วอนรัฐ-เอกชนเปิดพื้นที่เชิงบวกให้เด็ก

พบแหล่งเสี่ยงสถานเริงรมย์เพิ่ม 2-3 เท่า

วอนรัฐ-เอกชนเปิดพื้นที่เชิงบวกให้เด็ก

 

สสย. เสนอ 3 ข้อจุดกระแสสร้างสรรค์สังคม วอนหน่วยงานรัฐ-เอกชน เปิดพื้นที่เชิงบวกให้เด็ก หลังพบพื้นที่เสี่ยง-แหล่งเริงรมย์ มากกว่า 2-3เท่า นักวิชาการชู โบโกต้า เมืองต้นแบบพื้นที่สร้างสรรค์โลก ปิดถนนคนเดินเปลี่ยนจิตสำนึกพลเมืองได้ สสส. ร่วมสนับสนุนจัดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก หวังมีส่วนร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ที่สุด

 

            เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่ลานอัฒจันทร์กลางแจ้ง มิวเซียมสยาม แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน(สสย.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดกิจกรรมโครงการรณรงค์พื้นที่สร้างสรรค์เพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน พื้นที่นี้..ดีจัง โดย น.ส.เข็มพร วิรุณราพันธ์ ผู้จัดการแผนงาน สสย. เปิดเผยว่า กิจกรรม พื้นที่นี้..ดีจังเป็นการเปิดประเด็นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญ และร่วมผลักดันให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน เพราะขณะนี้มีการนำเสนอปัญหาสังคมโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนจำนวนมาก โดยเฉพาะจากข้อมูลของหลายหน่วยงานชี้ให้เห็นชัดว่า ในหลายจังหวัดมีพื้นที่เสี่ยง แหล่งเริงรมย์ต่างๆ มากกว่าพื้นที่ดีและสร้างสรรค์ 2-3 เท่า

 

            ปัจจุบันเรามัวแต่ไล่ล่าตามแก้ปัญหาสภาพแวดล้อมที่เสี่ยง และเป็นภัยต่อเด็ก เยาวชนแต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เท่าที่ควร ดังนั้นนอกจากการขจัดและควบคุมสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษต่อเด็กแล้ว สิ่งสำคัญคือการสร้างพื้นที่เชิงบวกให้เกิดขึ้น เพื่อดึงเด็กให้ออกจากพื้นที่เสี่ยง สสย. ขอเสนอให้มีการดำเนินการ 3 ข้อ คือ 1.ขอให้ทุกภาคส่วนของสังคมเห็นความสำคัญในการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ โดยเฉพาะหน่วยงานของรัฐ และเอกชน อาทิ อบต. อบจ. ชุมชนในท้องถิ่น บริษัทเอกชน กำหนดนโยบายให้มีการจัดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก 2.เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมนำเสนอสิ่งที่ต้องการ รวมทั้งสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนาเด็กอย่างรอบด้าน และ 3. จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมดีๆ เชื่อว่าแนวทางดังกล่าวนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้เกิดขึ้นในสังคมไทย น.ส.เข็มพร กล่าว

 

            รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม สสส. กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว ถือเป็นสิ่งสำคัญ มีผลการศึกษาในระดับสากลที่เชื่อถือได้ พบว่า การจัดพื้นที่ดี ส่งเสริมคุณภาพชีวิตคน สามารถเปลี่ยนสังคมได้ ยกตัวอย่าง เช่น เมืองโบโกต้า ประเทศโคลัมเบีย เป็นเมืองต้นแบบของการจัดพื้นที่สร้างสรรค์ จากเดิมที่มีปัญหาด้านสังคม ด้านคุณภาพชีวิตคนสูงมาก รัฐบาลโคลัมเบีย จึงแก้ปัญหาด้วยการปิดถนนสายสำคัญ 1 เส้น เพื่อให้ประชาชนมาจัดกิจกรรมต่างๆ และพัฒนาเป็นถนนคนเดิน เพียงแค่ 1 เดือน สามารถเปลี่ยนจิตสำนึกของประชาชน ทำให้คนผูกพัน มีความรักเมืองมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า หากผู้บริหารมีความตั้งใจจริง ในการกำหนดนโยบาย มีวิสัยทัศน์แบบองค์รวม จะช่วยแก้ปัญหาเมืองได้ ทั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของ สสส. ใน 2-3 ปีข้างหน้า จะเป็นหนึ่งในเครือข่ายสังคม มีร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ ด้วยการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้ได้มากที่สุด

 

 

 

 ที่มา:สำนักข่าว สสส.

Update:30-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ

Shares:
QR Code :
QR Code