ลักษณะอาการแพ้เครื่องสำอาง

ที่มา : มูลนิธิหมอชาวบ้าน


ลักษณะอาการแพ้เครื่องสำอาง thaihealth


แฟ้มภาพ


การแพ้เครื่องสำอางมีลักษณะหลายประเภทต่าง ๆ กันตามกลไกการเกิดโรคดังนี้


1. ผิวหนังอักเสบจากภาวะภูมิไว้เกิน (Allergic Contact Dermatitis) เกิดจากสาร Paraphenylene diamine ในยาย้อมผม น้ำหอม ยาทาเล็บ สารกันบูด ยาระงับกลิ่นตัว ลิปสติก ลักษณะอาการจะมีผื่นแดง ตุ่มน้ำเหลืองเยิ้ม


2. ผิวหนังอักเสบจากภาวะภูมิไวเกิน ที่มีแสงแดดเป็นตัวกระตุ้น (Paoto Allergic Dermatitis) จะพบผื่นแดง อาจมีตุ่มน้ำและปวดแสบปวดร้อนร่วมด้วย บริเวณที่พบการอักเสบคือส่วนของผิวหนังที่อยู่นอกร่มผ้า เช่น หน้าผาก โหนกแก้ม หู คอ พบบ่อยว่าเกิดจากสบู่ยา เครื่องสำอางที่ผสมน้ำหอม


3. ลมพิษตรงที่สัมผัสถูกสารเคมี (Contact Mrticaria เช่น ใช้น้ำหอมทาที่ซอกคอก็เกิดผื่นลมพิษที่ซอกคอ ผื่นลมพิษนี้จะหายไปเองใน 24 ชม. ถ้าไม่ได้รับสารที่ทำให้เกิดลมพิษอีก มีการพบบ่อยในเครื่องสำอางที่ผสม Cinnamon Aldehyde, Cinnamon Acid, Benzoic Acid, Benzaldehyde)


  • กรณีที่เกิดการแพ้ขึ้นแล้วควรปฏิบัติอย่างไร?


ขั้นแรกให้รีบหยุดใช้เครื่องสำอางที่สงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของการแพ้ รอดูอาการสัก 3-4 วัน ถ้าไม่ดีขึ้นหรือไม่หายให้ไปปรึกษาแพทย์ ระหว่างที่รออาจลองรักษาเองโดยใช้สำลี หรือผ้าขาวสะอาด ชุบน้ำต้มสุก ชะน้ำเหลืองออกวันละ 3-4 ครั้ง (ถ้ามีน้ำเหลืองเยิ้ม) ถ้าการอักเสบเป็นเพียงผื่นแดงไม่เยิ้ม ใช้น้ำสุกประคบก็ได้วันละ 3-4 ครั้ง ๆ ละ 15-30 นาที หากมีอาการคันให้กินยาแก้แพ้ (คลอร์เฟนิรามีน) ขนาด 4 มก. ครั้งละ 1-2 เม็ด (สำหรับผู้ใหญ่) วันละ 3-4 ครั้ง


กรณีที่ไปพบแพทย์ ควรนำเครื่องสำอางพร้อมฉลากแนะนำผลิตภัณฑ์ติดตัวไปให้แพทย์ดูด้วย อาจช่วยให้การหาสาเหตุของการแพ้ง่ายขึ้น


  • มีวิธีการป้องกันการแพ้เครื่องสำอางหรือไม่?


วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงการการใช้เครื่องสำอางที่มีสารเคมีที่เราเคยแพ้ แต่ในทางปฏิบัติเป็นการยากมาก เพราะมีหลายสาเหตุ และเครื่องสำอางประกอบด้วยสารเคมีหลายชนิดรวมกัน คนที่แพ้ อาจจะแพ้สารเคมีชนิดเดียว หรือหลายๆชนิด ที่เป็นส่วนผสมก็ได้


ดังนั้นก็คงต้องลองดูก่อนที่จะนำมาใช้จริง โดยลองทาเป็นบริเวณเล็กๆ ที่ท้องแขน แล้วปล่อยไว้ 24-48 ชม. โดยไม่ให้ถูกน้ำ หากปรากฏว่าเกิดผื่นแดงชัดเจน หรือมีตุ่มน้ำร่วมด้วย แสดงว่าแพ้ ก็ไม่ควรนำมาใช้


อย่างไรก็ตาม วิธีทดสอบนี้เชื่อถือไม่ได้ 100% กล่าวคือแม้ผลการทดสอบจะปรากฏว่าไม่แพ้ แต่พอนำมาใช้เข้าจริงๆ อาจแพ้ได้ เพราะมีหลายสาเหตุดังกล่าว แต่ถ้าทดสอบแล้วปรากฏว่าแพ้ แสดงว่าแพ้จริง ไม่ควรใช้อีกต่อไป

วิธีทดสอบที่เชื่อถือได้ดี ต้องอาศัยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า PATCH TEST ซึ่งมีใช้กันในคลินิกโรคผิวหนังหรือคลินิกโรคภูมิแพ้เป็นส่วนใหญ่

Shares:
QR Code :
QR Code