วัณโรคระยะแฝงคืออะไร?

ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


วัณโรคระยะแฝงคืออะไร? thaihealth


แพทย์โรคปอด เผย วัณโรคหลังโพรงจมูกที่เลือดออกมาก ๆ เป็นโรคหายาก 1 ในล้าน ระบุวัณโรคนอกปอดส่วนใหญ่ไม่ติดต่อ ด้านผอ.สำนักวัณโรค พบคนไทยติดเชื้อวัณโรคระยะแฝง 20 ล้านคน อยู่บ้านเดียวกันควรระวังตรวจปอด


ทราบกันเป็นที่เรียบร้อย หลัง รพ.ศิริราช ได้เผยผลตรวจชิ้นเนื้อ “น้ำตาล เดอะสตาร์” ชี้ชัดว่าเป็น “วัณโรคหลังโพรงจมูก” โดยพบได้น้อยมากเพียง 1% ของวัณโรคที่พบนอกปอด และยังเป็นกรณีไม่ปกติ อีกทั้งสาวน้ำตาลไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคนี้ด้วย จึงแนะนำให้ทุก ๆ คน ตรวจร่างกายประจำปี ขณะเดียวกันความสงสัยของประชาชนที่ว่าโรคดังกล่าวจะเป็นโรคติดต่อร้ายแรงหรือไม่ หรือทำไมไม่แสดงอาการ และทุกคนสามารถเป็นได้ใช่หรือไม่ เรามาค้นหาคำตอบกัน


วันที่ 26 มิ.ย.“เดลินิวส์อนไลน์” ติดต่อไปยัง พญ.ผลิน กมลวัทน์ ผอ.สำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค ให้ความรู้ว่า วัณโรค เป็นโรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย ส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอดร้อยละ 80 จึงแพร่เชื้อได้ง่ายผ่านละอองอากาศที่มีเชื้อจากผู้ป่วย ไอ จาม พูดดัง ๆ ตะโกน หัวเราะหรือร้องเพลง จากคนสู่คน โดยเมื่อผู้ป่วยวัณโรคปอด หลอดลม หรือกล่องเสียง ปล่อยละอองฝอยขนาดเล็ก 1-5 ไมโครเมตร กระจายอยู่ในอากาศ ซึ่งอนุภาคขนาดเล็ก ๆ จะเข้าไปสู่ถุงลมในปอดผู้ที่สูดดม และจะปรากฏอาการที่สำคัญ คือ ไอเรื้อรังติดต่อกันนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป อาการอื่น ๆ ที่อาจพบได้คือ น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีไข้ ไอมีเลือดปน เจ็บหน้าอก หายใจขัด เหงื่อออกมากตอนกลางคืน


ดังนั้นทุกคนควรตรวจหาวัณโรคอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ด้วยการเอกซเรย์ปอด ตรวจเสมหะ และเจาะเลือดตรวจด้วยเครื่องอนุชีววิทยา ส่วนวัณโรคนอกปอดอาจพบได้ในอวัยวะอื่น ๆ ได้แก่ เยื่อหุ้ม ปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ระบบประสาท เป็นต้น และในกรณีวัณโรคปกติสามารถรักษาให้หายขาดได้ ทานยาวันละ 10 เม็ดติดต่อกัน 6 เดือน แต่คนมักจะเบื่อหน่ายเลิกกินกลางคัน สุดท้ายคุณก็จะเป็นวัณโรคที่ดื้อยา


ปัจจุบันพบว่า ไทยมีผู้ติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงมากถึง 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก ซึ่งผู้ติดเชื้อไม่มีอาการป่วยเป็นวัณโรค ไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่น จึงไม่จัดว่าเป็นผู้ป่วยวัณโรค แต่เป็นเสมือนแหล่งเพาะเชื้อเตรียมพร้อมสำหรับการแพร่กระจาย และเมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายไม่สามารถจัดการทำลายเชื้อได้ ก็จะทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นวัณโรคซึ่งยากต่อการรักษา เพราะต้องใช้ยาร่วมกันหลายชนิดและใช้เวลาในการรักษายาวนาน ฉะนั้นจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการรักษา โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งต้องรักษาการติดเชื้อวัณโรคระยะแฝงทันทีที่ตรวจพบ ได้แก่ ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีทุกราย ผู้ที่อาศัยใกล้ชิดกับผู้ที่ติดเชื้อวัณโรค เช่น อยู่บ้านเดียวกัน อาศัยอยู่ในห้องเดียวกันนานกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น ทั้งนี้โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็ก และผู้ป่วยภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่อยู่ระหว่างการได้รับยากดภูมิคุ้มกัน และผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น


“5-6 ปี เราพบว่า มีผู้ป่วยวัณโรคที่เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง หรือคนรวยป่วยเพิ่มขึ้น อันนี้เรื่องจริงแต่เราเปิดเผยข้อมูลคนไข้ไม่ได้ ทำได้เพียงประชาสัมพันธ์ เพราะโรคนี้ถูกคนลืม ไม่ใช่เป็นโรคของคนระดับล่าง เหตุผลคือเรายังใช้อากาศเดียวกันหายใจ ดังนั้นต้องคัดกรองผู้ติดเชื้อเข้าสู่วงจร คือ การตัดปัญหาและยุติโรคนี้ให้ลดน้อยลง” พญ.ผลิน กล่าว


ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในฐานะอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตอบคำถาม ภายหลังคณะแพทย์ศิริราช แถลงถึงสาเหตุการเสียชีวิตของ “น้ำตาล เดอะสตาร์” จากวัณโรคโพรงจมูกว่า ปกติผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 80% ตรวจพบที่ปอด และอีก 20% เกิดขึ้นนอกปอด ที่พบบ่อย คือ ต่อมน้ำเหลือง รองลงมาตามกระดูก ลำไส้ และผิวหนัง


การรับเชื้อวัณโรคเข้าร่างกายเกือบทั้งหมดจะรับทางปอด จากการหายใจเอาเชื้อวัณโรคที่ล่องลอยในอากาศ เชื้อวัณโรคก่อตัวในปอด และกระจายโดยกระเสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้ทั่วร่างกาย จากนั้นไปเกาะตามจุดต่าง ๆ ในอวัยวะ มีทั้งพักและแฝงตัว และหากภูมิต้านทานร่างกายลดลงก็จะเกิดโรคขึ้น


เหตุผลที่ “วัณโรคปอด” พบได้มาก เพราะเป็นจุดที่รับเชื้อมาก และเป็นอวัยวะที่มีออกซิเจนมาก วัณโรคระยะที่ยังไม่เป็นมากมักไม่แสดงอาการป่วย ยกเว้นอาการรุนแรง เกิดแผลในปอด จะมีอาการไอเรื้อรัง อาจมีหรือไม่มีไอเป็นเลือด ส่วนจุดอื่นที่ไม่แสดงอาการ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ก็สามารถคลำก้อนเจอได้ ส่วนอาการทั่วไปก็คือน้ำหนักลด อ่อนเพลีย และมีไข้ต่ำ ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ


“วัณโรคหลังโพรงจมูก” เกิดขึ้นได้น้อยมาก และปกติเลือดจะไม่ออกมาก เว้นแต่ลามไปจนถึงเส้นเลือดแล้วทำให้เส้นเลือดแตก กรณีน้องน้ำตาล ไม่ชัดเจนเหตุใดจึงมีเลือดไหลออกจำนวนมาก จนอุดทางเดินหายใจ และวัณโรคหลังโพรงจมูกที่เลือดออกมาก ๆ เป็นโรคหายาก 1 ในล้าน


ในปีหนึ่งคนไทยเป็นวัณโรคนับแสนราย ถือเป็นสถิติไม่ค่อยดีนักที่มีผลต่อสุขภาพของประชากร และเป็นประเทศที่มีอัตราการเป็นวัณโรคสูงเป็นอันดับ 14 ของโลก กลุ่มที่ป่วยเป็นวัณโรคมักเป็นคนด้อยโอกาสที่อยู่และติดต่อกันในชุมชนแออัด ผู้ที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่ด้วย เนื่องจากการดื่มสุราทำให้ภูมิต้านทานลดลง ส่วนการสูบบุหรี่ลดภูมิต้านทานทั่วร่างกาย และโดยเฉพาะที่ปอด ปอดที่มีการอักเสบเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ ทำให้ความสามารถในการฆ่าเชื้อโรคที่หายใจเข้าปอดลดลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย อีกกลุ่มหนึ่งคือในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่บกพร่องจะทำให้เชื้อวัณโรคสามารถติดและแสดงอาการได้ง่าย นอกจากนี้ก็คือผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน เช่น เคมีบำบัด ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ดี ผู้ป่วยโรคตับแข็ง และไตวายเรื้อรัง


การป้องกันวัณโรคทำได้โดยรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ที่อยู่อาศัยต้องให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่กินเหล้า สูบบุหรี่ หากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักลด ไอมีเลือดปน มีประวัติคนใกล้ชิดเป็นวัณโรคปอด ควรจะไปปรึกษาแพทย์ ส่วนวัณโรคที่เป็นนอกปอดส่วนใหญ่จะไม่ติดต่อ เนื่องจากเชื้อวัณโรคจะไม่ล่องลอยในอากาศ

Shares:
QR Code :
QR Code