วัคซีนป้องกันเด็กติดเกม
“เด็กวัยรุ่นติดเกมหนัก ฆ่าตัวตาย” “เด็กติดเกมคลั่ง ใช้มีดฟันหัวตำรวจยับ” พาดหัวข่าวหน้าหนึ่งที่พ่อแม่มักอ่านเจอบ่อยขึ้น
จากงานวิจัยเรื่องการศึกษาหาปัจจัยเพื่อป้องกันการติดเกมในเด็กและวัยรุ่น ปี 2551 พบว่า เด็กติดเกมมีสถิติสูงร้อยละ 13.3 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 14.4 ในปี 2553 และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ผลสำรวจชี้เด็กติดเกมเพิ่มขึ้น 2 เท่าในรอบ 3 ปี ได้ส่งสัญญาณไม่สู้ดีกับพ่อแม่ว่า อันตรายกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ลูกทุกทีแล้ว ยุทธวิธีป้องกันเจ้าตัวป่วนจึงเริ่มขึ้น
เกวลิน พงษ์สุทธิ์ ยอมรับว่า รู้สึกวิตกกังวลในการดูแลลูกสาว 2 คน คือ น้องนั่นแน่ วัย 4 ขวบ กับนี่นี้วัย 2 ขวบ ท่ามกลางเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคนบนโลกใบนี้ ซึ่งมักจะถูกซึมซับอย่างอัตโนมัติโดยไม่ได้ตั้งใจ ในยามเธอทำงานอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ เพื่อติดต่อกับลูกค้าเพื่อนำรองเท้าเข้ามาจำหน่าย จนกระทั่งวันหนึ่ง น้องนั่นแน่ ลูกสาวคนโตอยากเล่นคอมพิวเตอร์ เธอจึงลงมือเป็นครูสอนด้วยตนเอง “คนโตเขาชอบดูรายการผ่านทางยูทูบ เช่น รายการ howdini ที่มีพิธีการคอยทำโน่นนี่นั่นตามที่เด็กต้องการ เช่น การสอนทำเค้กไดโนเสาร์”
เบี่ยงเบนความสนใจ
ต่อมาความกังวลเกิดขึ้นทันทีในฐานะแม่ เมื่อลูกสาวเริ่มสนใจดูมิวสิควีดิโอเพลงในยูทูบ เพราะมิวสิควีดิโอบางเพลงมีฉากไม่เหมาะสมกับเด็ก ซึ่งพ่อแม่ไม่ทราบมาก่อนจึงเกิดความเสี่ยงได้เหมือนกัน วิธีการแก้ไขคือ ทุกครั้งจะมีแม่ของเธอคอยดูแลหลานๆ เสมอ เพื่อเซ็นเซอร์ว่าควรดูมิวสิคเพลงนี้หรือไม่ เช่น แทนที่จะให้ลูกดูมิวสิควีดิโอที่หวือหวาของเลดี้กาก้า เธอเปลี่ยนให้ดูมิวสิควีดิโอของนักร้องคนอื่นแทน ซึ่งเพลงที่สนุกสนานและสามารถเต้นได้เหมือนกัน โดยให้เหตุผลกับลูกว่า มิวสิควีดิโอของเลดี้กาก้าไม่เหมาะกับเด็ก
อาจดูเหมือนเป็นคำตอบที่ฟังแล้วเข้าใจยากสำหรับเด็ก แต่เธอบอกว่า ลูกสาวคนโตรับรู้ได้ แม้ว่าจะมีงอแงบ้างทีแรก แต่ด้วยความที่เธอมีทางเลือกให้กับเขาได้ด้วยการดูรายการอื่นแทน ซึ่งให้ความสนุกสนานเหมือนกัน เรื่องแบบนี้จึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับเธออีกต่อไป แม้ว่าในใจลึกๆ แล้วเธอรู้สึกกลัวว่า เทคโนโลยีจะเข้ามาทำร้ายลูก แต่เธอก็ไม่ปิดกั้นลูกไม่ให้ลูกใช้เทคโนโลยีเหล่านั้น
“ถ้ากลัวแล้วปิดกั้น ไม่ให้เขาใช้ คงไม่ใช่ทางออกที่ดี สู้สอนให้เขาเรียนรู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดีน่าจะเป็นวิธีที่ดีกว่า” ปัจจุบันน้องนี่นี้ ลูกสาววัย 2 ขวบของครอบครัวพงษ์สุทธิ์เริ่มเล่นเกมในไอแพดแล้ว “เราไม่ได้ยัดเยียด แต่เมื่อไรที่เขาสนใจ เราพร้อมที่จะให้เขาเรียนรู้เทคโนโลยี”
ทุกครั้งที่ลูกสาวเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ เธอจะนั่งดูอยู่ใกล้ๆ แต่ถ้าเป็นไอแพดเธอสามารถปล่อยให้ลูกเล่นเองได้ เพราะแอพพิเคชั่นที่โหลดมาในไอแพดถูกคัดเลือกมาแล้วว่าเด็กเล่นได้ “เราค่อยๆ ให้เขาเรียนรู้การใช้พร้อมกับสนองเขาว่าอะไรดีอะไรไม่ดี ยิ่งเวลาที่มีข่าวเกี่ยวกับการใช้คอมพิวเตอร์เข้าไปทำอะไรที่ไม่ดีจะเอามา เล่าให้เขาฟังเป็นข้อมูล ให้ซึมซับไปเรื่อยๆ” เมื่อเด็กโตขึ้น เธอเชื่อว่า สิ่งที่ปลูกฝังเหล่านี้จะกลายเป็น “เกราะ” ป้องกันให้เขาได้มีสติในการพิจารณาว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำ เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นโอกาสที่หลุดเข้าไปเห็นสิ่งต่างๆ ในโลกออนไลน์ง่ายขึ้น
จากประสบการณ์การค้นหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต เธอเคยพบว่า บางครั้งไม่ได้ตั้งใจเข้าไปในเว็บโป๊ แต่บางทีอาจหลงเข้าไป ด้วยอุปนิสัยของคนย่อมมีความอยากรู้มักคลิกเข้าไปดู ถ้าไม่มีสติ ความยับยั้งชั่งใจอาจจะเกิดการลอกเลียนแบบขึ้นได้ “เขาอาจจะไปรู้ไปเห็นสิ่งที่ไม่ดีได้ในโลกออนไลน์ แต่ก็อย่าไปทำเองก็แล้วกัน”
อย่างไรก็ตาม เธอยอมรับว่า จะมีบางช่วงที่เด็กๆ ติดเกมมากทันทีที่มีเวลาว่างเพียงเล็กน้อยไม่ว่าจะเป็นในรถยนต์ หรือร้านอาหารจะนำออกมาเล่นจนเธอต้องใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ด้วยการยึดอุปกรณ์ทันทีไม่ให้เล่น แล้วพยายามเบี่ยงเบนความสนใจมาเล่นเกมที่สร้างความ สัมพันธ์กับคนรอบข้างได้เหมือนเด็กสมัยก่อนด้วยการเล่นเกมปลาเล็ก ปลาใหญ่แทน ซึ่งด้วยวัยของเด็กอะไรที่เป็นความสนุกสนานในชีวิตเขาก็พร้อมที่จะเล่น แต่ในกรณีฉุกเฉินที่เธอทำงานไม่มีเวลาดูลูกในช่วงสั้นๆ เธอจะใช้เกมในไอแพดนี่แหละมาสยบนางฟ้าตัวน้อยได้อยู่หมัด “มันดูดความสนใจของเด็กลงไปที่หน้าจอได้อย่างมหัศจรรย์ แต่เราก็ต้องไม่ให้เด็กเล่นอยู่นานจนเกินพอดี”
กีฬาเป็นยาวิเศษ
รศ.นพ.ศิริไชย หงษ์สงวนศรี จิตวิทยาเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เล่าว่า พ่อแม่ที่พาเด็กมาหาหมอส่วนใหญ่มักมีปัญหาจากการเล่นเกมทำให้เด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว ทั้งกับเพื่อนและคนในครอบครัว ความรับผิดชอบในด้านการเรียนลดลง ผลการเรียนแย่ลง บางรายใช้เทคโนโลยีไม่เหมาะสม เช่น คุยกันเรื่องเพศกับคนที่ไม่รู้จักกันมาก่อน จึงสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เด็กมีความสัมพันธ์ทางเพศเร็วขึ้น
วิธีการแก้ปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรม จิตแพทย์เด็กแนะนำว่า อันดับแรกต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในครอบครัวก่อน โดยให้พ่อแม่ได้พูดคุยกับเด็กให้รู้เรื่องก่อน เมื่อเข้าใจกันดีขึ้นพ่อแม่ถึงคุยกับลูกว่า การเล่นมันมีทั้งดีและไม่ดี มันมีอะไรดี มีอะไรไม่ดีบ้าง แล้วก็พูดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าที่ผ่านมาเคยเรียนดีแล้ว ตอนนี้ผลการเรียนแย่ลง ควรทำอย่างไรดี “ต้องคุยกันก่อนว่าเราจะแก้ปัญหาด้วยกันอย่างไร อันนี้เป็นหลักในการแก้ปัญหาทั่วไป ถ้าเด็กมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นพ่อแม่ควรมีรางวัลและคำชมเชย”
ปัจจุบันพ่อแม่จะเลี้ยงลูกเหมือนสมัยก่อนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรไม่ได้แล้ว พ่อแม่จะต้องมีความรู้ในการพัฒนาจิตใจเด็กให้มีความนับถือตัวเอง จะต้องฝึกให้เด็กมีพฤติกรรมการที่คุ้นเคยกับการเล่นกีฬาตั้งแต่เล็ก แทนที่จะปล่อยเด็กให้ดูทีวีตั้งแต่วัยเยาว์จนคุ้นเคยกับการนั่งอยู่หน้าจอ
พ่อแม่ควรหากิจกรรมที่สร้างสรรค์ให้เด็กทำ และเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง ที่สำคัญเมื่อเกิดปัญหากับเด็กพ่อแม่มักจะกังวลและทำให้เกิดสุญญากาศในบ้าน ส่วนใหญ่มักจะใช้คำสั่งกับลูก ซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว โดยไม่ได้ฟังว่า เด็กคิดอย่างไร ทำไมเขาถึงเล่นเกม มาจากสาเหตุอะไร หากเปิดโอกาสให้เขาได้พูดคุย พ่อแม่จะสามารถแก้ต้นเหตุของปัญหาเด็กติดเกมได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ