ลานวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ ที่นาอ้อ
ที่มา : เพจสุขภาวะชุมชน สน.3 จากหนังสือ "ชีวิตดี๊ดี…ที่นาอ้อ"
ที่ ต.นาอ้อ อ.เมือง จ.เลย การอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีในพื้นที่ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนในสังคมนั้นจะต้องช่วยกัน และจากความตั้งใจนี่เองทำให้เทศบาลตำบลนาอ้อสร้างลานวัฒนธรรมขึ้นมาเพื่อตอกย้ำและส่งต่อความเป็นนาอ้อ ให้ซึมลึกอยู่ในหัวใจของชาวบ้านสืบนานเท่านาน
ลานวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติ เกิดขึ้นเพื่อจัดงานประเพณีบุญข้าวจี่ ซึ่งเป็นประเพณีประจำปีที่ชาวบ้านร่วมกันจัดขึ้นหลังทำบุญวันมาฆบูชา โดยสาเหตุที่ต้องจัดช่วงนี้ เพราะเป็นเวลาที่ชาวนาทำนาเสร็จสิ้นและกำลังนำข้าวขึ้นยุ้ง จึงร่วมกันทำบุญถวายพระสงฆ์เพื่อเป็นสิริมงคล บ้านนาอ้อยังได้รับการยกย่องจากสภาวัฒนธรรมแห่งชาติให้เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมต้นแบบของจังหวัดเลย
กระทั่งในปี 2551 มีการปรับปรุงสนามฟุตบอลใหม่ และทางนายกเทศมนตรีมีความประสงค์ก่อสร้างซุ้มข้าวจี่ถาวร ด้วยทุกครั้งจะมีการประกวดซุ้มข้าวจี่ ชาวบ้านจะทำซุ้ม พอเสร็จงานต้องรื้อกลายเป็นความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ จึงมีนโยบายสร้างซุ้มถาวรขึ้นที่ข้างวัดซำบง โดยมีการจำลองบ้านไทยโบราณขึ้น โดยให้แต่ละชุมชนออกแบบจนได้บ้านจำลองทั้งหมด 10 หลัง ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของทั้ง 9 หมู่บ้าน 10 ชุมชน
ปัจจุบันงานบุญข้าวจี่ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเพิ่มวันจัดงานเป็น 5 วัน 5 คืน โดยจัดทุกวันที่ 22-26 มกราคมของทุกปี โดยใช้ชื่อว่า 'ประเพณีบุญข้าวจี่ ซิมข้าวแดกงา เว้าจาภาษาเลย' รวมไปถึงพัฒนาพื้นที่รอบข้าง ทั้งการดูแลทำความสะอาดบ้านจำลอง มีการปลูกพืชผักสวนครัวตลอดทั้งปี กระทั่งมาเปลี่ยนชื่อจากลานวัฒนธรรม เป็นลานวัฒนธรรมเฉลิมพระเกียรติตำบลนาอ้อ ในปี 2555 เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 85 พรรษา