‘ลองลือบุญ’ หมู่บ้านนี้ ไม่มีถังขยะ
ที่มา : หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ขยะล้นหมู่บ้าน นับเป็นปัญหาที่พบเจอบ่อยครั้งในชุมชนต่างๆ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนในชุมชนยังไม่เกิดความตระหนัก คิดว่าการจัดการขยะเป็นเรื่องขององค์การบริหารส่วนตำบลหรือเทศบาล เพราะเสียค่าบริการรายเดือน หรือภาษีบำรุงท้องที่ไปแล้ว แต่สำหรับชุมชนเข้มแข็งอย่างบ้านลองลือบุญ หมู่ 8 ต.บ้านหนุน อ.สอง จ.แพร่ ผู้นำหมู่บ้านได้พยายามหาวิธีจัดการขยะ โดยรณรงค์ให้แต่ละครัวเรือนคัดแยกและกำจัดขยะด้วยตนเอง เพื่อให้เหลือทิ้งน้อยที่สุด
ชีพ คำพลอย ผู้ใหญ่บ้าน และหัวหน้าโครงการจัดการขยะในชุมชนบ้านลองลือบุญ เล่าว่า กว่าจะจัดการให้ลดปริมาณขยะได้ ต้องใช้เวลา เนื่องจากหมู่บ้านมีประชากร 278 ครอบครัว หรือ 732 คน สำรวจพบว่าแต่ละคนสร้างขยะเฉลี่ยวันละ 1 กิโลกรัม จึงเริ่มจากการส่งเสริมให้แต่ละบ้านคัดแยกขยะเป็น 4 ประเภท คือขยะอินทรีย์ที่ย่อยสลายได้ เช่น เศษอาหาร ผัก ผลไม้ หญ้า ใบไม้ ซากพืช ซากสัตว์ มูลสัตว์ โดยส่งเสริมให้ทำเสวียนล้อมต้นไม้ เพื่อทิ้งขยะประเภทนี้ จะได้เป็นปุ๋ยบำรุงดินและพืช, ขยะรีไซเคิล จำพวกกระดาษ พลาสติก โลหะ ขวดแก้ว ให้แยกแต่ละอย่างไว้ต่างหาก สะดวกในการขายให้กับรถรับซื้อของเก่า, ขยะทั่วไปที่ย่อยสลายยาก อาทิ เศษผ้า เศษหนัง ซองบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป พลาสติกห่อขนม บรรจุภัณฑ์ผงซักฟอก ที่หากมีการคัดแยกก็ยังสามารถขายได้ และประเภทสุดท้ายคือขยะอันตราย อย่างถ่านไฟฉาย แบตเตอรี่ หลอดไฟ บรรจุภัณฑ์สารเคมี ที่ต้องทิ้งเพื่อให้มีการกำจัดอย่างถูกวิธี
กลยุทธ์เก็บถังขยะ-แจกถุงดำ หลังจากมีถังแยกขยะแล้ว ทางชุมชนลองลือบุญได้ทำประชาคมหมู่บ้าน เสนอให้มีการเก็บถังขยะ แล้วซื้อถุงดำแจกแทนครัวเรือนละ 8 ใบต่อเดือน เพราะการตั้งถังขยะ ทำให้คนนำไปทิ้งตลอดเวลา ต้องจัดเก็บทุกวัน และยังมีสัตว์คอยคุ้ยเขี่ย เกิดแมลงวันจำนวนมาก ซึ่งเสียงเกินครึ่งเห็นด้วย แต่เกือบครึ่งที่เหลือคัดค้าน อ้างว่าถุงดำแค่ 8 ใบไม่พอใช้ ทั้งยังไม่ยอมคัดแยกขยะ โชคดีที่ดำเนินกิจกรรมพร้อมกับหมู่บ้านอื่นๆ ใน อบต.บ้านหนุนทั้งหมดจำนวน 10 หมู่บ้าน และคนส่วนใหญ่ในตำบลก็มีมติให้เก็บถังขยะ ทาง อบต.จึงเข้ามาเก็บถังขยะทุกใบออกจากทุกหมู่บ้าน
ประกอบกับมีกลุ่มเด็กจิตอาสาในหมู่บ้านลองลือบุญ รวมตัวกันเก็บขยะในชุมชนทุกวันอาทิตย์ ส่งผลให้ชาวบ้านที่ยังไม่คัดแยกขยะเกิดความละอายใจ ทั้งยังไม่มีถังขยะให้ใช้ จึงค่อยๆ หันมาคัดแยกขยะมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันก็ทราบข่าวว่าบ้านดงพัฒนา หมู่ 9 ได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดการขยะชุมชนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงเข้าไปคุยและสนใจทำโครงการทันที จะได้ใช้เป็นงบอาหาร-ของว่างให้เด็กกลุ่มจิตอาสา และทำให้การขับเคลื่อนกิจกรรมลดขยะในหมู่บ้านคล่องตัวยิ่งขึ้น
พอเปลี่ยนจากถังขยะเป็นถุงดำ ช่วงแรกทาง อบต.บ้านหนุน ต้องจัดเก็บทุกวัน แต่ระยะหลังขยะลดปริมาณลง จึงลดวันเก็บเหลือแค่วันพุธ และวันเสาร์ หากยังพบว่ามีการวางถุงดำรอทุกวัน แกนนำต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ห้ามวางทิ้งหลายวันก่อนรถจัดเก็บ มิฉะนั้นสุนัขหรือหนู จะกัดทึ้งถุงขยะฉีกขาดและส่งกลิ่นเหม็น ซึ่งกว่าจะเข้าที่เข้าทาง ก็ใช้เวลาถึง 3 เดือน
"จากถุงดำขนาดใหญ่ 8 ใบต่อเดือน ระยะต่อมาสามารถลดเหลือ 5 ใบ และตอนนี้ผ่านมา 1 ปีกว่า แจกถุงขยะขนาดกลาง แค่เดือนละ 3 ใบ แถมบางบ้านลดขยะได้เกือบ 100% ก็ไม่รับถุงดำ เวลาที่มีงานศพ หรืองานบุญ งานวัด จึงมีถุงดำที่เหลือจากส่วนนี้มาใช้อย่างเพียงพอ" ผู้ใหญ่ชีพ อธิบาย
ปรับพฤติกรรม สู่เป้าหมายชุมชนปลอดขยะ ปราณี สรรพช่าง กรรมการโครงการจัดการขยะในชุมชนบ้านลองลือบุญ บอกว่า แกนนำหมู่บ้าน และคณะกรรมการโครงการ ต้องเริ่มต้นเป็นตัวอย่างให้ชาวบ้านเห็นว่าทุกครัวเรือนทำได้ ขยะคือรายได้ ไม่ใช่สิ่งไร้ค่าที่ควรทิ้งขว้าง ภายในบ้านต้องคัดแยกขยะค่อนข้างละเอียด เป็นขวดแก้ว โลหะ พลาสติก กระดาษ และขยะเปียก ส่วนใบไม้ ขี้หมู ขี้ไก่ นำไปทิ้งในเสวียน เมื่อเกิดการหมักบ่มตามธรรมชาติ นานเข้าจะยุบตัวกลายเป็นปุ๋ยอย่างดีสำหรับพืชและต้นไม้ ขณะที่ขยะเปียก พวกพืชผัก เศษอาหาร เศษผลไม้ แผงไข่กระดาษ ยกเว้นน้ำแกง นำไปเลี้ยงไส้เดือน ก็จะได้น้ำไส้เดือนไปรดผักสวนครัว และมูลไส้เดือน ที่ช่วยส่งเสริมการเกิดเม็ดดิน เพิ่มปริมาณอินทรียวัตถุในดิน รวมถึงธาตุอาหารพืชให้กับดินอีกด้วย
ตอนนี้ทุกหลังคาเรือนในบ้านลองลือบุญคัดแยกขยะแล้ว บางบ้านที่มีพื้นที่น้อย คับแคบ ก็อาศัยทิ้งใบไม้ มูลสัตว์ ในไร่นาแทน ส่วนในชีวิตประจำวัน ก็มีการรณรงค์ให้ชาวบ้านนำถุงผ้าไปจ่ายตลาด ถ้าจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกก็หันมาใช้ซ้ำมากขึ้น หรือในงานวัด งานศพ งานบุญต่างๆ เคยใช้ถุงพลาสติกใส่ข้าวเหนียวเลี้ยงแขก ก็พยายามส่งเสริมให้ชาวบ้านห่อข้าวด้วยใบตองมารวมกัน
ด้าน วารีรัตน์ เขตต์บรรพต ประธานกลุ่มสตรีแม่บ้านหมู่ 8 และเหรัญญิกโครงการจัดการขยะในชุมชนบ้านลองลือบุญ กล่าวเสริมว่า แกนนำหมู่บ้านและคณะกรรมการโครงการพยายามทำทุกวิถีทาง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งติดป้ายรณรงค์คัดแยกขยะตามจุดสำคัญต่างๆ ในหมู่บ้าน งานศพจากที่กลุ่มสตรีแม่บ้านเคยให้พวงหรีด เดี๋ยวนี้งด แต่เพิ่มเป็นเงินแทน จะได้ไม่สร้างขยะ และยังช่วยให้เจ้าภาพนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น มีการจัดผ้าป่าขยะปีละ 1 ครั้งช่วงเทศกาลสงกรานต์ เมื่อขายได้เงินก็รวมไว้เป็นกองกลางของหมู่บ้าน และยังจัดประกวดคุ้มลดขยะ ซึ่งในหมู่บ้านแบ่งย่อยเป็น 9 คุ้ม มีคนเก็บขยะเป็นกรรมการตัดสิน ร่วมกับแกนนำ เมื่อตัดสินได้คุ้มที่ลดปริมาณขยะมากที่สุดแล้ว ก็จะมอบของขวัญ อาทิ น้ำมันพืช ผงซักฟอก ให้ในวันแจกเบี้ยผู้สูงอายุ
ผลจากความพยายามดังกล่าว ทำให้เกิดครัวเรือนคัดแยกขยะต้นแบบเป็นจุดดูงาน 3 หลังคาเรือน คือบ้านนายสมพร สรรพช่าง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน, นางจันทร์ เวียงนาค และนางคำป้อ อิ่นแก้ว ทั้ง 3 หลังไม่เพียงคัดแยกขยะและจัดการภายในครัวเรือนอย่างครบวงจร ยังเลี้ยงไส้เดือน ก่อให้เกิดปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้นทุนที่เอื้อให้หันมาปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคเองภายในครัวเรือน ดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ช่วยลดรายจ่ายในครอบครัว และสร้างความปลอดภัยให้กับสุขภาพมากขึ้น
เป้าหมายสูงสุดที่แกนนำทุกคนวาดหวัง ก็คืออยากเห็นทุกบ้านขุดหลุมไว้หลังบ้าน เพื่อกำจัดเศษขยะที่เหลือด้วยตนเอง จะได้งดแจกถุงดำ แต่อาจมีขยะอันตรายตกค้างอยู่ เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย กระป๋องยาฆ่าแมลงกำจัดศัตรูพืช บรรจุภัณฑ์น้ำยาล้างห้องน้ำ ก็จะตั้งจุดขยะอันตรายกลางภายในหมู่บ้าน ให้ทาง อบต.รับไปกำจัด ซึ่งก็จะลดภาระลงได้มาก หากทั้งนี้ต้องให้เวลากับชาวบ้านในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสมบูรณ์ ช่วยกันยกระดับสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่กว่าเดิม