‘ลูกเสือทักษะชีวิต’ ปฏิรูปการศึกษาได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
ลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต บันไดขั้นแรกของการปฏิรูปการเรียนการสอนลูกเสือ
เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต โดยสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.) ร่วมกับสำนักงานลูกเสือแห่งชาติและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)จัดการฝึกอบรมวิทยากรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต เพื่อเป็นการขยายผลไปสู่โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)จำนวนกว่า 38,000 โรงเรียน ซึ่งมีผู้ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการสรรหา เข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 93 คน ณ ศูนย์พัฒนาบุคลากรทางการลูกเสือ ยุวกาชาดและกิจกรรมเยาวชน "กฐินกุยยกานนท์" อ.เมือง จ.สมุทรปราการ
ดร.ชัยยศ อิ่มสุวรรณ์ เลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติกล่าวตอนหนึ่งในการเปิดการฝึกอบรมวิทยากรลูกเสือ เสริมสร้างทักษะชีวิตว่า "…การฝึกอบรมในวันนี้ มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นบันไดขั้นแรกของการปฏิรูปการเรียนการสอนลูกเสือเนื่องจากหลักสูตรลูกเสือใช้มาตั้งแต่ปี 2515 โดยมีความพยายามมาอย่างยาวนานในการนำเรื่องทักษะชีวิตเข้ามาในกระบวนการลูกเสือ ฉะนั้น ถึงเวลาที่ทุกคนต้องเปิดรับความรู้ แนวความคิดใหม่ ในฐานะที่ตนเป็นเลขาธิการสำนักงานลูกเสือแห่งชาติ จึงเห็นว่าทักษะชีวิตมีความจำเป็นอย่างมาก จึงได้ร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนให้เกิดการอบรมวิทยากรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตเพราะประโยชน์ทั้งหมดนั้นเกิดกับเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นลูกหลานของเรา
"เหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กเสียชีวิตจากการจมน้ำถึง 54 คน สะท้อนให้เห็นว่าเด็กขาดทักษะชีวิตในการช่วยเหลือตนเอง หรือการปฏิบัติที่เหมาะสมได้เมื่อเกิดภัยน้ำท่วมดังนั้น ทักษะชีวิตจึงมีความสำคัญและจำเป็นมาก ทั้งในการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่น ฉะนั้นการใส่เนื้อหาทักษะชีวิตเข้าไปในกระบวนการลูกเสือจึงเป็นการปฏิรูปหลักสูตรลูกเสือครั้งใหญ่ ที่ปรับปรุงและผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารลูกเสือแห่งชาติ ผ่านกระบวนการคิด ไตร่ตรองตรวจสอบมาอย่างดีที่สุดแล้ว จนได้หลักสูตร 11 เล่ม แบ่งตามช่วงชั้น และประเภทของลูกเสือ แล้วประกาศใช้อย่างเป็นทางการ แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทำอย่างไรจะนำสิ่งที่อยู่ในหลักสูตร ที่คิดกันให้ออกมาสู่การปฏิบัติได้จริง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงที่ต้องการให้เกิดมากที่สุดในห้องเรียน โรงเรียนและเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ตัวเด็กทุกคน เราทุกคนจึงต้องร่วมมือกันทำให้การปฏิรูปเกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง"ดร.ชัยยศ กล่าว
ด้า นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานต์ ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวว่า หลักสูตรลูกเสือทักษะชีวิตนี้ใช้เวลาดำเนินการถึง 8 ปี ในการนำทักษะชีวิตมาเชื่อมโยงอยู่ในกระบวนการลูกเสือ ดังนั้น การจะทำให้ลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิตเกิดความเข้มแข็ง มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ การพัฒนาพื้นฐาน โดยพัฒนาสมรรถนะครูผู้กำกับลูกเสือ ให้มีความสามารถเข้าใจหลักสูตรมีทักษะในการสอน และการพัฒนาต่อเนื่องให้เป็น Best Practices โดยมีการประเมินตนเองตามมาตรฐาน มีการเทียบระดับ เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ให้โรงเรียนต่างๆ มาเทียบระดับ ดังนั้น การพัฒนาที่จะก่อให้เกิดความมั่นคงยั่งยืนได้จะต้องมีระบบ สมรรถนะ และองค์ความรู้
"ลูกเสือทักษะชีวิต เป็นกิจกรรมที่มีจุดเน้นทักษะชีวิตเดิมที่แฝงอยู่ให้โดดเด่นขึ้นมา ซึ่งเหมาะสมกับศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นทักษะสำคัญโดยจะได้ทั้งทักษะในศตวรรษที่ 21 ทักษะชีวิต และทักษะลูกเสือ เป็นทรีอินวัน (3 in 1) ฉะนั้น หากจัดการเรียนการสอนที่ดีเชื่อว่าจะเป็นเวิลด์โมเดล (World Model) เพราะยังไม่มีชาติใดในโลกที่มีกิจกรรมตามหลักสูตรใหม่ทั้งระบบที่เราพัฒนาและประกาศใช้แล้ว" นพ.ยงยุทธ กล่าว
ผอ.ชวิศา อินทเรือง จากโรงเรียนบ้านควนจง ต.นาหม่อม อ.นาหม่อม จ.สงขลา โรงเรียนนำร่องหลักสูตรลูกเสือเสริมสร้างทักษะชีวิต โดยเน้นให้เด็กได้ฝึกปฏิบัติจริง เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมภาคใต้ เด็กได้เห็นถึงความเดือดร้อน ก็จะเข้าไปให้ความรู้แก่ชาวบ้านในการช่วยเหลือตนเอง หากมีความเครียดก็ฝึกสมาธิให้ชาวบ้าน ลงไปช่วยเก็บและคัดแยกขยะจำนวนมากที่มากับน้ำ มีการบูรณาการเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ นอกจากนี้ เด็กๆยังได้มาเป็นลูกเสือจิตอาสาช่วยงานคัดแยกขยะที่สนามหลวง (บริเวณพื้นที่ประชาชนรอคอยเพื่อเข้ากราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง) ด้วย
"การเรียนลูกเสือจะต้องควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติ จะทำให้เด็กเห็นสถานการณ์จริง ซึ่งไม่ได้เป็นการสร้างภาระแก่ครูเลย แต่ตรงกันข้ามสิ่งที่ได้กับเด็กโดยตรงในการที่เขามีความรู้ในการช่วยเหลือตนเอง คนรอบข้าง และมีความคิดในการช่วยเหลือสังคมมากขึ้น" ผอ.ชวิศา กล่าวทิ้งท้าย