ลานกีฬาพัฒน์ 1 สวนสร้างสุขภาวะชุมชน

'กคช.-สสส.' ร่วมสร้างสุขภาวะชุมชน หนุนลานกีฬาพัฒน์ 1เป็นพื้นที่สร้างกิจกรรมทางกาย


ลานกีฬาพัฒน์ 1 สวนสร้างสุขภาวะชุมชน  thaihealth


เมื่อวันที่ 30 พ.ย. นายดารนัย อินสว่าง รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวถึงโครงการความร่วมมือระหว่างการเคหะแห่งชาติกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาวะ (สสส.) เพื่อพัฒนาพื้นที่สุขภาวะภายในชุมชนของการเคหะแห่งชาติ ว่า โครงการเริ่มตั้งแต่ปี 2553 โดยคัดเลือกชุมชนนำร่องเข้าร่วมเบื้องต้น 12 โครงการ จากนั้นได้ขยายเป็น 32 โครงการ ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งเป็นโครงการที่ดีและสอดคล้องกับเป้าหมายของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ที่มุ่งสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ทั้งด้านกาย โดยการออกกำลังกาย ทางจิตใจ มีการทำบุญ นิมนต์พระมาเทศน์ หรือสอนการทำสมาธิ  ด้านสิ่งแวดล้อมให้พื้นที่สีเขียวในชุมชน ผลิตน้ำหมักชีวภาพใช้ในชุมชนและครัวเรือน ปลูกผักปลอดสารพิษบริโภคภายใน รวมทั้งเชื่อมโยงเครือข่ายสาธารณสุขให้บริการชุมชน"


ลานกีฬาพัฒน์ 1 สวนสร้างสุขภาวะชุมชน  thaihealthลานกีฬาพัฒน์ 1 สวนสร้างสุขภาวะชุมชน  thaihealth


นายดารนัยกล่าวว่า  ผลงานที่เห็นเป็นรูปธรรมในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่ามีโอกาสที่ สสส. จะพิจารณาขยายโครงการมากขึ้น จากจำนวนชุมชนในความรับผิดชอบของการเคหะฯ 500 โครงการเฉพาะบ้านเอื้ออาทรมีถึง 317 โครงการ และนอกจากร่วมกับ สสส. แล้ว ยังมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงมหาดไทย ผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมการพัฒนาชุมชน เป็นต้น และที่สำคัญเกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนเพื่อทำให้เป็นพื้นที่สุขภาวะที่ยั่งยืนแท้จริง


ด้าน ดร.เกษม นครเขตต์ ผู้ประสาน สสส. กล่าวว่า  โครงการความร่วมมือดังกล่าวต้องวิจัยประเมินผลเป็นระยะและโดยส่วนตัวเห็นว่า  ชุมชนของการเคหะฯ มีระบบโครงสร้างการบริหารจัดการที่ชัดเจน และกำกับดูแลโดยการเคหะแห่งชาติ การสร้างพื้นที่สุขภาวะในชุมชนจึงมีความจำเป็น โดยเฉพาะชุมชนการเคหะฯ เป็นชุมชนขนาดใหญ่ มีความซับซ้อน และไม่ได้มุ่งหวังด้านสุขภาวะเพียงอย่างเดียว หากยังกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและช่วยให้ชุมชนเข้มแข็งและหากประสบผลสำเร็จจะใช้เป็นแม่แบบให้โครงการอื่น ๆ เข้ามาศึกษาและนำไปขยายผลต่อไป


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  


ภาพประกอบจากแฟนเพจการเคหะ

Shares:
QR Code :
QR Code