วงการหมอสร้าง ‘งานวิจัย’ จากงานประจำ
ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
ภาพประกอบจาก สสส.
วงการหมอ จับมือ สร้างงานวิจัยจากงานประจำ “ปิยะสกล” ชี้ช่วยลดภาระทำงานหนัก เซฟชีวิตคนป่วย เซฟเงิน พร้อมปลุกคนไทย หยุดทำงานเช้าชาม-เย็นชาม ลุกขึ้นวิจัยหาช่อง ทำงานง่าย ประสิทธิภาพดี
เมื่อวันที่ 6 ก.พ. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน การลงนามความร่วมมือในการดำเนินการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย (Routine to Research : R2R) ระดับประเทศ ระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณะบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล นายสุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นพ.กิตตินันท์ อนรรฑมณี ผอ.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) หรือ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนไทยมักมองว่าเรื่องการวิจัยเป็นเรื่องใหญ่ งานวิจัยในประเทศจึงไม่ออก แต่ที่จริงแล้วนวัตกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นอยู่รอบตัว มาจากงานประจำที่ทำอยู่ ใครก็สามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นใคร จะทำอย่างไรให้งานที่ทำอยู่ดีขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ใช่ทำงานเช้าชาม เย็นชามถ้าทำแบบนี้จะไม่เกิดการพัฒนา แล้วตัวเราเองจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ดังนั้นต้องลุกขึ้นมาพัฒนาตัวเอง สร้างนวัตกรรมจากงานที่ทำประจำ ทั้งนี้ ในการขับเคลื่อนงานประจำสู่งานวิจัย หรืออาร์ทูอาร์นั้นต้นกำเนินมาจากรพ.ศิริราช กว่า 15 ปี แล้ว และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาตลอด ทั้ง สสส. กระทรวงเองก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน และในการลงนามความร่วมมือระหว่าง 5 ส. กับ 1 ศ. ศิริราชนั้นนับเป็นนิมิตรหมายใหม่ในการขับเคลื่อนการทำวิจัยจากงานประจำเพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่มาหนุนให้การทำงานประจำมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ยืนยันว่าการเพิ่มการวิจัยเข้าไปนั้นไม่ได้ทำให้ภาระงานของบุคลากรสาธารณสุข โดยเฉพาะรพ.ของรัฐต้องทำงานหนักมากขึ้น จากภาระงานปกติที่หนักมากอยู่แล้ว ในทางกลับกันการทำวิจัยจะช่วยให้เกิดการทำงานสะดวกขึ้น ทำงานหนักน้อยลง เกิดผลดีกับผู้รับบริการ ซึ่งที่ผ่านมารวมแล้วมีผลงานวิจัยจากงานประจำในแวดวงสาธารณสุขกว่า 3,000 เรื่อง ยกตัวอย่างงานวิจัยที่ได้ผลดีและนำสู่การขยายการปฏิบัติไปยังสถานพยาบาลต่างๆ อย่างแพร่หลาย คือ รพ.ปทุมธานี พัฒนาระบบการดูแลผู้คลอดเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการตกเลือดหลังคลอด จากผลงานนี้ทำให้อัตราการเสียชีวิตหลังคลอดของมารดาในจังหวัดปทุมธานีเป็นศูนย์ นอกจากนี้ยังช่วยลดการใช้เทคโนยีจำนวนมาก บุคลากรจำนวนมาก และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดจากภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลง
ด้าน นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า การทำวิจัยจากงานประจำนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นแพทย์ หรือพยาบาล หรือคนเรียนจบสูง ๆ เท่านั้น ทุกคนสามารถทำได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาตัวเอง พัฒนางานที่ทำให้ได้ผลดี เดิดประโยชน์สูงสุด คุ้มค่าที่สุด เป็นการเสริมสร้างทรัพยากรบุคคลให้เป็นคนที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นคนเราต้องรู้จักมองเป็น คิดเป็น ทำเป็น สังเคราะห์เป็น และทำเพื่อสังคม วันนี้ดีใจที่จุดเริ่มต้นจากศิริราชกลายเป็นงานระดับประเทศ