วัดสร้างสุข เริ่มทำ 5 ส อย่างไร
สัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้เล่าถึง ความมุ่งมั่นในการมีส่วนร่วมสร้างวินัยและให้กับคนไทย เพื่อนำไปสู่การมีสังคมแห่งความสุข ของสมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย-ญี่ปุ่น) ซึ่งมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้หลัก 5 ส ในการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจให้มีประสิทธิภาพ จึงได้ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) ทำโครงการ วัดสร้างสุข และริเริ่มนำ เรื่อง 5 ส เข้าไปที่วัด เพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ ได้ถ่ายทอด องค์ความรู้ต่อให้ประชาชนในชุมชน รวมถึงเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยนำร่องทำไปแล้ว 4 วัด คือ วัดด่าน วัดจำปา วัดสุทธิวราราม และวัดคลองเตยใน โดยแต่ละวัดมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งด้านความสะอาด ความสะดวก ความเป็นระเบียบ ความปลอดภัย ลดจุดเสี่ยง เช่น กองไม้เก่าในลานวัด
สัปดาห์นี้ขอเล่าต่อถึงปัจจัยความสำเร็จ และประเด็นที่จะต้องทำความเข้าใจ ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญของการขยายแนวคิดนี้ ออกไปให้อีก 100 วัด ตามที่สมาคมฯ และ สสส. มีความตั้งใจ
ปัจจัยสำคัญในการทำให้ เจ้าอาวาส ชุมชน หรือภาคส่วนต่างๆ เห็นพ้องที่จะมาช่วยกัน เริ่ม และพัฒนาวัดด้วยหลัก 5 ส นั้น อาจารย์อนุวรรตน์ ศิลาเรืองอำไพ หัวหน้าโครงการวัดสร้างสุข เล่าว่า อันดับแรกอยู่ที่ ทัศนคติ และการยอมรับ ซึ่งหลังจากผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ เจ้าอาวาส เปิดประตู และมีความเชื่อมั่นว่าเป็นไปได้ ทำแล้วจะเกิดประโยชน์ต่อวัด และต่อทุกส่วน วิธีการต่างๆ ในการทำ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากเกินไป เนื่องจากเรื่อง 5 ส กับเรื่อง”สัปปายะ” ตามหลักของศาสนาพุทธ อันหมายถึง สิ่งที่สบาย สภาพที่เอื้อ สิ่งที่เกื้อกูล สิ่งที่เอื้อต่อการอยู่ดี และการที่จะพัฒนาชีวิต สิ่งที่เหมาะกัน นั้นเป็นเรื่องเดียวกัน ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่ยังไม่ได้มีการจัดระบบเท่านั้นเอง
ปัจจัยสำคัญอีกประการ ที่จะทำให้วัดสร้างสุข เกิดขึ้นได้จริง อาจารย์อนุวรรตน์ ระบุว่าอยู่ที่ คนขับเคลื่อน และคนทำ โดยวัดที่จะทำเรื่องนี้ จะต้องมีโครงสร้างคณะดำเนินโครงการ ที่มีการกำหนดบทบาทที่ในการขับเคลื่อน และการติดตามอย่างชัดเจน โดยคณะทำงานควรประกอบด้วย เจ้าอาวาส คณะกรรมการวัด พระภิกษุที่ได้รับมอบหมายจากเจ้าอาวาส ทีมที่ปรึกษา ผู้นำ 5ส ตัวแทนหน่วยงานเอกชนหรือหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วม เป็นจิตอาสา
หัวใจที่สำคัญที่ขาดไม่ได้ในการทำวัดสร้างสุขคือ การมีความรู้ความเข้าใจที่เกิดจากการปฏิบัติจริง รวมถึง การกำหนด พื้นที่เป้าหมายที่ชัดเจน มีการจัดลำดับความสำคัญ ว่าพื้นที่ไหนควรทำก่อน-หลัง เช่นพื้นที่ a เป็นพื้นที่ที่ต้องลงมือทำโดยด่วน เนื่องจาก มีความสกปรกมาก มีประชาชนมาใช้พื้นที่นั้นเป็นจำนวนมากในการทำศาสนกิจ เป็นพื้นที่สร้างภาพลักษณ์ให้กับวัด หรืออนุรักษ์ถาวรวัตถุอย่างเร่งด่วน ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์
สำหรับการนำ 5 ส มาประยุกต์ใช้กับวัดนั้น อาจารย์อนุวรรตน์ บอกว่าจะเน้น 3ส แรก ก่อนคือ สะสาง การแยกของที่จำเป็น และไม่จำเป็น ออกจากกัน โดยใช้เทคนิคป้ายแดง หรือ red tag ติดกับของที่ไม่จำเป็น หรือยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจำเป็น หรือไม่จำเป็น
สะดวก การแยกใช้หลักการของความถี่การใช้สิ่งของ ของที่ใช้บ่อยๆ ต้องวางไว้ใกล้ผู้ใช้ หลักการเคลื่อนไหวของคน หลักความสูญเปล่า (waste) ในการทำงาน
สะอาดด้วยการกำหนดรายการสิ่งของ จุดบริเวณที่ต้องทำความสะอาด และขนาดของความสะอาดขั้นตอนวิธีการทำความสะอาด รวมถึงกำหนดอุปกรณ์สิ่งของ ที่ต้องใช้ในการทำความสะอาด ในขณะที่ทำความสะอาด ต้องมีการตรวจสอบด้วยเพื่อค้นสภาพความผิดปกติ ค้นหาสภาพที่ทำให้สกปรก เพราะถ้าสามารถหาเหตุของความสกปรกได้ ก็ทำให้หยุด หรือบรรเทาเบาบางความสกปรกนั้น ทำให้ลดเวลาในการทำความสะอาด
ถามว่าการทำ 5ส จะเกิดความยั่งยืน ได้อย่างไร อาจารย์อนุวรรตน์ ให้คำตอบมายาวที่เดียว แต่ขอสรุปสั้นๆ เพื่อให้เพียงพอกับพื้นที่ คือ จะต้องมุ่งมั่นทำจริง ไม่ฉาบฉวย เห็นความสำคัญ ของ 5 ส และจะต้องให้ 5ส ฝังอยู่ใน ชีวิตประจำวัน 5ส ไม่ใช่สิ่งที่แยกออกจากชีวิตประจำวันหรือเป็นกิจกรรมพิเศษที่นอกเหนือจากชีวิตประจำวัน และจะต้องมีการตรวจประเมินเป็นประจำสม่ำเสมอ ซึ่ง 4 วัดนำร่องนั้น มีความมุ่งมั่นมาก สามารถทำเรื่อง 5 ส ให้เห็นเป็นรูปธรรม และมีการทำต่อเนื่อง โดยใช้เวลาปีเศษๆ เท่านั้น
เห็นโครงการสร้างสุขดีๆ เช่นนี้ ก็อยากนำมาแบ่งปัน ซึ่งในฐานะสมาชิกหนึ่งของชุมชน และสังคม ผู้เขียนก็ขอให้โครงการวัดสร้างสุข ที่มุ่งสร้างวินัยให้คนในสังคมและทำให้คนในสังคมมีความสุข ประสบความสำเร็จในการขยายสู่อีก 100 วัด พร้อมกับขอกล่าว สวัสดีปีใหม่ ปี พ.ศ.2557 และขออวยพรให้ผู้อ่านทุกท่าน มีความสุขกาย สุขใจ มีความก้าวหน้า และมีความสุขในการทำงานมากยิ่งๆ ขึ้นไป
หัวใจสำคัญการทำวัดสร้างสุขคือ การมีความรู้ ความเข้าใจ จากการปฏิบัติจริงกำหนดพื้นที่เป้าหมายชัดเจน ลำดับความสำคัญพื้นที่ก่อน หลัง
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย พิมพร ศิริวรรณ