วงเสวนาถกปัญหาคุมเหล้า แฉบิ๊กน้ำเมาละเมิดกฎเหล็กกว่า 1,017 กรณี
เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2554 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ในงานเสวนา “3 ปี พ.ร.บ.คุมเหล้ากับข้อเสนอภาษีตามดีกรี…ก้าวหน้าหรือล้าหลัง” จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายละคร ddd และเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพ ทั้งนี้ภายในงานนักศึกษาและผู้เข้าร่วมงานได้ร่วมกันเขียนไปรษณียบัตรถึง บริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเรียกร้องให้หยุดละเมิดกฎหมายด้วย
นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า จากการรวบรวมข้อมูลของเครือข่าย ที่ได้ร้องเรียนการฝ่าฝืนกฎหมายของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2552 ถึงเดือน มกราคม 2554 พบว่ามีการทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการโฆษณามากถึง 1,017 กรณี โดยรูปแบบความผิดที่พบในสื่อโฆษณาต่างๆ คือการละเมิดกฎกระทรวงตามมาตรา 32 ของ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เช่น ไม่มีข้อความคำเตือน ไม่มีข้อความสร้างสรรค์สังคม เป็นต้น ทั้งนี้รูปแบบของสื่อที่มีการทำผิดมากที่สุดเรียงตามลำดับคือ ป้ายตู้ไฟหรือกล่องไฟสูงสุดถึง 715 กรณี คิดเป็นร้อยละ 70.30 ตามด้วยป้ายแบนเนอร์ ธงราวและธงญี่ปุ่น ส่วนที่เหลือจะเป็นพวก แก้ว โปสเตอร์ ร่มสนาม ทาวเวอร์เบียร์ เป็นต้น ซึ่งจากการสอบถามจะเป็นการได้มาจากเอเย่นต์ขายส่งแบบมีเงื่อนไข โดยเอเย่นต์จะรับต่อมาจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกทอดหนึ่ง
นายธีระ กล่าวว่า บริษัทที่ภาคประชาชนร้องเรียนการกระทำความผิด มากที่สุด 5 ลำดับแรก ประกอบด้วย 1. คือ บ.ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) 386 กรณี คิดเป็นร้อยละ 37.96 ลำดับ 2. บ.ดิอาจิโอ โมเอ็ทเฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด 171 กรณี คิดเป็นร้อยละ 16.81 ลำดับ 3. บ.สิงห์คอร์เปอเรชั่น จำกัด 168 กรณี คิดเป็นร้อยละ 16.51 ลำดับ 4. บ.เพอร์นอต ริคาร์ด (ประเทศไทย) จำกัด 165 กรณี คิดเป็นร้อยละ 16.22 และ ลำดับ 5. บ.ไทยเอเซียแปซิฟิก บริวเวอรรี่ จำกัด 54 กรณี คิดเป็นร้อยละ 5.31 ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจว่าเวลา กว่า 3 ปีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่ทำไมบริษัทต่างๆถึงได้กล้าท้าทายขนาดนี้
“สิ่งที่ภาคประชาชนผลักดัน เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เพื่อป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เช่น มาตรการควบคุมการขายเหล้าปั่น มาตรการจัดโซนนิ่งร้านเหล้ารอบสถานศึกษา ตั้งแต่ปลายปี 2552 จนถึงวันนี้กลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด ยังคงค้างอยู่ที่ คณะกรรมการนโยบายฯ ซึ่งเป็นที่น่าเสียใจว่าปัญหานักดื่มหน้าใหม่ที่เป็นลูกหลานของเรากำลังถูกลอยแพ ประเทศนี้กำลังปล่อยให้มีนักดื่มหน้าใหม่อายุน้อยลงไปเรื่อยๆ และเพิ่มจำนวนขึ้นปีละ 260,000 คน” นายธีระ กล่าว
ด้าน ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม เครือข่ายนักวิชาการเพื่อเฝ้าระวังปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นับจากมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 นั้น พบว่า มีการเคลื่อนไหวและทำการตลาดในลักษณะ “การตลาดน่านน้ำครำ” ซึ่งการทำการตลาดรูปแบบนี้ ไม่ใช่เพราะกฎหมายมีช่องโหว่ แต่ธุรกิจเหล่านี้มีความพยายามหาช่องทางหลุดลอดกฎหมายนั้นไปได้ ซึ่งก็หมายถึง สำนึกความรับผิดชอบของการทำการตลาดและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ
ดร.นิษฐา กล่าวว่า “การตลาดน่านน้ำครำ” ที่น่าสนใจและต้องระวัง ได้แก่ การตลาดแบบเล่นซ่อนแอบ การตลาดแบบเล่นกับลูกนัยน์ตา การตลาดแบบเล่นการเมือง และโดยเฉพาะการตลาดแบบออนไลน์พ่วงขายน้ำเมา ซึ่งเป็นวิธีการใช้ new media เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ในสังคมออนไลน์ เช่น facebook twitter หรือ multiply ซึ่งกำลังเป็นที่นิยม โดยจะเน้นการเผยแพร่ข่าวสารกิจกรรมพิเศษ ให้ข้อมูลตัวสินค้า การเชื่อมโยงกิจกรรรมกับสถานบันเทิง น่าสังเกตคือ ข้อมูลทั้งหมดของกลุ่มธุรกิจเหล้านี้ จะทำการตลาดในโลกออนไลน์ที่เชื่อมโยงกับเรื่องการส่งเสริมการขาย เช่น การชิงรางวัล การแจกฟรี และจัดโปรโมชั่นต่างๆ ทั้งที่ผิดกฎหมายมาตรา 30 โดยตรง
“สุดท้ายขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่จะต้องเร่งแสดงอำนาจหน้าที่โดยเร่งด่วน โดยเฉพาะการควบคุมเครื่องมือหรือวิธีการขายและการโฆษณา ตลอดจนการควบคุมพื้นที่ในการขายและการโฆษณา เพื่อไม่ให้ “การตลาดแบบน่านน้ำครำ” มอมเมาเยาวชนไทยได้จนกระทั่งกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ หรือกลายเป็นวัยรุ่นนักดื่มหนักได้” ดร.นิษฐา กล่าว
ขณะที่ นพ.ทักษพล ธรรมรังสี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.) กล่าวว่า การมี พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นมาตรการป้องกันปัญหาที่ตรงจุด หากพิจารณาความก้าวหน้าของ พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเห็นว่ามีข้อจำกัดและมีปัญหาในการบังคับใช้ ทั้งการห้ามขายให้เยาวชน การขายนอกเวลา และการควบคุมโฆษณาที่หลายฝ่ายยังไม่ได้ใช้กฎหมายตามเจตนารมณ์ แต่หลงไปกับเล่ห์กลของอุตสาหกรรมสุราที่ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ทั้งนี้ในส่วนของกระบวนการ จะพบว่า มีคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหลายจังหวัดมีผลงานเป็นที่น่าพอใจ แต่บางจังหวัดแทบจะไม่ได้ทำงานเลย หรือไปเน้นในประเด็นที่ไม่มีประสิทธิผล ไม่คุ้มค่า เช่น การรณรงค์ให้ความรู้แก่เด็ก แต่กลับไม่ทำอะไรร้านค้าที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็ก ส่วนคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ที่ออกประกาศห้ามขายเหล้าในวันสำคัญทางศาสนา นอกจากนั้นตนยังไม่เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม
ในส่วนประเด็นภาษีสุราที่มีกระแสผลักดันให้ใช้เฉพาะภาษีตามปริมาณแอลกอฮอล์ หรือภาษีตามดีกรีนั้น น.พ.ทักษพล ให้ความเห็นว่า ผู้มีอำนาจคงต้องพิจารณาแยกแยะประเด็นให้ชัดก่อนตัดสินใจ จริงอยู่ปัจจุบันเม็ดเงินที่ผู้ประกอบการเสียอาจจะเข้าข่ายไม่เป็นธรรม แต่ไม่ควรเหมารวมว่าแย่ไปเสียทุกส่วน ปัญหาไม่ได้อยู่ที่หลักการของระบบภาษี ซึ่งปัจจุบันเป็นแบบสองเลือกหนึ่ง คือเลือกเอาเม็ดเงินที่สูงกว่าระหว่างอัตราภาษีตามดีกรีกับตามมูลค่า แต่ปัญหาอยู่ที่องคาพยพต่างๆของโครงสร้างภาษี โดยเฉพาะการใช้อัตราภาษีที่แตกต่างกันระหว่างเครื่องดื่มประเภทต่างๆ และการเลือกใช้ราคาโรงงาน เป็นฐานภาษีของอัตราตามมูลค่า ซึ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและอาจไม่สะท้อนถึงราคาขายปลีกสุราจริง
ทั้งนี้ จากการศึกษาถึงผลกระทบทางสุขภาพของภาษีในระบบต่างๆ ยืนยันว่า ระบบภาษีสองเลือกหนึ่งของไทยสามารถควบคุมการดื่ม และลดการสูญเสียได้มากกว่าระบบภาษีตามปริมาณเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นอัตราภาษีเท่าใด ตัวอย่างเช่น หากเปลี่ยนจากระบบสองเลือกหนึ่งไปใช้ระบบตามปริมาณอย่างเดียวในระดับอัตรา ภาษีที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน การบริโภคจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 287 รายต่อปี และหากเพิ่มอัตราภาษีให้เต็มเพดานในระบบภาษีแบบเดิม จะทำให้ ผู้เสียชีวิตลดลง 2,714 รายและการสูญเสียทางสุขภาพลดลงร้อยละ 5.49 เมื่อเทียบกับปัจจุบัน
“ดังนั้นข้อเสนอเชิงนโยบายต้องรักษาของดีที่มีอยู่ พร้อมกับการกำจัดจุดอ่อน คือเก็บระบบสองเลือกหนึ่งและกำจัดความแตกต่างของอัตราภาษีเครื่องดื่มประเภท ต่างๆ ร่วมกับการหันไปใช้ราคาขายปลีกเครื่องดื่มเป็นฐานภาษีตามมูลค่า และการปราบปรามเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกระบบอย่างจริงจัง” นพ.ทักษพล กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า