ล้อมรั้วสร้างครอบครัวเข้มแข็ง

เพื่อประเทศไทยน่าอยู่

  

          ครอบครัวเป็นสถาบันที่ไม่ว่าเมื่อไหร่ ก็มีความสำคัญสูงเสมอ แต่สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง ขนาดครอบครัว ความสัมพันธ์ ซึ่งเกิดจากปัจจัยของสิ่งแวดล้อม อาชีพ ทำให้เกิดปัญหามากมาย อาทิ ปัญหาครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น ปัญหาการค้ามนุษย์ ปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ ปัญหาการล่อลวงบังคับ จูงใจเข้าสู่การค้าบริการทางเพศ เป็นต้น

ล้อมรั้วสร้างครอบครัวเข้มแข็ง

 

          จากการประชุมสมัชชาครอบครัวระดับชาติ แผนงานสุขภาวะครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ระดมความคิดเห็นนำไปสู่การกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์การส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้เข้มแข็ง สรุปเป็นมติสมัชชาเสนอต่อนายกรัฐมนตรี

 

          ศ.เกียรติคุณ พญ.ศิริกุล อิศรานุรักษ์    ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว (กสค.)  กล่าวถึงผลการประมวลประเด็นสถานการณ์ครอบครัวที่น่าเป็นห่วง 5 ประเด็น  ที่นำมาสู่ข้อเสนอและนำไปสู่การแก้ปัญหา คือ 1.การส่งเสริมและพัฒนาเด็กในครอบครัวหลังหย่าร้าง 2.การแก้ไขปัญหาพฤติกรรมรุนแรงของนักเรียนโดยครอบครัว 3.สวัสดิการครอบครัวที่มีเด็กพิการ 4.การเสริมศักยภาพผู้ดูแลเด็กและครอบครัวเพื่อความปลอดภัยของเด็กในชุมชน และ 5.การส่งเสริมสื่อเพื่อสร้างครอบครัวเข้มแข็ง

 

          “ครอบครัว 20% พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เหมือนมะเร็งที่รอวันลุกลาม จำเป็นต้องเยียวยาแก้ไข ที่สำคัญไม่ผลักเด็กออกจากระบบ แต่ต้องทำให้เด็กเรียนรู้แยกแยะผิดถูกให้ได้ ซึ่งการปลูกฝังพ่อแม่ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 10 ปี จึงจะได้คนมีคุณภาพ” ศ.เกียรติคุณ พญ.ศิริกุล กล่าว

 

          แนวโน้มพฤติกรรมการใช้ความรุนแรงในเด็กมีรูปแบบที่หลากหลายซับซ้อนมากขึ้น โดยเด็กที่ใช้ความรุนแรงและทำผิดกฎหมาย มีอายุเฉลี่ยน้อยลงอยู่ในช่วงอายุเพียง 12-18 ปีเท่านั้น

 

          งานวิจัย เรื่อง “มาเฟียเด็ก” ของคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งวิเคราะห์พฤติกรรมเด็กใน กทม. พบว่า ความรุนแรง 9 ชนิดพบในเด็กทุกระดับ เฉลี่ยตั้งแต่ ป.4-มัธยมต้น เดือนละ 2-3 ครั้ง  เด็กชายก่อเหตุมากกว่าเด็กหญิง ซึ่งเด็กสามารถซึมซับความรุนแรงได้จากทั้งสภาพแวดล้อม ครอบครัว และสื่อ ซึ่งทั้งครอบครัว และสถานศึกษาต้องร่วมกันแก้ปัญหา

 

          นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ นักวิชาการประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า สื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กมีน้อย และพื้นที่ทำกิจกรรมยังไม่เหมาะสม รวมทั้งการพัฒนาสื่อยังไม่เพียงพอ จำเป็นต้องสนับสนุนงบประมาณในการสร้างสื่อที่ส่งเสริมความเข้มแข็งครอบครัว เช่น ร้อยละ 10 ของสื่อที่ออกอากาศ โดยต้องเร่งออก พ.ร.บ.กองทุนเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และการจัดตั้งองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อภาคประชาชน

 

          20 ก.ย.ที่ผ่านมานี้ เป็นวันเยาวชนแห่งชาติ เป็นช่วงเวลาที่ทุกฝ่ายจะให้ความสนใจกับปัญหาเด็กและเยาวชน ข้อเสนอและประเด็นที่เกี่ยวข้องที่จะสามารถเดินหน้าไปสู่หนทางแก้ไขปัญหา จะมีเสียงดังขึ้น ซึ่งหวังว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้ยินได้ฟัง จะช่วยกันสานต่อแก้ปัญหาให้ลุล่วงได้จริง

 

          อนาคตของชาติจะเป็นอย่างไร ได้เวลาลงมือช่วยกัน!!

 

          เพื่อประเทศไทยน่าอยู่ ที่สุดในโลก…

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง

 

 

 

 

update : 23-09-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

 

Shares:
QR Code :
QR Code