุราแห่งชาติ”

นับเป็นความสำเร็จของเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้พยายาม ขับเคลื่อนกันมาอย่างต่อเนื่องหลายปี เท่ากับเป็นการทำบุญทางอ้อมที่ใหญ่หลวง ช่วยให้เยาวชนไทยรอดพ้นจากการเป็นเหยื่อนักดื่มหน้าใหม่ และยังเป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบต่อไป

ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)ได้เล่าถึงความเป็นมาโครงการนี้ว่า สคล.ได้ร่วมรณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาร่วมกับ สสส. มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยขอความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน และในปี2555 นี้ จะจัดกิจกรรมรณรงค์ลดละเลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วทุกภาค เพื่อรวมพลังทำความดีเพื่อเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยกระตุ้นเตือนให้ประชาชนได้รับรู้ว่านอกจากจะเป็นวันเข้าพรรษาแล้วยังเป็น “วันงดดื่มสุราแห่งชาติ” ด้วย

ภก.สงกรานต์ กล่าวว่า หากดูจากผลกระทบของการดื่มสุราที่ผ่านมามีประชากรไทยอายุ15ปีขึ้นไป ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากถึง 17 ล้านคนในจำนวนนี้อย่างน้อย 3 ล้านคนมีปัญหาการติดสุรา ทั้งนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นสาเหตุให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 26,000 คนต่อปี สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจปีละกว่า 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่คนไทยต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปีละ2 แสนล้านบาท และยังติดอันดับต้นๆ ที่ประชาชนในประเทศดื่มแอลกอฮอล์ของเอเชีย

นอกจากนี้ ยังก่อให้เกิดปัญหาสังคม ครอบครัวความรุนแรงทางเพศ ขณะเดียวกันอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับสุราทั้งการทำร้ายร่างกาย ชีวิต คดีทางเพศซึ่งประมาณได้ว่ามีจำนวนคดีที่ก่อเหตุหลังดื่มสุรามากถึง 25,000 คนต่อปี หรือ เฉลี่ยวันละ 69 คดี

“ในทางพุทธศาสนา การดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นการกระทำที่ผิดศีลข้อ 5 ซึ่งเป็นศีลธรรมขั้นพื้นฐานของมนุษย์ การงดเหล้าเข้าพรรษาจึงเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของ การลด ละ เลิกดื่มแอลกอฮอล์ถึงแม้ช่วงเวลา 3 เดือนจะเป็นระยะเวลาสั้นๆแต่จะเป็นช่วงเวลาให้ผู้ที่ดื่มสุราเป็นประจำได้ใช้สติในการพิจารณาข้อดีข้อเสียของแอลกอฮอล์ได้อย่างมีสติและปราศจากอคติได้”

ทั้งที่ผ่านมาในระดับนานาชาติได้มีการประชุมนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก อีกทั้งล่าสุดที่มีการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน ที่ทุกประเทศเห็นพ้องตรงกันว่า ปัญหาแอลกอฮอล์และรวมทั้งบุหรี่ ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาและประเทศจะต้องเสียเงินเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้

ปัจจุบันมีหลายพื้นที่เริ่มรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา มีจังหวัดที่ทำอย่างเข้มข้น อาทิ แพร่ ลำพูนชุมพร สงขลา ขอนแก่น สุรินทร์ สกลนคร และชัยภูมิโดยเครือข่ายงดเหล้าพร้อมที่จะขยายให้ครบทุกจังหวัด ส่วนกิจกรรมวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ที่สำคัญจะใช้การปฏิญาณตนงดเหล้าเข้าพรรษา เข้ามาเป็นจุดเริ่มต้นของการลด ละ เลิกดื่มแอลกอฮอล์

เชิญชวนคนไทยทั่วประเทศรวมพลังทำความดีงดเหล้าเข้าพรรษา เฉลิมฉลองพุทธชยันตี2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษาครบ 84 พรรษา ด้วยการตั้งสัจจะอธิษฐาน ลดละเลิกเหล้าตลอดช่วงเข้าพรรษา 3 เดือน

 

 

ที่มา :  หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

Shares:
QR Code :
QR Code