วัคซีนป้องกัน HPV ใช้ต้านแค่ 2 สายพันธุ์

สสส.แนะมะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ แค่ใส่ใจตรวจคัดกรอง

 วัคซีนป้องกัน HPV ใช้ต้านแค่ 2 สายพันธุ์

          ผลวิจัยวัคซีนป้องกันเชื้อมะเร็งปากมดลูกไม่ใช่ยาวิเศษ ชี้วัดซีนราคาแพงที่โหมโฆษณาให้ฉีด ป้องกันได้แค่ 2 สายพันธุ์ และยังมีข้อจำกัดแต่ตรวจคัดกรองป้องกันได้ดีที่สุด ระบุอีก 5 ปีมีเหยื่อมะเร็งปากมดลูกเพิ่ม 12,500 ราย

 

          ที่โรงแรมอมารี แอร์พอร์ต สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ(hitap) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงเรื่อง มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ แค่ใส่ใจตรวจคัดกรองดร.นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผอ.สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (ihpp) กล่าวว่า การวิจัยผลกระทบจากกลยุทธ์การตลาดของวัคซีนป้องกันเชื้อเอช hpv ที่เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปากมดลูก สำรวจหญิงไทยอายุระหว่าง 12-50 ปี จำนวน 160 คน พบว่า ส่วนใหญ่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอยู่มากเรื่องวัคซีนนี้ กลุ่มตัวอย่าง 62% เข้าใจผิดว่าผู้ได้รับเชื้อ hpv ต้องเป็นมะเร็งปากมดลูกทุกคน แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้ได้รับเชื้อ hpv มีโอกาสน้อยมากที่จะพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะโดยทั่วไปผู้หญิงที่ได้รับเชื้อไวรัส hpv และเกิดความผิดปกติเล็กน้อยที่เยื่อบุปากมดลูกจะหายเป็นปกติได้เองภายใน 2 เดือนถึง 1 ปีโดยไม่ต้องทำการรักษาใดๆ

 

          นพ.วิโรจน์กล่าวว่า บางส่วนยังคิดว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพมากกว่าความเป็นจริง เช่น เข้าใจว่าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ hpv ได้ 100% เข้าใจว่าถึงแม้ติดเชื้อแล้ว ถ้าฉีดวัคซีนก็สามารถรักษาโรคได้ และป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ เช่น หนองใน และซิฟิลิส แต่ความเป็นจริง เพราะวัคซีนที่มีอยู่ปัจจุบัน เป็นเพียงวัคซีนที่ป้องกันได้แต่เชื้อไวรัสเอชพีวี เพียง 2 สายพันธุ์ คือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ขณะที่เชื้อไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ มีทั้งสิ้นมากกว่า 100 สายพันธุ์ด้วยกัน

 

          “ที่สำคัญ กลุ่มตัวอย่างถึง 67% เข้าใจว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะฉีดให้กับผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว กับผู้ที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ทั้งๆ ที่วัคซีนจะได้ผลน้อยมาก หรืออาจจะไม่ได้ผลเลย ถ้าฉีดให้กับสตรีอายุมากกว่า 30 ปี หรือสตรีที่เคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว” นพ.วิโรจน์กล่าว

 

           นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สถิติของเครือข่ายข้อมูลข่าวสารโรคมะเร็งไทย หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า หญิงไทยป่วยมะเร็งปากมดลูกเป็นลำดับ 2 รองจากมะเร็งเต้านม คาดว่าปี 2551 มีผู้ป่วย 9,700 ราย และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีก 5 ปีข้างหน้าคือปี 2556 จะมีผู้ป่วยเพิ่มสูงถึง 12,500 ราย ทั้งนี้มะเร็งปากมดลูกป้องกันได้ เพราะระยะเวลาตั้งแต่เยื่อบุปากมดลูกได้รับเชื้อไวรัส จนเกิดความผิดปกติและกลายเป็นมะเร็งปากมดลูก ใช้เวลานาน 10-15 ปี หากได้ตรวจคัดกรองหาภาวะความผิดปกติอย่างต่อเนื่อง จะพบความผิดปกติ และรักษาที่เหมาะสมได้แต่เนิ่นๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนไปเป็นมะเร็ง

 

          นพ.ณรงค์ศักดิ์กล่าวอีกว่า ผลการศึกษาของนักวิจัยจากกระทรวงสาธารณสุข และเครือข่ายสวรส. พบ วิธีการตรวจคัดกรองแบบผสมผสาน ด้วยการตรวจวิธี via คือการตรวจทุก 5 ปีในสตรีอายุ 30-45 ปี ร่วมกับการตรวจด้วยวิธี pap smear คือตรวจทุก 5 ปี ในสตรีอายุมากกว่า 45 -60 ปี จะช่วยให้ตรวจพบผู้ที่มีความผิดปกติของเยื่อบุปากมดลูกได้มากกว่าการตรวจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งอย่างเดียว เพราะแม้วิธี via จะตรวจและรักษาได้เสร็จสิ้นภายในครั้งเดียว และได้รับการยอมรับจากสตรีไทยมากกว่าวิธี pap smear ซึ่งมีขั้นตอนในการตรวจและฟังผลหลายครั้ง แต่วิธี via ไม่เหมาะกับหญิงไทยที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป เพราะเยื่อบุปากมดลูกจะมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ความแม่นยำในการตรวจน้อยลง จึงควรใช้วิธี pap smear ในสตรีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

update : 08-08-51

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code