วัฒนธรรมชุมชนแก้ปัญหาภาคใต้
ภารกิจสำคัญมูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดง
ถึงวันนี้ ข่าวคราวความไม่สงบซึ่งเกิดขึ้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ยังปรากฏให้เห็นเป็นข่าวอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นข่าวร้ายรายวันที่ทำให้ผู้คนไม่กล้าลงไปเยือนดินแดนที่ร่ำรวยความหลากหลายทางวัฒนธรรมแห่งนี้
จึงทำให้ไม่เข้าใจ จึงทำให้ยิ่งเหินห่าง มองผู้คนที่อาศัยอยู่ในแถบถิ่นนี้แบบเหมารวมด้วยสายตาที่ไม่ไว้วางใจ ดังบางคนถูกเรียกล้อว่าเป็น “โจรก่อการร้าย”ทั้งที่เขาหรือเธอ ยังไม่ได้ทำอะไรที่เข้าข่ายเลยด้วยซ้ำยังเป็นผู้ที่มีชีวิตอยู่ในชุมชนอย่างเรียบง่าย ทำมาหากินเป็นปกติ และอยู่กับวัฒนธรรมท้องถิ่นที่ตนรักและผูกพัน
เช่นเดียวกับ ดร.รุ่ง แก้วแดงผู้คร่ำหวอดในแวดวงการศึกษา อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ลูกหลานคนยะลา
ดร.รุ่งเคยเล่าไว้ว่า หลังจากเกษียณอายุราชการแล้ว ได้มีโอกาสทำงานด้านวัฒนธรรมที่ชอบอีกครั้งหนึ่ง เมื่อกลับไปอยู่แผ่นดินเกิดที่จังหวัดยะลา หนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ดินแดนที่มีปัญหาความรุนแรง แต่ด้วยความรักบ้านเกิด และเมื่อมองในมิติของวัฒนธรรมพบว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอีกโลกหนึ่งที่นอกจากจะงดงามด้วยธรรมชาติแล้ว ยังมีเสน่ห์ในฐานะที่เป็นดินแดนที่เก่าแก่ มีการตั้งถิ่นฐานมายาวนานหลายพันปี
เป็นที่หล่อหลอมวัฒนธรรมอันหลากหลายของคนท้องถิ่นดั้งเดิมหลายชนเผ่าเข้าด้วยกัน คือ จากทางทิศตะวันตกมีคนอินเดียอพยพเข้ามา และทางทิศตะวันออกมีคนจีนเดินทางเข้ามาตั้งรกราก
“คนในดินแดนแถบนี้จึงมีตำนาน เรื่องราว และวิถีชีวิตที่แตกต่างไปจากคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยเช่น มีเรื่องราวของพี่น้องซาไก เป็นชนเผ่ายุคโบราณ ที่ตอนนี้กำลังจะหายไปจากแผ่นดินไทยหมดแล้ว
“มีเรื่องราวของคนจีน ซึ่งในอดีตอาศัยอยู่ในชุมชนเป็นกลุ่มคนที่สร้างความเจริญให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก แต่ด้วยนโยบายจำกัดความหลากหลายทางวัฒนธรรมของรัฐบาล ทำให้มรดกทางวัฒนธรรมของจีนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เหลืออยู่ไม่มากนัก”
ดร.รุ่งยังบอกอีกว่า ยังมีคนไทยพุทธซึ่งรับมรดกมาจากอินเดีย ก็มีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น บางส่วนคล้ายคลึงกับภาคใต้ตอนบน แต่หลายเรื่องก็เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ มีหลายชุมชนที่คนในพื้นที่พูดภาษาไทยด้วยสำเนียงภาคกลาง เช่น ชุมชนพิเทน อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี ชุมชนตากใบ จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น ชุมชนมุสลิมซึ่งมีประชากรร้อยละ80 นับถือศาสนาอิสลาม ก็มีตำนานตั้งแต่เรื่องของภาษา ศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่อ การตั้งบ้านเรือนการศึกษาที่น่าสนใจเรียนรู้อยู่มากมาย
“โดยเฉพาะในชุมชนที่คนไทยเชื้อสายจีน ไทยพุทธและมุสลิมยังอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ไปมาหาสู่ ทำมาค้าขายและพึ่งพาอาศัยกัน หลายคนได้แต่งงานเป็นเครือญาติอยู่กันอย่างสันติสุข แต่ละชุมชนมีของดี มีมรดกทางวัฒธรรม
“เชื่อว่าถ้ามีการศึกษาวิถีชีวิตเหล่านี้ให้เข้าใจ ความขัดแย้งจะไม่เกิดขึ้น”
นี่แหละคือความร่ำรวยทางวัฒนธรรมของจังหวัดชายแดนใต้
และด้วยจุดแข็งนี่เอง ที่ทำให้ ดร.รุ่ง แก้วแดง ในฐานะประธาน มูลนิธิสุข-แก้ว แก้วแดงได้จัดทำโครงการพัฒนาขีดความสามารถองค์กรเยาวชนซึ่งเป็นโครงการที่นำเด็กๆ ในพื้นที่มาเรียนรู้เรื่องการจัดตั้งองค์กร การทำกิจกรรม สร้างความเข้มแข็ง การเป็นผู้นำ และใช้กิจกรรมศิลปะการแสดงพื้นบ้านเป็นกิจกรรมฝึก
เพราะเยาวชนเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวนมาก และมีความสำคัญต่อ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
โครงการพัฒนาขีดความสามารถองค์กรเยาวชนนี้ในปีแรกได้ทำการคัดแลือกเยาวชนจาก อบต.จำนวนแห่งละ 12 คน ครู กศน. 1 คน เจ้าหน้าที่ อบต. 1 คนและฝ่ายการเงินของ อบต.อีก 1 คน รวม อบต.ละ 15 คน มาร่วมเรียนรู้ที่มูลนิธิ โดยมีเยาวชนจากจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มาเข้าร่วมโครงการในแต่ละรุ่น
ผลที่ได้รับคือ เยาวชนเหล่านี้เป็นเพื่อนกัน รู้จักกันใช้ชีวิตร่วมกัน และเรียนรู้ร่วมกัน
ดร.รุ่งเล่าให้ฟังว่า สาระการเรียนรู้ที่มูลนิธิจัดให้คือเยาวชนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กร การหาสมาชิกให้ครบ 60 คน การบริหารองค์กร การเป็นผู้นำที่เสียสละ การเขียนโครงการ การบริหารการเงินการเรียนรู้เกี่ยวกับตำนานของตำบล ตำนานของศิลปะการแสดงพื้นบ้าน บันทึกการพัฒนาองค์กรเยาวชน
และสุดท้ายคือเลือกการแสดงศิลปะพื้นบ้านที่เยาวชนสนใจ โดยต้องมีการแสดงอยู่ในตำบล และมีครูภูมิปัญญาที่สามารถถ่ายทอดความรู้นั้นแก่เยาวชนได้
“โครงการนี้เน้นเรื่องศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เนื่องจากเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญ ในอดีตเคยมีการแสดงอยู่เป็นประจำในกิจกรรมของชุมชน เช่น ในพิธีเข้าสุหนัต การแต่งงาน งานมัสยิด การหาทุนของโรงเรียนตาดีกา ไม่ว่าจะไปทางไหนจะมีเสียงดนตรีเหล่านี้ให้ได้ยินอยู่เสมอ แต่ช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบ กิจกรรมเหล่านี้ได้หายไป”
โครงการนี้จึงเหมือนการรื้อฟื้นวัฒนธรรมที่ดีงามขึ้นมาใหม่ โดยใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญในการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งภาพที่ไม่เคยเห็นช่วงเกิดเหตุการณ์ไม่สงบก็ได้มีให้เห็นมาแล้ว
เช่น ที่ตำบลตันหยงลุโล๊ะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี มี 3 หมู่บ้านซึ่งเป็นมุสลิมเหมือนกัน มีถนนคั่นกลาง โดยหมู่ 1 และ 2 เป็นพวกเดียวกัน ส่วนหมู่ 3 จะเป็นอีกพวก เวลาใครข้ามฝั่งถนนไปก็มักจะมีเรื่องชกตี ชกต่อยกันเป็นประจำ แต่พอเข้าร่วมโครงการต้องทำดิเกร์ฮูลูด้วยกัน ซึ่งต้องมีการซ้อมร่วมกัน พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะตามไปดูเด็กๆ ซ้อม เกิดการไปมาหาสู่ เกิดการทำงานร่วมกัน ความขัดแย้งเมื่อก่อนจึงหายไป
เช่น ที่ตำบลคีรีเขต อำเภอธารโต จังหวัดยะลาชาวไทยพุทธจะปลูกบ้านอยู่บนเขา ส่วนชาวไทยมุสลิมจะอยู่รอบนอก และมีเรื่องกันเป็นประจำ ทำให้ไทยพุทธนั้นออกมาข้างนอกไม่ได้ ส่วนชาวไทยมุสลิมก็จะเข้าไปในสวนไม่ได้ แต่พอมีกิจกรรมการแสดงเข้ามา ความสัมพันธ์ก็เกิด สถานการณ์จึงดีขึ้น
เหล่านี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ ดร.รุ่งประสบพบมาจากการทำกิจกรรม
ประธานมูลนิธิ สุข-แก้ว แก้วแดง เล่าว่า การฝึกฝนศิลปะการแสดงพื้นบ้านเป็นกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้เรียนรู้ และฝึกปฏิบัติเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กร ทำให้ได้รับการยอมรับจากคนในชุมชนสูงมาก โดยเฉพาะคนที่อายุเลย 40 ปีขึ้นไป เพราะเคยเล่น เคยดู และเคยฟังอย่างมีความสุข
“การแสดงของเยาวชนจึงเป็นสิ่งที่ชุมชนคุ้นเคยและมีความมั่นใจว่าเยาวชนจะเป็นผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมต่อไป”
และจากความสำเร็จนี้ ดร.รุ่งเชื่อว่า การแก้ปัญหา3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีช่องทางที่จะเป็นไปได้แต่สำคัญที่สุดคือ ต้อง “เข้าใจ” คนในพื้นที่เสียก่อน
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน
update: 23-07-53
อัพเดตเนื้อหาโดย: คมสัน ไชยองค์การ