‘วัด’ต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน
ตั้งแต่อดีตโบราณกาล คงไม่มีใครปฏิเสธว่า “วัด” เป็นที่พึ่งของชาวบ้าน เป็นศูนย์รวมของสรรพสิ่ง หลากหลายกิจกรรมอยู่ที่วัด แม้แต่เรื่องของการศึกษาเล่าเรียน จนเป็นที่มาของคำว่า บวชเรียน แต่ในปัจจุบันดูเหมือนว่า “วัด” กลับมีบทบาทต่อชุมชนลดน้อยลง เหลือเพียงแค่ภาพของการเป็นสถานที่จัดพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นงานบวช งานศพ หรืองานในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ส่วนภาพในบทบาทอื่นๆ ดูจะเลือนรางและนึกยากขึ้นทุกที
ในอดีต ชาวบ้านมีความใกล้ชิดกับพระและวัด ทำให้ได้มีโอกาสซึมซับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระผู้ทรงศีล แต่ในสังคมปัจจุบัน ด้วยข้อจำกัดหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการจราจรที่แออัด ช่วงเวลาที่ไม่เอื้ออำนวย ฯลฯ ทำให้การเข้าวัดของคนไทย กลายเป็นเรื่องยาก บางครั้งการเข้าวัดแต่ละครั้ง ต้องมีการวางแผน ใช่ว่านึกอยากจะเข้าก็เดินเข้าไปได้ทันทีเหมือนก่อน แม้บางวัดพยายามรณรงค์ให้คนเข้าวัด ถึงกับมีการเปิดให้เข้าไปทำกิจกรรมต่างๆ ในวัดช่วงเย็นหรือค่ำหลังเลิกงาน แต่คนส่วนหนึ่งก็ยังลำบากที่จะเข้าวัดอยู่ดี
ก็เป็นไปตามข้อมูลที่ นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รมว.วัฒนธรรม (วธ.) บอกว่า เคยมีการสำรวจพบว่า คนไทยเข้าวัดน้อยลง โดยร้อยละ 66 เข้าวัดแค่ปีละ 1-2 ครั้ง, ร้อยละ 18 เข้าวัดในวันสำคัญทางศาสนา และมีเพียงร้อยละ 2 ที่เข้าวัดทุกวัน จึงไม่น่าแปลกใจที่นิด้าโพลเคยสำรวจไว้เมื่อปี 2543 พบว่า คนไทยร้อยละ 79 ห่างไกลธรรมะ แต่ที่น่าตกใจยิ่งกว่าก็คือ ร้อยละ 44 ไม่คิดเข้าร่วมกิจกรรมในวันวิสาขบูชา
“หากไม่รีบหยุดยั้งความคิดแบบนี้ ในอนาคตจำนวนคนไทย ที่ไม่คิดร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา ก็จะมีเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ทั้งที่วัดเป็นศูนย์กลางของศาสนา และประเทศไทยก็เป็นเมืองพุทธที่สำคัญของโลกด้วย” รมว.วัฒนธรรม กล่าว
ดังนั้น การฟื้นฟูบทบาทของวัด ให้กลับมาเป็นศูนย์กลางของชุมชนอย่างแท้จริง จึงเป็นสิ่งที่หลายๆ ฝ่ายพยายามทำ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานหลักอย่าง วธ.หรือหน่วยงานต่างๆ อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) อย่างน้อยก็ต้องทำให้วัดน่าเข้าไปเยือนให้ได้ก่อน ส่วนชาวบ้านจะมีเวลาเข้าไปหรือไม่ ก็คงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องรณรงค์กันต่อไป
นายแพทย์ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ ผอ.สำนักองค์กรสุขภาวะ สสส. ได้สะท้อนมุมมองถึงบทบาทของวัดไว้ว่า จริงๆ แล้ววัดคือทุกอย่าง เพราะวัดสามารถทำอะไรได้มากมาย ไม่ใช่แค่เรื่องของพิธีกรรมเท่านั้น โดยเฉพาะบทบาทในการเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชน เรียกได้ว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ซึ่งคนทุกเพศทุกวัยตั้งแต่คนเฒ่าคนแก่ เยาวชนคนหนุ่มสาวรวมถึงเด็กเล็กๆ สามารถมาเรียนรู้ร่วมกันได้ที่วัด เราจึงต้องทำให้คนกลับมาหาวัด แต่การจะทำเช่นนั้นได้ วัดเองก็ต้องสร้างแนวคิดใหม่ อย่าติดอยู่กับกรอบเดิมๆ
“ผมจะดีใจมาก ถ้าต่อไปได้ยินเด็กและเยาวชนของเราพูดกันติดปากว่า จะไปวัด ซึ่งผมเชื่อว่า เยาวชนของเราก็สนใจ เพียงแต่ในวัดยังขาดพื้นที่สำหรับพวกเขา ดังนั้น หากเราใช้พื้นที่วัดเป็นลานสร้างสุข ที่ทุกคนมาทำกิจกรรมทุกอย่างร่วมกัน ชาวบ้านก็จะรักวัด เพราะรู้สึกว่าเป็นเจ้าของร่วมกัน ซึ่งในส่วนของ วธ. หรือ สสส. ที่เข้ามาส่งเสริมก็เป็นการสนับสนุนในสิ่งที่มีอยู่ แล้วให้ขยายตัวอย่างยั่งยืน คนที่ทำอยู่แล้วจะเกิดความภาคภูมิใจ ไม่ใช่มาเริ่มนับตั้งแต่ศูนย์ ซึ่งผมเชื่อว่าหากเรามีลานสร้างสุขเกิดขึ้นมากๆ จะทำให้ประเทศเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น” นพ.ชาญวิทย์ กล่าว
ที่ วัดพิกุลทอง ต.ชะมวง อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เป็นตัวอย่างหนึ่งของวัดที่มีการพัฒนาตนเอง จนกลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนได้อย่างน่าประทับใจ เรียกได้ว่า ณ วันนี้ วัดพิกุลทอง กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญของชุมชน ไม่ว่าชาวบ้านมีปัญหาเรื่องใด ก็จะสามารถมาหาได้แทบจะทุกคำตอบจากที่วัดพิกุลทอง อาทิ เรื่องของพระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อาชีพ การศึกษา สาธารณสุข ฯลฯ โดยเฉพาะวันอาทิตย์ จะมีชาวบ้านมารวมตัวกันที่วัดมากเป็นพิเศษ เพราะทางวัดได้จัดโครงการ “เข้าวัดวันอาทิตย์” ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ เพื่อให้ชาวบ้านได้มาทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ซึ่งคนเฒ่าคนแก่จะชอบมากกับการมาฝึกปฏิบัติธรรม ทั้งการทำสมาธิ เดินจงกรม ฟังเทศน์ ทั้งที่บางคนแค่จะขยับตัวแต่ละก้าวยังดูยาก แต่กลับนั่งสมาธิได้เป็นเวลานาน ซึ่งเป็นความมหัศจรรย์ที่เกิดจากศรัทธาที่เปี่ยมล้นอยู่ในจิตใจ ส่วนเด็กและเยาวชนคนหนุ่มสาว นอกจากได้มาใกล้ชิดพระศาสนา เพื่อซึมซับในเรื่องของคุณธรรมจริยธรรมแล้ว ยังจะได้มาหาความรู้ด้านอาชีพสาขาต่างๆ อีกด้วย
พระครูสุธรรมวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง เล่าว่า ทางวัดได้ทำเรื่องของการเป็นศูนย์กลางชุมชนมานานแล้ว เพราะเห็นว่าวัดเงียบ จึงได้สนับสนุนให้อุบาสกอุบาสิการวมตัวกัน ตั้งชมรมผู้ปฏิบัติธรรมขึ้นมาก่อน หลังจากนั้น จึงเริ่มมีกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเข้ามา จึงทำให้ทุกวันนี้ วัดพิกุลทองมีความคึกคัก เป็นที่พึ่งของชาวบ้านได้อย่างดี และเมื่อทาง วธ. กับ สสส. เข้ามาช่วยสนับสนุน ก็ยิ่งทำให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ มีความเข้มแข็งมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการส่งเสริมอาชีพ ขณะนี้มีความหลากหลายมาก โดยชาวบ้านซึ่งเป็นภูมิปัญญาในท้องถิ่น ต่างก็กระตือรือร้นที่จะนำองค์ความรู้ของตนเองมาถ่ายทอด โดยมีวัดเป็นเวทีสำคัญ
“อาตมารู้สึกดีใจที่เห็นบ้าน วัด โรงเรียน หรือ บวร กลับมาใกล้ชิดกันเยาวชนก็เข้าวัดมากขึ้น ซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นชัดเจนก็คือชาวบ้านมีความสามัคคี ช่วยเหลือกันอย่างดีมาก” ท่านเจ้าอาวาส กล่าว
อาจารย์ฉ่องวั่นเส้ง อายุ 71 ปี อดีตข้าราชการครู หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งชมรมผู้ปฏิบัติธรรมบอกว่า การที่ผู้ใหญ่มาเข้าวัดมากขึ้น จะทำให้เด็กและเยาวชนเข้าวัดมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นในวัดจึงต้องมีกิจกรรมที่หลากหลายเหมาะสมสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ซึ่งตนมองว่าการฟื้นฟูบทบาทของวัดให้เป็นศูนย์กลางของชุมชนยังมีส่วนสำคัญที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้อีกด้วย
มาถึงตรงนี้เชื่อว่า หลายคนอาจฉุกคิดนึกทบทวนขึ้นมาแล้วว่า ตนเองกำลังเหินห่างจากวัดอยู่หรือไม่ อย่าให้ความเหินห่างกลายเป็นความเคยชิน ในขณะที่วัดหลายๆ แห่ง ก็น่าจะทบทวนตัวเองด้วยเช่นกันว่า ได้ทำหน้าที่เป็นเสาหลักให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นของตนมากน้อยเพียงใด ก็เชื่อว่าคงยังไม่สาย ที่จะมาช่วยกันฟื้นฟูบทบาทของวัดให้กลับมาเป็นที่พึ่งของชุมชนได้อย่างแท้จริง
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update : 30-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ศิรินทิพย์ อิสาสะวิน