ละคร…สะท้อนปัญญา

โลกในละคร สะท้อน โลกแห่งความจริง

 ละคร…สะท้อนปัญญา

          “เฮ้ย ไอ้วิทย์ แม่แกเป็นอะไรวะ ทำไมแกต้องด่าแม่แกรุนแรงขนาดนั้นด้วยวะ แกยังดีนะที่มีแม่ให้ว่า แต่ฉันนี่สิ แม้แต่หน้าแม่ให้ลุ้นก็ไม่เคยเห็น” เสียงของตัวละครหลักของนักแสดงอาสาสมัครจากกลุ่มละคร “มะขามป้อม” ถ่ายทอดบทบาทของ “เด็กติดเกม” ที่พูดจาและสนทนากับชีวิตตัวเองและหน้าจอเกมมากกว่าชีวิตคนรอบข้างเสมือนหนึ่งเป็นเรื่องปกติในชีวิต

 

          “เกมชีวิต GTA” เป็นละครสั้นที่สะท้อนถึงปัญหาของเด็กติดเกมที่เกิดขึ้นให้เห็นอย่างดาษดื่นในปัจจุบันนี้ โดยละครสั้นเรื่องนี้ได้หยิบยกข่าวเด็กที่ติดการเล่นเกม “ขโมยรถ” หรือ เกม GTA” จนแยกแยะไม่ออกระหว่างชีวิตจริงกับเกมจนก่อเหตุสะเทือนขวัญปล้นฆ่าแท็กซี่ชิงเงินเพื่อเป็นการเลียนแบบพฤติกรรมภายในเกม

 

          และถึงแม้ละครชีวิตในละครสั้นเรื่องนี้จบลงพร้อมเสียงปรบมืออย่างล้นหลาม แต่ละครชีวิตจริงของเด็กหรือเยาวชนที่ก่อเหตุในลักษณะเช่นนี้กลับไม่ได้จบตามละคร เพราะได้เกิดคำถามตามมาอย่างมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับการรับสื่อของเยาวชนในสังคมไทยถึงทำให้เด็กและเยาวชนของชาติจำนวนมากบ่มเพาะความรุนแรงให้เกิดขึ้นภายในจิตใจอย่างเย็นชาเช่นนี้

 

          ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสื่อชาวบ้าน “มะขามป้อม” จึงได้ประสานความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการณ์การเสพสื่อของเยาวชนไทยที่กำลังเกิดขึ้นด้วยการจัดทำโครงการ “ละคร สะท้อนปัญญา” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้ร่วมกันสร้างสื่อละครในมุมมองใหม่ที่สะท้อนปัญญามากกว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทย

 

          น.พ.บัญชา พงษ์พานิช กรรมการบริหารแผนงาน สำนักเปิดรับทั่วไปและนวัตกรรมสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าวในการเสวนาในหัวข้อ “ละคร: พลังทางปัญญากับสถานการณ์เยาวชน” ในงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการละคร สะท้อนปัญญาไว้อย่างน่าสนใจว่า

 

          “การรับสื่อของเยาวชนไทยในขณะนี้ถือว่ามีปัญหาอยู่มาก โดยเฉพาะการรับสื่อในรูปแบบละคร ผมมีความเชื่อว่าละครเป็นสื่อที่สามารถสร้างปัญญาให้กับคนได้ ผมจำได้เมื่อครั้งที่ผมยังเด็กผมก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่ชอบดูละคร ในตอนนั้นชื่อของคณะแก้ฟ้าดังมาก เหมือนคำกล่าวของท่านพุทธทาสภิกขุที่บอกไว้ว่า มนุษย์ถ้าไม่มีสิ่งปะเล้าปะโลม ชีวิตก็จะเหือดแห้งไม่มีความหมาย ดังนั้นละครจึงถือว่าเป็นเครื่องปะเล้าปะโลมชีวิตของมนุษย์ที่ถือได้ว่าขาดไม่ได้แล้ว ละครยังสะท้อนคุณค่าและความดีงามที่เกิดขึ้นสังคมไทยด้วย

 

          กลุ่มเยาวชนจึงถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความหมายที่จะนำสิ่งที่สะท้อนออกมาจากละครไปปฏิบัติกับชีวิตและสังคมไทยให้เกิดผล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้คือสื่อบ้านเรามีละครแค่ไม่กี่แนวที่ได้ยึดครองพื้นที่สื่อและสามารถสะท้อนปัญหาของสังคมออกมาได้อย่างแท้จริง สสส.ได้เล็งเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นและอยากที่จะสนับสนุนให้สื่อละครกลุ่มเล็กๆ ที่คอยบอกเล่าและสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้มีโอกาสบอกเล่าความดีงานในพื้นที่สื่อต่างๆ ในบ้านเราบ้าง สสส.จึงได้สนับสนุนให้มีการจัดโครงการสะท้อนปัญญาเพื่อใช้เป็นกระจกสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทย”

 

          ความรู้สึกของน.พ.บัญชาคงไม่แตกต่างไปจากความรู้สึกของพี่ตั้ว หรือ ประดิษฐ์ ประสาททอง ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของโครงการละครสะท้อนปัญญาที่บอกเล่าความรู้สึกผ่านเวทีเสวนาว่า “ละครเวทีที่กลุ่มละครมะขามป้อมได้แสดงนั้น เป็นสื่อละครที่ถือได้ว่าเข้าถึงชาวบ้านที่สุดเพราะชาวบ้านไม่ต้องอาศัยเทคโนโลยีในการรับชม เพียงแค่ชาวบ้านหอบเสื่อผืนหมอนใบก็สามารถนั่งรับชมละครของเราได้ การสื่อสารในรูปแบบละครทีวีของพวกเราจึงถือได้ว่ามีความเป็นมนุษย์สูงมาก และที่สำคัญละครที่พวกเราได้นำลงไปเล่นให้ชาวบ้านหรือชุมชนได้ดูนั้นเป็นการสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขาจริงๆ การที่เรากลุ่มละครมะขามป้อมได้รวมกันจัดทำโครงการ “ละครสะท้อนปัญญา” ขึ้นกับ สสส.นั้นก็เพื่อเป็นการพัฒนาหัวใจและความคิด ความอ่านหรือสุขภาวะทางปัญญาของเยาวชนผ่านกระบวนการละคร ซึ่งเยาวชนที่สนใจในการทำละครเพื่อสะท้อนปัญญาสามารถรวมกลุ่มกัน 5 คนและสมัครเข้าร่วมโครงการกับเราได้

 

          เรามีความเชื่ออย่างสุดซึ่งว่ากระบวนการละครสามารถเปลี่ยนโลกภายในคนและสังคมแล้ว ละครยังสามารถบ่มเพาะความคิดเชิงบวกให้แก่เยาวชนได้อีกด้วย และเหนือสิ่งสำคัญอื่นใดละครยังทำหน้าที่สะท้อนให้เห็นโลกแห่งความเป็นจริง ด้วยการตั้งคำถามกับผู้ชมชี้ชวนให้เขาได้นิ่งคิด ทบทวนความนึกคิดภายในและเขาที่ได้ชมละครก็ยังจะเริ่มกลับมาย้อนพิจารณาตัวเองมากขึ้นด้วย”

 

          คำกล่าวทิ่งท้ายของ “พี่ตั้ว” คล้ายจะสอดคล้องต้องกันกับสุภาษิตไทยที่ว่า “ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตัวเอง” และเหมือนกับความคิดที่นักแสดงมืออาชีพอย่าง “เจมส์” เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ ได้ฝากไว้เป็นแง่คิดภายในงานเสวนาว่า “ในฐานะที่ผมเป็นนักแสดงและเคยเล่นละครมาก็หลายเรื่อง สิ่งที่ผมเห็นได้ชัดเจนในการเล่นละครโทรทัศน์กับละครเวทีนั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง การเล่นละครโทรทัศน์นั้นบางครั้งเราอาจจะไม่ต้องปฏิสัมพันธ์กับคนร่วมงานมากนักก็ได้ แต่การเล่นละครเวทีทุกคนต้องไปร่วมกันหมด โดยเฉพาะละครเวทีที่ผมได้มาเล่นนั้น ถือว่าเป็นโชคดีของผมอย่างมาก

 

          “สู่ฝันอันยิ่งใหญ่” เป็นบทประพันธ์อมตะที่ถูกหยิบยกและถ่ายทอดเป็นละครเวทีมาแล้วหลากหลายประเทศ และทุกประเทศที่ได้นำละครเนื่องนี้ไปเล่นคนที่ได้รับชมก็จะได้รับอะไรกลับไปด้วยทุกครั้งบางคนชมละครเรื่องนี้แล้วถึงกับไปลาออกจากงานเพื่อตามความฝันที่หล่นหายไปจากวัยเด็กเลยก็มี

 

          แต่สำหรับผมแล้วละครเวทีเรื่องนี้ทำให้ชีวิตของผมมีความหมายเพิ่มขึ้น เหมือนเป็นการจุดไฟความฝันในตัวผมไม้ให้มอดดับทำให้ผมเข้าใจในตนเอง เข้าใจในผู้อื่นและเข้าใจโลกมากขึ้น ผมคิดว่าละครเวทีที่ทำให้คนรู้สึกแบบนี้ได้ถือได้ว่าเป็นการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างแท้จริงครับ”

 

          หลากหลายความรู้สึกในการสะท้อนแง่มุมเกี่ยวกับ “ละคร” อาจทำให้เราได้เปลี่ยนทัศนคติในบางแง่มุมเกี่ยวกับละครบางเรื่องที่เราได้รับชมกันอยู่ทุกวันนี้ได้ ซึ่งละครบางเรื่องเราอาจรับชมได้ด้วยตา แต่หลังจากงานเสวนานี้เสร็จสิ้นอาจทำให้เราต้องใช้ใจและปัญญาในการดูละครทุกเรื่องก็เป็นได้!!!

 

 

 

 

 

เรื่องโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

ภาพประกอบ : อินเตอร์เน็ต

 

 

Update: 14-10-51

Shares:
QR Code :
QR Code