ลุงแซว ร้านโชห่วยปลอดเหล้าเพื่อชุมชน

ในพื้นที่ ต.ร่องเคาะ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ซึ่งถือเป็นชุมชนต้นแบบงดเหล้า ที่ได้รับการสนับสนุนโดยสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หนึ่งในผลงานที่น่าสนใจคือ “ร้านค้าเข้มแข็ง-ปลอดเหล้า” เจ้าของร้านค้าหรือโชห่วยแห่งนี้ คนในชุมชนเรียกว่า “ลุงแซว” หรือนายคงธน ดวงพร อายุ 56 ปี ที่ตั้งใจจริงที่จะไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพื่อสุขภาวะที่ดีของชุมชน


ลุงแซว ร้านโชห่วยปลอดเหล้าเพื่อชุมชน thaihealth


สาเหตุที่ “ลุงแซว” ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น ไม่ใช่เพราะเป็นคนไม่ดื่มเหล้า แต่เป็นเพราะ “ลุงแซว” เคยติดเหล้า ติดบุหรี่อย่างหนักมาก่อน


“ผมดื่มเหล้า สูบบุหรี่มาตั้งแต่อายุ 15 ปี เพิ่งจะสามารถมาเลิกเอาได้เมื่อตอนปี 2550 เรียกได้ว่าดื่มและสูบมานานกว่า 30 ปี มีความตั้งใจที่จะเลิกมาหลายครั้ง อย่างตอนไปทำงานออกทะเลที่ จ.สงขลา ก็เลิกไปได้อยู่ช่วงหนึ่ง แต่พอกลับมาขึ้นฝั่งก็อดใจไม่ไหว หันมาดื่มมาสูบอีก แม้ผมจะยังไม่มีปัญหาสุขภาพจากการดื่มและสูบตามมา แต่ยอมรับว่าเกิดการใช้ความรุนแรงในครอบครัว ส่วนสาเหตุที่เลิกได้นั้น เมื่อปี 2549 มีโอกาสได้ไปปฏิบัติธรรม ได้รับการกล่อมจิตใจ ทำให้สามารถคิดได้ แยกแยะได้สิ่งใดดีหรือไม่ดี ก็ตัดสินใจหักดิบเลิกดื่มเลิกสูบเลย เพราะเห็นคนอื่นที่เลิกไม่กินไม่สูบก็ยังอยู่ได้ แล้วทำไมเราจึงทำไม่ได้ ก็เลยกลายเป็นความพยายามจนทำให้เลิกดื่มเลิกสูบได้สำเร็จ โดยใช้เวลาประมาณ 1 ปี” ลุงแซว เล่า


หลังจากเลิกดื่มเลิกสูบได้แล้ว ลุงแซวซึ่งเปิดร้านค้ามาตั้งแต่ปี 2539 จึงมีแนวคิดที่จะเลิกขายสุรายาสูบในร้านด้วย โดยให้เหตุผลว่า ในเมื่อตัวเองไม่ดื่มไม่สูบแล้ว ก็อยากให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีด้วย โดยไม่ขายสินค้าที่ทำลายสุขภาพ


ลุงแซว กล่าวว่า ที่ผ่านมารายได้ของร้านก็มาจากเหล้า และบุหรี่ เดิมทีแต่ละวันสามารถขายได้ประมาณวันละ 5-6 พันบาท แต่หลังจากเลิกขายบุหรี่และเหล้าก็ได้รับผลกระทบเรื่องรายได้ไม่น้อย รายได้ลดลงไปกว่าครึ่งเหลือประมาณวันละ 2-3 พันบาทเท่านั้น บางวันก็ขายได้ไม่ถึงพันบาท แต่ก็ยอมเสียเงินตรงนี้ เพราะมองว่าสุขภาพของคนในชุมชนสำคัญกว่า


 “ทุกอย่างอยู่ที่ใจครับ เงินทองเราหาที่ไหนเมื่อไรก็ได้ แต่ผมไม่อยากให้คนในชุมชนต้องมาเมาเหล้า สูบบุหรี่ ทำลายสุขภาพของตัวเอง อย่างผมสามารถเลิกได้แล้ว ก็อยากให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีเหมือนกัน จากเดิมเวลาคนจะมาซื้อ ก็ต้องมาเรียกหา ดึกดื่นแค่ไหนก็ต้องลุกขึ้นมาขายให้ เดี๋ยวนี้ไม่มีมาเรียกเราดึกๆ ดื่นๆ แล้ว เพราะรู้ว่าเราเลิกขาย ซึ่งพอเราไม่ขายก็ทำให้เขาหาซื้อสินค้าเหล่านี้ยากขึ้น แม้ในชุมชนจะมีร้านค้าอีก 3 ร้านที่ซื้อได้ก็ตาม แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คนหาซื้อเหล้าบุหรี่ได้ยากขึ้น” ลุงแซว กล่าว


ลุงแซว บอกอีกว่า คนภายนอกชุมชนที่ไม่รู้ว่าเราเลิกขายเหล้าบุหรี่ ก็มักจะมีเหตุการณ์ขับรถมาจอดเพื่อซื้อเหล้าและบุหรี่ เราก็จะปฏิเสธไปว่า ร้านนี้ไม่มีการขายแล้ว ก็สร้างความแปลกใจแก่ผู้คนเหมือนกัน เขาก็เลยต้องขับรถไปหาซื้อจากที่อื่นแทน


นอกจากการเป็นร้านค้าปลอดเหล้าแล้ว ในพื้นที่ ต.ร่องเคาะ ยังมีมาตรการอื่นๆ ในการดำเนินการชุมชนปลอดเหล้าด้วย ซึ่งเป็นมาตรการที่สร้างจากประชามติของคนในชุมชน เช่น งดเหล้าและอาหาดิบในงานศพ มาตรการปรับเงินเลี้ยงเหล้าในงานศพ มาตรการคว่ำบาตรผู้ที่ยังเสพยาหรือค้ายา ปรับเงินผู้ที่ดื่มเหล้าแล้วทะเลาะวิวาทในชุมชน ปรับค่าดื่มเหล้าในงานบุญ เป็นต้น


ลุงแซว บอกว่า หลังจากดำเนินการทุกอย่างประกอบกันออกมา ตนเลิกขายเหล้ามาประมาณเกือบ 8 ปี ก็พบว่าทำให้ภาพรวมของชุมชนออกมาดีขึ้น ไม่มีภาพการเมาเหล้าแล้วเสียงดัง ทะเลาะวิวาท อาชญากรรมในพื้นที่ก็ลดลง ได้เห็นลูกหลานไม่เมาเหมือนสมัยเมื่อก่อน ขณะที่ปัญหาครอบครัวของตนก็ไม่มีเหมือนสมัยก่อน


สำหรับการดำเนินงานต่อไปของลุงแซวคือ จะเดินหน้าให้ร้านค้าของน้องสาว ซึ่งอยู่ในชุมชนเช่นกัน เปลี่ยนเป็นร้านค้าปลอดเหล้าด้วยอีกหนึ่งแห่ง โดยจะเริ่มจากไม่ขายเหล้า ไม่ขายบุหรี่ในทุกวันพระ นอกจากนี้ ยังเปิดสถานปฏิบัติธรรมบริเวณใกล้ร้านค้าของตนเองด้วย เพื่อเป็นที่ปฏิบัติธรรม หรือมาฟังธรรมของคนในชุมชนด้วย


 


 


ที่มา: ASTVผู้จัดการออนไลน์ โดยสิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์


ภาพประกอบจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์

Shares:
QR Code :
QR Code