‘วัคซีนไข้เลือดออก’ จุดเปลี่ยนระบบสุขภาพ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
แฟ้มภาพ
เป็นเวลาเกือบ 60 ปี หลังจากค้นพบไข้เลือดออกเป็นครั้งแรก ในไทย แม้จะมีแนวทางป้องกันและมาตรการควบคุมพาหะนำโรคมาโดยตลอด แต่การระบาดของโรคยังคงเกิดขึ้น กระทั่งมี การอนุมัติให้ใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก จึงนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการป้องกันไข้เลือดออกแบบองค์รวม
รศ.นพ.ประตาป สิงหศิวานนท์ คณบดีคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคไข้เลือดออกจะลดลง เนื่องจากเทคโนโลยีการรักษามีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่กลับพบจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ใหญ่ อีกทั้งมีงานวิจัยบ่งชี้ว่ากลุ่มผู้ที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการก็มีจำนวนสูงมาก หรือประมาณ 3 เท่าของ ผู้ป่วยที่มีอาการ
ที่สำคัญและน่าเป็นห่วงคือ กลุ่มนี้สามารถแพร่เชื้อผ่านยุงลายไปยังผู้อื่น ได้มากกว่า 10 เท่า ซึ่งเป็นปัญหาสำหรับการป้องกันในระดับสาธารณสุขของประเทศ ในแง่ของผลกระทบด้านเศรษฐกิจนั้นประเทศไทยสูญเสียเงินไปกับภาระค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลโรคไข้เลือดออกถึง 290 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 2 รองจากอินโดนีเซีย
นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุลรองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การใช้วัคซีนป้องกันไข้เลือดออกเป็น เครื่องมือป้องกันการระบาดสำหรับประชาชนนั้น กรมควบคุมโรคยังต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยใช้ข้อมูลความชุกต่อการ ติดเชื้อไวรัสเดงกี่ในประชากรไทยกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ก่อนแล้ว มาประกอบการพิจารณาเพื่อหากลุ่มอายุที่เหมาะสมในการให้บริการวัคซีน รวมถึงยังต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ในภาพรวมของประเทศ และผลกระทบเชิงงบประมาณที่จะเกิดขึ้นเมื่อนำวัคซีนมาใช้ด้วย โดยขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลดังกล่าว
ด้าน รศ.(พิเศษ)นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วัคซีนป้องกันไข้เลือดออก ที่ประเทศไทยและอื่นๆ ใช้กันอยู่ในปัจจุบันนี้ เป็นวัคซีนเชื้อตัวเป็นอ่อนฤทธิ์ เกิดจาก การผสมกันระหว่างวัคซีนเชื้อไข้เหลือง แล้วมาพ่วงกับชิ้นส่วนของเชื้อไวรัสเดงกี่ ทั้ง 4 สายพันธุ์ เมื่อฉีดเข้าร่างกายจะสามารถกระตุ้นและสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรค ไข้เลือดออกจากเชื้อไวรัสเดงกี่ทั้ง 4 สายพันธุ์ได้มากกว่าครึ่ง คือ 65.6% ป้องกันการเกิดไข้เลือดออกแบบรุนแรงได้ถึง 93.2% และป้องกันการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลได้ 80.8%
"ที่น่าสนใจคือ มีผลการศึกษาวิจัย พบว่า ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วเมื่อได้รับวัคซีนไข้เลือดออก สามารถป้องกันโรคได้มากถึง 81.9% ต่างจากผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน ซึ่งพบว่าสามารถป้องกันได้ 52.5% เรื่องนี้อธิบายได้ว่า วัคซีนนี้ทาหน้าที่เหมือนกระตุ้นความจำของร่างกาย ดังนั้น ผู้ที่เคยติดเชื้อเดงกี่มาก่อน ไม่ว่าจะกี่สายพันธุ์ก็ตาม วัคซีนที่ฉีดก็จะเรียกความจำคืนมาทำให้ได้ผล ดีกว่าผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อเดงกี่ ซึ่งร่างกายไม่เคยมีความจำมาก่อน" รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าว
ผลการศึกษาดังกล่าวจึงพิสูจน์ให้เห็นว่า การฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกนั้นไม่ทำให้เกิดโรคไข้เลือดออก และไม่ถือเป็นการติดเชื้อโดยธรรมชาติเหมือนจากยุงกัด จึงมีความปลอดภัยและมีประสิทธิผลในการป้องกันโรค ขณะที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกเดงกี่ในประเทศที่มีการระบาดสูง นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนยาอีก 17 ประเทศ ให้การรับรองขึ้นทะเบียนยาได้เพื่อนำวัคซีนไข้เลือดออกนี้มาใช้ป้องกันโรคไข้เลือดออกได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประเทศไทยจะมีบริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนแล้ว นักวิจัยและบุคลากรทางการแพทย์ ยังคงต้องทำการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย อีกทั้งมีการ แลกเปลี่ยนความรู้ในเชิงวิชาการ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกมีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น
"ผู้ที่เคยติดเชื้อเมื่อได้รับวัคซีนไข้เลือดออก สามารถป้องกันโรคได้มากถึง 81.9%"