ลุยปรับความเข้าใจ ‘ปลอดทรานส์’ ห่วงกินไขมันเพิ่ม
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
9 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2561 เรื่องกำหนดอาหารที่ห้ามผลิตนำเข้า หรือจำหน่าย โดยให้น้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนและอาหารที่มีน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วนเป็นส่วนประกอบ เป็นอาหารที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อย เพื่อคุ้มครองสุขภาพคนไทยจากไขมันทรานส์ หรือ Trans Fat ตัวการก่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านโภชนาการและแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแสดงข้อห่วงกังวลเรื่องการรับรู้ของประชาชนที่เข้าใจผิดว่า เมื่อมีกฎหมายห้ามใช้ไขมันทรานส์แล้ว สามารถกินได้มากขึ้น เลือกสั่งอาหารที่มีไขมันมากเท่าไหร่ก็ได้ โดยลืมระมัดระวังพฤติกรรมการบริโภค "ไขมันอิ่มตัว" ซึ่งพบมากในอาหารทอด เนื้อสัตว์ติดมัน เบเกอรี่
การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบริโภคไขมันจากการประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์เป็นส่วนประกอบอาหารจึงมีความจำเป็น เหตุนี้ สำนักงานกองทุนสนับ สนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข, สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และเครือข่ายลดการบริโภคไขมัน เปิดวงเสวนา "จับตาไขมันทรานส์หลังกฎหมายบังคับใช้" เมื่อวันก่อน ที่ห้องประชุม 201 อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เพื่อเตือนการกล่าวอ้าง Zero Trans Fat หรือปลอดจากไขมันทรานส์ 0% จะทำให้สังคมสับสน รวมถึงกินไขมันอย่างไรให้พอดี
ภญ.สุภัทรา บุญเสริม ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ก่อนกฎหมายบังคับใช้ อย.ได้เชิญผู้ประกอบการไขมันทุกภาคส่วน ผู้ผลิตน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไอโดรเจนบางส่วน ซึ่งมีบริษัทใหญ่ 3 แห่งในประเทศไทยผลิตน้ำมันดังกล่าวส่งธุรกิจอาหารต่าง ๆ ไปใช้ต่อ พร้อมกับ เชิญเจ้าหน้าที่ด่านนำเข้าอาหารและยาวางแผนสุ่มตรวจตัวอย่างอาหารและผลิตภัณฑ์ ณ ขณะนำเข้าประเทศไทย ผลิตภัณฑ์เป้าหมาย เช่น เนยเทียม เนยขาว เบเกอรี่บางชนิด คุกกี้ พาย ที่เสี่ยงใช้น้ำมันประเภทนี้ แต่ผู้ประกอบการปรับสูตรผลิตภัณฑ์อาหารแล้วหลังกฎหมายบังคับใช้ หากพบการกระทำผิด มีโทษหนัก จำคุกตั้งแต่ 6 เดือน-2 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000-20,000 บาท หากมีผลิตภัณฑ์อาหารที่มีไขมันทรานส์ปนเปื้อนอยู่จำหน่ายในท้องตลาด แม้ผลิตก่อนกฎหมายนี้ สุ่มตรวจพบก็มีโทษเช่นกัน
"ไขมันยังเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย และไขมันทรานส์ติดมากับอาหารที่มีไขมันทุกประเภท แต่ อย.ตระหนัก น้ำมันที่ผ่านการเติมไฮไดรเจน หากบริโภคเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ และสามารถใช้ผลิตภัณฑ์อื่นทดแทนได้ ทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ต้องลด และบริโภคให้เหมาะสม" ผอ.อย.กล่าว และว่า ขณะนี้ อย.อยู่ในขั้นตอนปรับฉลากผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคอ่านข้อมูลบนฉลากอย่างครบถ้วน สามารถใช้วิจารณญาณเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้
ดร.พิเชฐ อิฐกอ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า กฎหมายประกาศห้ามใช้ไขมันทรานส์ครบวงจร ผู้ประกอบการไทยไม่ฝ่าฝืนแน่นอน แต่กังวลกระบวนการผลิตอาหารในประเทศ แต่ใช้วัตถุดิบน้ำมันจากต่างประเทศ ก็ต้องตรวจสอบ นอกจากนี้ต้องให้ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการรายย่อยนับหมื่นรายให้เลิกใช้น้ำมันดังกล่าว กลุ่มนี้รู้กฎหมายน้อยและไม่อยู่ในเครือข่ายสภาอุตสาหกรรม นอกจากมาตรการทางกฎหมาย สังคมต้องสอดส่องดูแล อย่างไรก็ตามขณะนี้มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนหลัง 9 มกราคม 2562 ไขมันทรานส์จะหายไป ซึ่งไม่ใช่ข้อเท็จจริง แม้แต่องค์กรด้านโภชนาการระหว่างประเทศยังถกเถียงจะให้แสดงฉลากไขมันทรานส์เท่าไหร่ จึงจะสื่อว่าไขมันทรานส์เป็นศูนย์
ภาวดี ใจเอื้อ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการใช้ประโยชน์ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) กล่าวว่า หลังกฎหมายบังคับใช้ ทางสำนักจะร่วมสุ่มตรวจไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ดูการตอบรับผู้ประกอบการ นอกจากนี้มีเงินทุนสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทดแทนที่ปราศจากไขมันทรานส์และมีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ เช่น มาการีนจากน้ำมันรำข้าว ปาล์มน้ำมันเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร หนุนการปรับตัว
ขณะที่ ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า เป็นเรื่องน่ากังวลมาก การปักป้าย Zero Trans Fat เพราะทำให้ผู้บริโภคกินไขมันไม่ยั้ง ทั้งนี้แม้จะมีการปรับปรุงสูตรการผลิตไขมันแล้ว สิ่งสำคัญต้องระวังคือ มีปริมาณไขมันอิ่มตัวเพิ่มขึ้นมาเท่าไหร่ และหากบวกกับไขมันทรานส์แล้วอาหารมีไขมันเท่าไหร่ ทั้งนี้ FAO แนะนำปริมาณสูงสุดไขมันอิ่มตัวต่อหน่วยบริโภคต้องไม่เกิน 5 กรัมต่อมื้อ และไขมันทรานส์ไม่เกิน 0.5 กรัมต่อมื้อ ฝากประชาชนในชีวิตประจำวันกินอาหารให้สมดุล ออกกำลังกาย หรือถ้ากินของทอด เค้ก เบเกอรี่แล้ว วันต่อไปกินอาหารที่ให้พลังงานต่ำลง กินผักผลไม้
ในเวทีเดียวกัน ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากการประชุมวิชาการจาก 7 องค์กรเครือข่ายเรื่องไขมันทรานส์ ได้ตกผลึกและมีคำแนะนำให้กับสังคม เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน แม้ไม่มีไขมันทรานส์จากกระบวนการอุตสาหกรรม แต่ปัญหายังไม่หมด มีไขมันประเภทอื่น ๆ เช่น ไขมันอิ่มตัวที่ประชาชนต้องระวัง จึงอยากขอให้ลดไขมันจะส่งผลดีต่อสุขภาพ นอกจากนี้ สสส.จะทำงานร่วมกับ อย.และภาคีเครือข่าย ตรวจไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์ที่ขาย พร้อมกับให้ความรู้ข้อมูลวิชาการอย่างง่าย ทำอินโฟกราฟฟิกส่งความเข้าใจแก่สังคมเพื่อตัดสินใจบริโภคอย่างถูกต้อง รวมถึงทำวิจัยตอบโจทย์สังคม
ส่วนคำแนะนำที่น่าสนใจ พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย เครือข่ายลดบริโภคไขมัน และอาจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า การผลักดันห้ามไขมันทรานส์เป็นเรื่องดีต่อสุขภาพ เพราะก่อโรค อีกทั้งกินไขมันมากได้พลังงานสูงเกินไป เกิดโรคอ้วน นำสู่โรคต่าง ๆ ฉะนั้นควรบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพต่อจาน จำกัดปริมาณ โดยเฉพาะการกินไขมันอิ่มตัวจากไขมันสัตว์ เช่น หนังไก่ เนย นม น้ำมันหมู ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง แม้ไม้ใช้ไขมันทรานส์ แต่ยังมีไขมันสูง แม้ตรวจสุขภาพประจำปี ไขมันไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ 5-10 ปีจะเกิดโรค อย่าประมาทในการใช้ชีวิต ควรกินอาหารไทยโบราณ อาหารวัตถุดิบจากธรรมชาติ พร้อมกับออกกำลังกายทุกวันเพื่อให้ดีต่อสุขภาพ