‘ลีฟวิ่ง วิล’แสดงเจตนาตาย ตามธรรมชาติ ถูกกฎหมาย

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


'ลีฟวิ่ง วิล'แสดงเจตนาตาย ตามธรรมชาติ ถูกกฎหมาย thaihealth


แฟ้มภาพ


ข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ใน พ.ศ. 2564 ประชากร 1 ใน 5 ของสังคมไทยจะเป็นผู้สูงอายุ ทำให้ผู้สูงอายุในสังคมไทยสูงติดอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียนรองจากอินโดนีเซีย


ท่ามกลางปัญหาใหญ่ของสังคมผู้สูงอายุยังมีปัญหาแทรกระหว่างกลางขึ้นมา นั่นคือจำนวนของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้ป่วยติดเตียงที่เพิ่มจำนวนขึ้น เมื่อบวกรวมกับปัญหาการขาดองค์ความรู้และความเข้าใจในการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแล้ว จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตระยะท้ายของผู้ป่วยและผู้ดูแลใกล้ชิด


แม้ปัจจุบันจะมีกลุ่มคนที่เข้าใจเรื่องการเตรียมคุณภาพชีวิตระยะสุดท้ายมากขึ้น แต่ยังไม่ได้ขยายวงกว้างเท่าที่ควร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และบริษัท ชีวามิตร วิสาหกิจเพื่อสังคม ได้เปิดอบรม "อยู่อย่างมีความหมาย จากไปอย่างมีความสุข" เพื่อสร้างความเข้าใจความต้องการของผู้ป่วยระยะท้ายใน 3 มิติ คือ กฎหมาย การแพทย์ และศาสนา มิติที่ผู้ดูแลต้องตระหนัก รวมถึงการสวมบทบาทหากวันหนึ่งคุณกลายเป็นผู้ป่วยระยะท้ายที่ต้องการเผชิญความตายอย่างสงบ


"เพราะแต่ละฝ่ายรับข้อมูลไม่เหมือนกัน ดังนั้น หน้าที่ของแพทย์คือผู้ต่อรองให้เป้าหมายทุกฝ่ายตรงกัน โรคบางโรคเมื่อสุดทาง การรักษา เราก็ต้องรักษาคน เพื่อให้คนคนนั้นมีคุณภาพที่ดีขึ้นจนกว่าจะเสียชีวิต แต่ถ้าเราเข้าใจเป้าหมายผิดคือต้องการยืดชีวิตของผู้ป่วยได้นาน ๆ แต่เขาอยู่ด้วยความทุกข์ทรมาน" รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวาง แผนและพัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกเล่าข้อเท็จจริงของการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายในปัจจุบัน


รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวว่า ความหมายของการตายดี (Good Death) คือการตายที่ไม่ควรจะมีความทรมานที่ไม่จำเป็น มีการวางแผนที่ดี ดูแลทุกด้าน กาย จิตวิญญาณ สังคมของผู้ป่วย ทั้งญาติ หมอ พยาบาล แต่สิ่งที่มักทำให้เกิดปัญหาก็คือ 3 ฝ่ายคือ แพทย์ ญาติผู้ป่วย และผู้ป่วยมองเป้าหมายไม่ตรงกัน แพทย์ต้องบอกทางเลือก แนวทางการรักษาให้คนไข้ฟัง และให้ญาติและผู้ป่วยตัดสินใจ วาระสุดท้ายของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องมีพระสงฆ์ไปสวดหรือฟังเทปธรรมะก่อนจะสิ้นลมหายใจเสมอไป เพราะความเชื่อและความชอบของคนเราไม่เหมือนกัน ทุกคนมีราก ผู้ป่วยบางคนต้องการนอนฟังเพลง บางคนต้องการอยู่กับญาติเท่านั้น


"นอกจากความทุกข์ทรมานทางกายแล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายกลัวก็คือ กลัวการทรมานก่อนเสียชีวิต กลัวการถูกทอดทิ้ง กลัวเป็นภาระของลูกหลาน กลัวการพลัดพราก กลัวไปในภพภูมิที่ไม่ดี เป็นห่วงลูกหลานและห่วงสมบัติ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมักจะมีปัญหาทางใจ เช่น ภาวะซึมเศร้ารุนแรง วิตกกังวลรุนแรง ซึ่งหากดูแลแบบประคับประคองก็ต้องรวมถึงสภาพจิตใจผู้ป่วยด้วย เพราะคนไข้จำนวนหนึ่งก่อนเสียชีวิตจะมีความทุกข์ทรมานทั้งทางกายและทางใจหากไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ" รศ.นพ. ฉันชาย ให้ภาพและว่า "การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (palliative care) ก็เหมือนเราเปลี่ยนเป้าหมายการรักษาจากการยื้อชีวิตเป็นการรักษาให้เขารู้สึกดี ดูแลอาการและจิตใจไม่ได้โฟกัสที่ตัวเลขชีพจร ความดัน หรือค่าบ่งชี้อาการใด ๆ แล้ว แต่ดูแลเพื่อให้ผู้ป่วยได้ตายในสภาพแวดล้อมที่ดี


'ลีฟวิ่ง วิล'แสดงเจตนาตาย ตามธรรมชาติ ถูกกฎหมาย thaihealth


ดังนั้นการเตรียมพร้อมสำหรับความตายเป็นเรื่องที่หลายคนหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึง ทั้งที่เรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็น คำถามคือ การเตรียมพร้อมก่อนความตายจะมาถึงทำอย่างไร


ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและ จริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า ในทางกฎหมายลีฟวิ่ง วิล (Living will) ถือว่าเป็นคำสั่งล่วงหน้า หรือความต้องการในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งหมายความถึงสภาวะเจ็บป่วย บาดเจ็บ ไม่สามารถรักษาให้หายได้ และจะเสียชีวิตในเวลาไม่ช้า


ในเมืองไทยการทำหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาที่เกินความจำเป็น ได้รับการรับรองทางด้านกฎหมาย โดยได้บัญญัติไว้ในมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ดังนี้มาตรา 12 "บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงเมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้วมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง"


"ต้องเข้าใจก่อนว่า ลีฟวิ่ง วิล เป็นการแสดงเจตนาขอตายตามธรรมชาติ มิใช่เรื่องการเร่งการตาย หรือการุณยฆาต ลีฟวิ่ง วิล เป็นการปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่เป็นเพียงเพื่อยืดการตายโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในทางการแพทย์ผู้ป่วยจะยังคงได้รับการดูแลแบบประคับประคอง ดังนั้น หากหมอปฏิบัติตามคำขอของคนไข้ถือว่าไม่มีความผิด"


ปัญหาที่ทำให้ "ลีฟวิ่ง วิล" ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในเมืองไทย ปัจจัยมาจาก 3 ประการคือ แพทย์ยังมีความกังวลเกี่ยวกับข้อกฎหมาย ขณะที่นักกฎหมายไม่มีความรู้เรื่องการแพทย์ และประชาชนทั่วไปไม่มีพื้นฐานทั้งเรื่องกฎหมายและแนวทางการรักษาของแพทย์


ศ.แสวง กล่าวเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนการทำ ลีฟวิ่ง วิล ไม่ต้องรอ ให้ป่วยหนัก ทุกคนสามารถเขียนหนังสือแสดงเจตนาได้ โดยลีฟวิ่ง วิล จะไม่มีแบบฟอร์มตายตัว สามารถพิมพ์หรือเขียนด้วยลายมือของเจ้าของเอกสาร จะมีพยานหรือไม่ก็ได้ ผู้เขียนสามารถระบุความประสงค์ทั้งเกี่ยวกับทรัพย์สิน รูปแบบการรักษาพยาบาล สถานที่เสียชีวิต การจัดการร่างกายหลังเสียชีวิต รวมทั้งการจัดงานศพให้ชัดเจน จากนั้นให้เซ็นลายมือชื่อกำกับเอกสารทุกครั้ง


"เมื่อเขียนความต้องการครบถ้วนแล้วให้ทำสำเนาส่งเวชระเบียนของโรงพยาบาลที่ผู้ป่วยใช้บริการ จำนวนกี่แห่งก็ได้ โดยเอกสารตัวจริงจะต้องอยู่กับผู้ป่วย เอกสารแสดงเจตนาสามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ โดยกฎหมายจะยึดตามเอกสารที่อัพเดทล่าสุด ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องระบุทุกครั้งคือต้องระบุวันที่ เดือน และปี พ.ศ. ก่อนทุกครั้ง" ศ.แสวง สรุป


สามารถดูตัวอย่างการเขียนลีฟวิ่ง วิล ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมใน เว็บไซต์ www.thailivingwill.in.th

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ