ละครไทยจัดเรตติ้งเพี้ยน “น.13+” ไฟเขียวให้เด็กดูได้
แนะเลื่อนเวลาฉายหลัง 21.30 น.
อึ้ง! ละครไทยจัดเรตติ้งเพี้ยน ขึ้น “น.13+” ไฟเขียวให้เด็กดูได้ แต่เนื้อหาทั้งรุนแรง-ชิงรักหักสวาท-อาฆาตแค้น นักวิชาการหวั่นเด็กไทยตกเป็นทาสละคร เลียนแบบพฤติกรรม “ฆ่าตัวตาย-คบชู้” แนะเลื่อนเวลาฉายหลัง 21.30 น.
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 16 ก.ค. ที่สภาคริสตจักรในประเทศไทย เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ร่วมกับ เครือข่ายสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก(มพด.) แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน จัดเวทีเสวนา เรื่อง การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อโทรทัศน์ ตอน “เนื้อหาละคร กับช่วงเวลาการออกอากาศ”
นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล ในฐานะนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญระบบเรตติ้ง กล่าวว่า ช่วงเวลาการออกอากาศรายการทางโทรทัศน์ของไทย ได้รับแนวคิดจากต่างประเทศ เพื่อดูแลคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการชมโทรทัศน์ โดยเฉพาะ แนวคิด น. 13+ คือ เหมาะกับผู้มีอายุ 13 ปีขึ้นไป และ น.18+ คือ เหมาะกับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป แต่ปรากฏว่า ไทยกำหนดเวลาการออกอากาศรายการไม่ตรงตามเรตติ้งที่กำหนด โดยเฉพาะละครที่เรตติ้ง น. 13+ ออกอากาศในช่วงเวลา 20.30 น. นั้น ส่วนใหญ่เนื้อหาจะมีลักษณะที่คล้ายกัน คือ ชิงรักหักสวาท แก่งแย่งคนรัก ปมขัดแย้งเรื่องมรดก พินัยกรรม อาฆาตมาดร้าย ใช้คำหยาบ กิริยาวาจาที่ไม่เหมาะสม แต่กลับฉายช่วงที่เด็กและเยาวชนสามารถรับชมได้ จึงน่าเป็นห่วงว่าเด็กอาจมีพฤติกรรมเลียนแบบ หรือซึมซับกิริยาที่ไม่เหมาะสม เช่น ละครเรื่องไทรโศก ที่ถ่ายทอดปมขัดแย้ง ความรุนแรง ความอาฆาตมานานตั้งแต่ต้นเรื่อง จนทำให้เด็กที่ชมเกิดการซึมซับสิ่งเหล่านี้ไป
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า ขอเสนอให้มีการจัดระเบียบของละครไทย ดังนี้ 1. ผู้จัดละครโทรทัศน์ จัดทำละครให้ตรงตามกฎของเรตติ้งที่กำหนดไว้ 2. มาตรการการกำกับดูแลกันเองของสมาคมประกอบวิชาชีพสื่อ ต้องมีความเข้มงวดและรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น 3. หน่วยงานภาครัฐ เร่งผลักดันกฎหมายกำหนดเวลาผู้ชมแต่ละประเภท รวมทั้งเร่งรัดสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว ซึ่งจะส่งผลต่อการผลิตละครดีและสร้างสรรค์ให้มากขึ้น และ 4. เปิดพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ระหว่างเครือข่ายครอบครัว นักวิชาการ ให้มีความเข้าใจในการนำเสนอเนื้อหาสื่อ รวมทั้งให้ภาคประชาชนช่วยเป็นเสียงเตือนเฝ้าระวังสื่อที่ไม่เหมาะสมให้มากขึ้น
ด้าน นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัก เครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ เปิดเผยว่า จากการประเมินรายการละครโทรทัศน์ของเครือข่ายครอบครัวฯ พบว่า ละครเรตติ้ง น.18+ ไม่ควรฉายหลังรายการข่าวภาคค่ำทันที หรือ เวลา 20.30 น. แต่ควรเลื่อนไปแพร่ภาพในเวลา 21.30 น. เป็นต้นไป เพื่อป้องกันมิให้เด็กและเยาวชนชมละครที่มีภาพ และฉากที่รุนแรง ซึ่งจากประสบการณ์การทำงานด้านสื่อเห็นเด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากเลียนแบบละครหลายอย่าง ไม่เพียงเฉพาะการฆ่าตัวตายเท่านั้น ยังมีการเลียนแบบการเป็นชู้ การมีแฟน การดุด่า ทั้งนี้ ขอเสนอให้รัฐบาล โดยเฉพาะกระทรวงที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อเด็กเยาวชนอย่างจริงจัง รวมทั้งอยากให้มีการกำหนดเวลาของการจัดเรตติ้งให้ตรงกับเนื้อหารายการละครโทรทัศน์ตามแบบมาตรฐานสากลด้วย
ภญ.ดร.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนการพัฒนาเด็กปฐมวัย สสส. กล่าวว่า เด็กและเยาวชน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มเด็กเล็ก อายุต่ำกว่า 8 ปี เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุดในการชมละคร เนื่องจากไม่สามารถแยกแยะได้ เมื่อเสพสื่อก็จะซึมซับสิ่งที่ได้พบเห็นโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะในละครโทรทัศน์ ที่ถ่ายทอดภาพและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมออกมา 2. กลุ่มเด็กโต เป็นกลุ่มที่มีพัฒนาการทางด้านสติปัญญา สามารถแยกแยะเรื่องจริงและจินตนาการได้ แต่หากชมละครที่มีการแฝงด้วยการกล่าวร้าย ตบตี ใช้ภาพ ภาษาความรุนแรง การต้องการเอาชนะ ก็จะสะสมในความรู้สึกให้เกิดเป็นความรู้สึกเชิงร้ายและส่งผลแสดงออกทางพฤติกรรมตามมาได้
ที่มา : สำนักข่าว สสส.
Update:16-07-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่