ลูกอ่านเขียนไม่ได้
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์
การอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ของเด็กไทย นับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ
จากข้อมูลที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุไว้ คือ สถานการณ์การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ปี 2555 ว่า เด็ก ป.1 อ่านไม่ออก 5.71% เขียนไม่ได้ 7.63% ซึ่งหากดูจากตัวเลขนี้หลายคนอาจะคิดว่าไม่มาก แต่หากมองในภาพกว้างการที่เด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ หรืออ่านไม่เข้าใจ จะส่งผลถึงความสามารถและทักษะของเด็กเมื่อโตขึ้นได้ ทั้งความสามารถด้านการเรียนรู้ ความฉลาด/ความรอบรู้ทางสุขภาพ ที่เรียกว่า Health literacy ซึ่งนั่นไม่ได้หมายถึงแต่เฉพาะตัวเด็กเท่านั้น แต่ยังสร้างความกังวลให้แก่พ่อแม่ผู้ปกครอง และยังจะมีผลถึงการพัฒนาประเทศอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม หากทราบปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ และมีการเตรียมความพร้อมสามารถแก้ปัญหาได้แน่ ดร.วิภา ตัณฑุลพงษ์ ศึกษานิเทศก์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) กรุงเทพมหานคร ให้คำแนะนำที่น่าสนใจว่า ก่อนอื่นอยากเชิญชวนผู้เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจ รอยเชื่อมต่อของการเรียนรู้ ของเด็กแต่ละระดับชั้น โดยเฉพาะระดับอนุบาลที่จะขึ้นไปสู่ชั้นประถมศึกษา เพราะช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยของการเปลี่ยนการเรียนรู้ เป็นการเปลี่ยนแปลงจากการเรียนรู้แบบบูรณาการไปสู่การเรียนเป็นราย วิชา ต้องเรียนรู้เรื่องการรับผิดชอบด้วยตนเอง เรียนรู้การมีสมาธิ เรียนรู้เรื่องการจำ เรียนรู้เรื่องการทำงานร่วมกับผู้อื่น
ช่วงสัปดาห์แรกของระดับประถมศึกษา ครูประถมศึกษาถือว่า เป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะต้องให้ความใส่ใจเรื่องการปรับตัวของเด็ก การอยู่ร่วมกัน การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมใหม่ๆ การนั่งโต๊ะเก้าอี้ การทำงานเป็นชั่วโมง การทำให้เด็กเรียนรู้ได้ว่าจะต้องเรียนรู้อะไร อย่างไร เพื่อให้เข้าใจว่า เค้าต้องอ่าน เขียน รู้จักพยัญชนะ เรียนเป็นรายวิชาแล้วนะ ซึ่งแตกต่างจากระดับอนุบาลที่เพิ่งผ่านมา เรียกว่าช่วงรอยเชื่อมต่อมีความสำคัญมาก
"ถ้าสามารถเชื่อมรอยต่อนี้ได้ การเรียนเรื่องอ่านเขียนจะไม่ยาก เพราะเด็กจะมีความพร้อมในการเรียน เรื่องยากก็จะง่ายขึ้น ปกติจะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ในการปูพื้นฐานจุดนี้ เด็กก็จะปรับตัวได้ ทำให้เขาเรียนรู้ได้ว่า ขณะนี้โตขึ้นแล้ว ไม่ใช่เรียนกิจกรรมเหมือนเดิม ซึ่งถ้าผ่านช่วงรอยเชื่อมต่อนี้ไปได้ เด็กจะมีความมั่นใจในตัวเอง มีทักษะการอยู่ร่วมกับเพื่อน มีทักษะการสื่อสารกับครู สามารถบอกเราได้ว่าคิดอย่างไรในสิ่งที่เรียนรู้ได้" ดร.วิภาย้ำ
เมื่อปูพื้นเรื่องการปรับตัวได้แล้ว ในการสอนภาษาไทยให้ได้ผลก็ต้องใช้รูปแบบและวิธีสอนที่หลากหลาย มีการผสมผสานทั้งการแจกลูกสะกดคำ สอนจากง่ายไปหายาก พร้อมทั้งส่งเสริมการเขียน และคัดลายมือ โดยเฉพาะชั้น ป.1 ส่วนชั้นอื่นๆ นอกจากคัดลายมือแล้วต้องส่งเสริมการเขียนเรียงความ ย่อความและสรุปความ ขณะที่ทักษะการอ่านต้องสอนเรื่องการอ่านคำและรู้ความหมายของคำ อ่านจับใจความ อ่านออกเสียงให้ชัดเจน การอ่านเพื่อศึกษาหาความรู้ การฝึกให้เด็กมีนิสัยรักการอ่าน และการอ่านเพื่อให้คุณค่าและ เกิดความซาบซึ้ง แต่ที่สำคัญ ต้องหยุดเข้าใจว่าปัญหาเด็กอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เป็น หน้าที่ของครูภาษาไทยเท่านั้น แต่ทุกคนต้องเป็นต้นแบบการสอนและใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องให้แก่เด็ก