‘ล่องแก่งเก็บขยะ’คืนชีวิต‘ลำน้ำเข็ก’
สำนึกชุมชนที่รอไม่ได้!!
“แต่ก่อนเวลามีนักท่องเที่ยวมาล่องแก่งแล้วบางคนก็ไม่รู้สึกอะไร แต่สำหรับบางคนพอเห็นขยะลอยติดอยู่เต็มไปหมดก็รู้สึกขยะแขยง รู้สึกว่าน้ำไม่สะอาด” อนันตชัย ผ่องใส นายท้ายเจ้าของประสบการณ์ 4 ปีบนสายน้ำเข็กของรองฤทธิ์ทัวร์ เล่าถึงสิ่งที่พบเห็นนับตั้งแต่ตัดสินใจเลิกไปขายแรงงานเมืองนอก กลับมาทำสวนยางและน้อยหน่าที่บ้านเกิด โดยมีอาชีพบังคับเรือยางล่องฝานแก่งเป็นอาชีพเสริมในช่วงเวลา 4 เดือนของฤดูกาลล่องแก่งในแต่ละปี
แต่ภาพเก่าๆ เหล่านั้นได้เริ่มเปลี่ยนไปหลังจากประธานชมรมรักษ์ลำน้ำเข็ก อย่าง ณัฐวัฒน์ วัฒนาประสิทธิ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวในพื้นที่เริ่มห่วงใยในสภาพความเสื่อมโทรมของสายน้ำที่เกิดขึ้น จึงเริ่มต้นจากกำลังที่พอจะมีอยู่ด้วยการเกณฑ์พนักงานในรีสอร์ทคราวละ 7 – 8 คน ออกเก็บขยะที่อยู่ในลำน้ำเข็ก ก่อนจะเริ่มขยายวงกว้างไปสู่โรงเรียนป่าไม้อุทิศและชุมชน
จนในที่สุดได้ก่อตั้งขึ้นเป็นชมรมรักษ์น้ำเข็ก เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีเป้าหมายหลักในการอนุรักษ์ พัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพน้ำทั้งในน้ำตกแก่งซอง สกุโณทยาน ปอย และชุมชนโดยรอบ รวมทั้งลำน้ำเข็กซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำน่านให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะลำพังเพียงการเก็บขยะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
“เวลาที่ผมเห็นลุงคนหนึ่งทิ้งอะไรสักอย่างลงในแม่น้ำ ก็จะบอกเขาว่าถ้าหากเขาปล่อยสารเคมีลงในแม่น้ำ วันนี้มันอาจลอยผ่านลุงไป แต่น้ำที่ไหลไปพร้อมกับสารเคมีนี้ก็จะไปถึงลูกลุง ที่ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ ด้วย เพราะน้ำในน้ำเข็กจะไหลไปลงแม่น้ำน่านแล้วก็ไหลไปรวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาในที่สุด” ประธานชมรมรักษ์น้ำเข็กบอกเล่า
ไม่ใช่เพียงเพราะที่นี่เป็นที่ตั้งของรีสอร์ทซึ่งเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งหากแหล่งท่องเที่ยวเสื่อมโทรมเขาก็คือหนึ่งในผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเท่านั้น ที่ทำให้คนต่างถิ่นผู้นี้ลุกขึ้นมาปลุกจิตสำนึกของชุมชนท้องถิ่น แต่เป็นเพราะนี่คือแผ่นดินที่ทำให้คนคนหนึ่งที่แพทย์ลงความเห็นว่าจะต้องเป็นอัมพาตตลอดชีวิต กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้งโดยได้พึ่งพาอาศัยที่ดินริมล้ำน้ำเข็กแห่งนี้เป็นที่ทำมาหากินมากว่า 17 ปีด้วย
เพราะความพยายามตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เมื่อชมรมรักษ์น้ำเข็กยื่นขอเงินสนับสนุนจากโครงการอนุรักษ์ฟื้นคืนสภาพแม่น้ำลำคลอง ภายใต้การสนับสนุนของแผนสนับสนุนโครงการเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยงบประมาณที่น้อยกว่าโครงการอื่นๆ โครงการอนุรักษ์น้ำเข็กจึงได้รับการอนุมัติไม่ยากเย็น ก่อนจะเป็นที่มาของ “กิจกรรมล่องแก่งเก็บขยะ” ซึ่งจัดขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นปีที่ 2
และความพยายามที่ว่านั้นยังทำให้วันนี้ใครที่มาสนุกสนานกับการล่องแก่งไปบนสายน้ำเชี่ยวกรากของลำน้ำเข็ก แทบจะไม่มีขยะให้พบเห็นตามต้นไม้สองข้างทาง จะมีหลงเหลืออยู่บ้างก็ในช่วงวังน้ำที่น้ำหยุดนิ่งเท่านั้น และก่อนหน้าที่จะถึงวันจัดกิจกรรมผู้ประกอบการล่องแก่งแต่ละราย ได้ร่วมกันเก็บขยะในลำน้ำเข็กมาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง หลังจากน้ำมีปริมาณมากพอจะล่องเรือได้ นั่นจึงทำให้เรือแต่ละลำได้เข้าร่วมกิจกรรมล่องแก่งเก็บขยะที่เกิดขึ้นในปีนี้เก็บขยะได้ปริมาณไม่มากนัก
“เท่าที่ผมเห็นวันนี้ขยะในลำน้ำเข็กลดลงกว่าร้อยละ 60 – 70 แต่คนเรือบอกว่าลดลงกว่าร้อยละ 80 แล้ว ซึ่งนี่น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่บ่งบอกให้รู้ว่าคุณภาพน้ำในลำน้ำเข็กจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ” ประธานชมรมรักษ์น้ำเข็กกล่าวด้วยความยินดี
แต่จะมีแค่ชมรมรักษ์น้ำเข็กและผู้ประกอบการในท้องถิ่นร่วมกันอย่างเดียวคงไม่พอ นักท่องเที่ยวซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ก่อมลพิษให้กับสถานที่ท่องเที่ยวเองก็ควรจะมีจิตสำนึกที่ดีด้วย เพราะขยะที่เกิดจากนักท่องเที่ยวก็เป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะพวกที่มักมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาเพิ่มสีสันในการเดินทาง เพราะหลายครั้งที่อาสาสมัครเก็บขยะในแม่น้ำต้องถูกแก้วบาด
เช่นเดียวกับชุมชนที่อาศัยทำมาหากินอยู่ริมแม่น้ำที่มักง่าย ทิ้งสิ่งปฏิกูลลงแม่น้ำโดยไม่มีการบำบัด จนทำให้น้ำในลำน้ำเข็กมีประโยชน์เพียงแค่การคมนาคมในฤดูแล้ง แต่นั่นยังไม่ใช่ทั้งหมดของปัญหา
“เมื่อสัก 25 ปีก่อนถ้าฝนตกลงมาเพียงแค่อาทิตย์เดียว น้ำในแม่น้ำก็จะกลับมาใส แต่เดี๋ยวนี้ต้องใช้เวลา 4 – 5 เดือน เพราะมีการตัดไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ จึงเป็นที่มาของการอนุรักษ์ต้นน้ำ เพราะเรารู้ดีว่าปลายน้ำจะเป็นอย่างไรหากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป” นรินทร์ เตชะพันธ์รัตนกุล กำนัน ต.แก่งโสภา ให้เหตุผล
ความร่วมมือในการอนุรักษ์ลำน้ำเข็กที่เกิดขึ้นในวันนี้ ด้วยจิตสำนึกของคนส่วนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเขตที่เรียกได้ว่าเป็นต้นน้ำ อาจยังไม่ใช่การแก้ปัญหาทั้งหมด แต่นี่จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับชุมชนอื่นๆ ที่มัวคิด พูด แต่ยังไม่ยอมลงมือทำ
ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update 29-06-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
– กังหันน้ำ “คีรีวง” พลังชุมชนพึ่งตนเอง
– ไฟฟ้าพลังน้ำให้ชีวิตใหม่ชาวตองเหลือง
– สสส.หนุน “กลุ่มฮักบ่อเกลือ” ดูแลป่ารักษาธรรมชาติ
– มัคคุเทศก์ชุมชน เยาวชนบ้านฮ่องอ้อ
– รวมพลังชุมชนคนริม ‘มูน’ สร้าง “วังปลา”