วัฒนธรรมการอ่าน นิยมสื่อออนไลน์เพิ่ม

ผลงานวิจัยของ "เครือข่ายเสียงประชาชน หรือ We Voice" ศึกษาวิจัยพัฒนาตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่าน สร้างตัวชี้วัดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่สะท้อนให้เห็นภาพรวมการอ่านของประเทศ


วัฒนธรรมการอ่าน นิยมสื่อออนไลน์เพิ่ม thaihealth


แฟ้มภาพ


เมื่อรวบรวมข้อมูลคนไทยกลุ่มประชาชนทั่วไปทั้งหมด 1,753 ตัวอย่าง พบกลุ่มตัวอย่างใช้เวลาในการอ่านผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ 166 นาทีต่อสัปดาห์ และอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 222.5 นาทีต่อสัปดาห์ สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันประชาชนนิยมอ่านผ่าน สื่ออิเล็กทรอนิกส์มากกว่าสื่อ สิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะสื่อที่มีการแชร์ผ่านสังคมออนไลน์


ส่วนค่าดัชนีวัฒนธรรมการอ่านจะมีค่าอยู่ในช่วง 0-100 ซึ่งได้ค่าดัชนีเท่ากับ 40.4 หมายความว่าประเทศ ไทยมีวัฒนธรรมการอ่านที่น้อย นอกจากนี้ พบว่าค่าใช้จ่ายซื้อสื่อสิ่งพิมพ์โดยเฉลี่ย 272 บาทต่อเดือน โดยร้อยละ 55.4 ที่มีการซื้อ และร้อยละ 44.6 ไม่ได้ซื้อหนังสือเลย


เมื่อถามถึงสาเหตุที่ทำให้ไม่อยากอ่านหนังสือ พบร้อยละ 30.7 ชอบฟังวิทยุ ดูทีวีมากกว่า รองลงมา ร้อยละ 29 ไม่มีเวลาอ่าน และร้อยละ 19.4 สายตา ไม่ดี อีกทั้งยังมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 4.3 ที่อ่านหนังสือไม่ออก


เมื่อพิจารณาจากกำลังซื้อพบกลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 18.2 มองว่าหนังสือมีราคาแพงเกินไป ร้อยละ 8.3 ไม่มีเงินซื้อ และร้อยละ 10.4 ไม่มีแหล่งให้ยืมหนังสือ


จากผลสำรวจตัวอย่างจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง 398 คนของกลุ่มเด็กปฐมวัยที่มีอายุต่ำกว่า 6 ขวบ พบว่า ระยะเวลาที่ใช้ในการอ่านหนังสือให้เด็กฟังเท่ากับ 709.5 นาทีต่อสัปดาห์ แบ่งเป็นการอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ เฉลี่ย 615.8 นาทีต่อสัปดาห์ และวัฒนธรรมการอ่าน นิยมสื่อออนไลน์เพิ่ม thaihealthอ่านผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 70.9 นาทีต่อสัปดาห์


เมื่อสำรวจกิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว ในรอบ 1 เดือน ที่ผ่านมาพบร้อยละ 62.6 มีการทำกิจกรรมร่วมกัน โดยร้อยละ 83.2 จะอ่านหนังสือให้เด็กฟัง ร้อยละ 81.3 ให้คำชมเวลาเด็กอ่านหนังสือ และร้อยละ 78.6 ใช้เวลาอ่านหนังสือด้วยกัน


ผลวิจัยดังกล่าวสอดคล้องกับสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่สำรวจข้อมูลเมื่อปี 2557 จากจำนวนประชากรไทย 6.9 ล้านคน พบข้อมูลคนที่ไม่รู้หนังสือกว่า 580,000 คน


ในปีเดียวกัน กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สำรวจทักษะการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนชั้น ป.3 ทั่วประเทศ 600,000 คน พบว่า มีนักเรียนกว่า 35,000 คนมีปัญหาอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ขณะที่อีก 200,000 คน หรือ 1 ใน 3 มีปัญหาอ่าน-เขียนไม่คล่อง


ปัญหาดังกล่าวมาจากการเติบโตของสื่อดิจิตอล ที่เริ่มแย่งชิงพื้นที่การอ่านเชิงคุณภาพมากขึ้น แผนงานเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงร่วมกับ "We Voice" จัดประชุมระดมแนวคิด "การพัฒนาตัวชี้วัดวัฒนธรรมการอ่านของคนไทย" ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.


นายอมรวิชช์ นาครทรรพ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้เริ่มระดมความคิดเห็นคนแรก เปิดเผยว่า ไม่ควรปล่อยให้เรื่องการอ่านเป็นไปตามกลไกตลาด เพราะถ้าปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดก็จะเห็นภาพของคนที่ได้อ่าน กับไม่ได้อ่าน นั่นคือคนมีเงินซื้อ และไม่ได้ซื้อ


"เชื่อว่าการที่มีหนังสือดี ราคาถูกเป็นเรื่องสำคัญ และยังหวังอยากเห็นครอบครัว โรงเรียน ชุมชน สามารถซื้อหนังสือราคาถูกได้ หรือแม้แต่การที่ทุกตำบลจะเปิดร้านหนังสือของตัวเอง แต่ต้องเปิดแล้วไม่เจ๊ง อีกทั้งการใช้สื่อของไทยต่างจากการใช้สื่อสร้างวัฒนธรรมของเกาหลี ที่สอดแทรกวัฒนธรรมหรือจิตสำนึกผ่านบทบาทตัวละคร แต่สื่อของไทยเป็นสื่อสะท้อนปัญหาสังคมมากกว่าเป็นสื่อสร้างสังคม สร้างค่านิยมที่ดี" นายอมรวิชช์กล่าว


ถัดมา สิริกร มณีรินทร์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดทำแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ยกประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่านของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรมเกาหลีมองถึงการอ่านหนังสือเป็นวิธีที่ดีที่สุด ที่จะกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ เป็นรากฐานของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และทำให้วัฒนธรรมของเกาหลีตื่นตัว โดยในช่วงปี 2549 สาธารณรัฐเกาหลีปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติส่งเสริมห้องสมุด และพ.ร.บ.ส่งเสริมการอ่านมากถึง 11 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงการสร้างกลไกการส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตาม ไทยเองก็มีกฎหมายเกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่าน คือพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ มาตรา 25 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่า รัฐบาลจะต้องสร้างห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ แหล่งเรียนรู้ สวนสาธารณะต่างๆ อย่างพอเพียงและมีประสิทธิภาพ


"ข้อมูลสำคัญขององค์กรระบบยุติธรรมของสหรัฐอเมริกา ย้ำความสำคัญด้านการส่งเสริมการอ่านว่า การไม่รู้หนังสือคือหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อสัดส่วนอาชญากรรม เพราะมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของคดีอาญาที่เกิดขึ้นมาจากผู้ไม่รู้หนังสือ และกว่า 50 เปอร์เซ็นต์มีโอกาสตกเป็นเหยื่อ หรือถูกเอารัดเอาเปรียบ ที่ในบางกรณีกลายเป็นผู้ลงมือก่ออาชญากรรมเสียเอง" นางสิริกรกล่าว


ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานดิ์ หัวหน้ากลุ่มที่ปรึกษากรมสุขภาพจิตและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขณะนี้ 4 ประเทศที่พัฒนาแล้ว ได้แก่ สิงคโปร์ เกาหลี ฮ่องกง และไต้หวัน ไม่ได้แข่งขันเรื่องเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว แต่ยังเห็นปัจจัยสำคัญในเรื่องของการศึกษา ที่เชื่อมโยงไปยังการส่งเสริมการอ่าน ซึ่งในงานวิจัยข้างต้นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าต่อสังคมไทย ที่จะแสดงให้เห็นถึงการพัฒนาของประเทศได้


ขณะที่ ศกุนตลา สุขสมัย ผอ.กลุ่มพัฒนาและส่งเสริมวิทยบริการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เล่าถึงประเด็นการสร้างนิสัยรักการอ่านให้กับเยาวชน ว่า ที่ผ่านมาจะพบเด็กไทยไม่อ่านหนังสือ เพราะห้องสมุดในโรงเรียนเน้นวิชาการ จนทำให้เด็กติดภาพว่าเมื่อเข้าห้องสมุดแล้วจะต้องเข้าไปทำรายงาน หรืออ่านหนังสือเพื่อเตรียมสอบเท่านั้น แต่ในปัจจุบันในส่วนรับผิดชอบของ สพฐ.มีส่วนร่วมกับภาครัฐและเอกชน ในการจัดกิจกรรมที่สามารถทำได้ในห้องสมุด


ทั้งนี้ เมื่อเด็กก้าวเข้าสู่รั้วโรงเรียนเด็กจะรักการอ่านได้ส่วนหนึ่ง แต่การปลูกฝังให้เด็กมีนิสัยรักการอ่านนั้นจะต้องทำตั้งแต่วัยเด็กและสามารถเริ่มได้ที่ครอบครัว โดยผู้ปกครองต้องทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง จึงจะเป็นการสนับสนุนให้เด็กอยากอ่านหนังสือตามด้วย


เช่นเดียวกับ น.ส.นันทิยา สว่างวุฒิธรรม อดีตอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) บอกว่า จากการดำเนินงานจัดประกวดเรียงความหนังสือเล่มโปรดของฉัน โดยให้เยาวชนเลือกหนังสือที่ชอบอ่านนำมาเขียนเรียงความ ปรากฏมีเยาวชนจากต่างจังหวัดที่ผู้ปกครองไม่สามารถซื้อหนังสือให้อ่านได้ แต่เก็บหนังสือจากกองขยะมาให้อ่าน สิ่งนี้ก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการอ่านได้แล้ว และยังสะท้อนให้เห็นถึงการส่งเสริมการอ่านจากผู้ปกครอง ที่สร้างลักษณะนิสัยของเด็กได้


ปิดท้ายด้วยผู้ที่อยู่ในแวดวงหนังสืออย่าง สุชาดา สหัสกุล กรรมการสมาคม ผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หมดเวลาแล้วที่จะคิดคำถามว่าทำไมคนไทยไม่อ่านหนังสือ แต่ควรจะคิดว่าทำอย่างไรให้คนไทยอ่านหนังสือ และจะทำอย่างไรให้ภาครัฐหันมาสนใจเรื่องการอ่าน และส่งเสริมการอ่านอย่างจริงจัง เพราะขณะนี้ร้านหนังสือซีเอ็ดบุ๊ค กว่า 300 สาขาปิดตัวลงแล้ว และสำนักพิมพ์บางแห่งกำลังทยอยปิดตัวลงเช่นกัน


"เรื่องการล้มเลิกกิจการขายหนังสือแสดงให้เห็นว่าจำนวนของร้านหนังสือก็มีผลต่อปริมาณของคนอ่านด้วย เพราะหากผู้บริโภคมีเงินแต่ก็ซื้อหนังสือไม่ได้ ธุรกิจร้านหนังสืออาจใช้เรื่องขายออนไลน์เข้าช่วยได้บ้าง แต่ก็อาจมีผลกับผู้ที่อินเตอร์ เน็ตเข้าไม่ถึงได้ ขณะเดียวกันยอดของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ (อีบุ๊ก) ทั่วโลกกลับดิ่งตกทั้งหมดเช่นกัน" นางสุชาดากล่าว


แม้จะยังไม่มีบทสรุปของทิศทางส่งเสริมการอ่านในไทย แต่อย่างน้อยก็เห็นดัชนีวัดวัฒนธรรมการอ่านที่พอสังเขปให้คิดได้ว่า ถึงเวลาหรือยังที่เราจะเผยแพร่วัฒนธรรมการอ่านสู่ชีวิตของสังคมไทย


 


 


ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Shares:
QR Code :
QR Code