ลบความเชื่อ แค่เรื่อง ‘ผัว-เมีย’
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า
ถือเป็นข้อมูลที่น่าตกใจ และกลายเป็นคำถามของคนทั้งสังคมที่ต้องหันมาช่วยกันขบคิด เพราะความรุนแรงในครอบครัวไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่ทุกคนมีโอกาสเป็นได้ทั้ง ผู้พบเห็น ผู้กระทำ และร้ายแรงสุดคือการเป็นผู้ถูกกระทำ…
เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการออกมาเปิดเผยข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) จัดเสวนาพร้อมเผยตัวเลขที่ มีการรวบรวมข้อมูลข่าวความรุนแรงในครอบครัวที่ปรากฏผ่านสื่อ จนพบสัญญาณที่ น่าตกใจว่า มีข่าวความรุนแรง ในครอบครัวพุ่งสูงขึ้นมาก และที่อันตรายที่สุดคือเกินครึ่งเป็น การ "ฆ่ากันตาย"
ข้อมูลสถานการณ์ที่นำไปสู่บทสรุปที่น่ากังวล มีดังนี้ จากการรวบรวมข่าวความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว จากหนังสือพิมพ์ 11 ฉบับ ในห้วงเวลา 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.61) ปรากฏว่ามีมากถึง 367 ข่าว ในจำนวนนี้เกินครึ่ง เป็นข่าวฆ่ากันตาย มีจำนวน 242 ข่าว หรือคิดเป็น 65% รองลงมาเป็นข่าวทำร้ายร่างกาย 84 ข่าว ฆ่ากันตาย 41 ข่าว ทั้งนี้ สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ร้ายแรงขึ้น เพราะเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสถานการณ์ข่าวฆ่ากันตายย้อนหลัง 3 ปี คือในปี 55 ปี 57 และปี 59 จะพบว่าเฉพาะ 7 เดือนแรกของปี 61 (ม.ค.-ก.ค.) ก็มีข่าวฆ่ากันตายสูงกว่าข้อมูลตลอดทั้งปีก่อนหน้านี้ ปี 55 มี 197 ข่าว ปี 57 มี 230 ข่าว ปี 59 มี 226 ข่าว ปี 61 (7 เดือน) มี 242 ข่าว
ทั้งนี้ หากวิเคราะห์ลงลึกในรายละเอียดเฉพาะช่วง เม.ย.- ก.ค. รวม 4 เดือน พบมีสถิติข่าวฆ่ากันสูงถึง 79 ข่าว หรือ เฉลี่ยจะมีผู้หญิงที่เสียชีวิตจากข่าวการฆ่ากันสูงถึงเดือนละ 20 ข่าว ลักษณะ ความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำในข่าวฆ่ากันตายส่วนใหญ่ 39% เป็นสามี-ภรรยา รองลงมาคือเครือญาติ, สามี-ภรรยากระทำ ผู้เกี่ยวข้อง เช่น กิ๊ก, พ่อ แม่ ลูก เช่น ลูกฆ่าพ่อแม่ และ คู่รัก แบบแฟน
สำหรับช่วงก่อนเกิดเหตุพบว่า 88% จะมีการทะเลาะวิวาท หรือมีปากเสียงกันก่อน ส่วนอีก 12% จะทะเลาะและทำร้ายร่างกายกัน อาวุธที่ใช้ก่อเหตุจนถึงแก่ชีวิตมากสุดคือ ปืน 41% ที่เหลือเป็นมีด และอาวุธใกล้มือ
ในจำนวนข้อมูลข่าวความรุนแรงในครอบครัวเกือบทั้งหมด คือ 95% ไม่มีการเข้าไปช่วยเหลือในช่วงเกิดเหตุ 4% เป็นการช่วยเหลือจากคนในครอบครัว และ 1% เป็นคนนอกครอบครัว
น.ส.อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ระบุสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงการที่สังคมไทยถูกฝังรากลึกว่าเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรเข้าไปยุ่งและสถานะที่ไม่เท่าเทียมกันของชายและหญิง อำนาจสามีที่เหนือกว่าภรรยา ทัศนคติเช่นนี้ต้องปรับเปลี่ยน และปลูกฝังเรื่องการเคารพในเนื้อตัวร่างกายตั้งแต่วัยเด็ก ย้ำว่าเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องของสังคมหรือสาธารณชน พบเห็นเหตุการณ์ต้องแจ้งหรือเข้าไปช่วยเหลือ
ด้าน น.ส.แพรวดาว ศิวภูวดลพิทักษ์ หรือ เอิร์น พลเมืองดีที่เข้าไปช่วยเหลือหญิงรายหนึ่งถูกคนรักที่เป็นทอมซ้อมโหด ตามที่ปรากฏเป็นข่าวดัง ถ่ายทอดประสบการณ์ผู้ที่เผชิญหน้ากับความรุนแรงในครอบครัว และตัดสินใจยื่นมือไปช่วยเหลือว่า อยากให้กรณีที่เกิดขึ้นเป็นบทเรียนให้กับสังคมช่วยกันเป็นหูเป็นตา ไม่นิ่งเฉย อย่าฝังใจว่าเป็นเรื่องของสามีภรรยา เรื่องของแฟนกันไม่ควรเข้าไปยุ่ง หรือมองว่าการทำร้ายร่างกายเป็นเรื่องปกติ การทำร้ายร่างกายคือการทำร้ายกัน ไม่ใช่แค่เรื่องครอบครัว อย่างไรก็ตาม การจะเข้าไปช่วยเหลือใคร คนช่วยก็ต้องมีสติ และตัดสินใจให้ดีเพื่อความปลอดภัยของตัวเองด้วย ควรต้องประเมินสถานการณ์ก่อน ตัวเองต้องไม่ถูกทำร้าย หรือทำให้คนที่ถูกทำร้ายอยู่แล้วถูกกระทำมากขึ้น การที่ตัดสินใจเข้าไปช่วยเหลือเพราะหากกลับไปโดยไม่ช่วยก็คงไม่สบายใจที่ไม่ยื่นมือเข้าไปทั้งที่ทำได้ และเมื่อตัดสินใจก็ช่วยอย่างมีสติ ดูแล้วว่าอีกฝ่ายไม่มีอาวุธ
"ตอนเข้าไปช่วยน้องที่ถูกกระทำอยู่ในอาการกลัวมาก ๆ และร้องขอให้ช่วยเหลืออยู่ตลอด เพราะกลัวเราจะหายไป ซึ่งตนก็บอก ไปว่าพี่ไม่ไปไหนหรอก พี่จะช่วยเอง ในช่วงเวลานั้นน้องได้ก้มกราบ ทำให้ตนรู้สึกว่าคนเราต้องกลัวสักแค่ไหนถึงจะยอมกราบเท้าคนอื่น ได้ แสดงว่าเค้าต้องการความช่วยเหลืออยู่จริง ๆ"
น.ส.แพรวดาว บอกด้วยว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นแท้จริงแล้วไม่ได้มีเพียงผู้ถูกกระทำ แต่พ่อ แม่ ญาติพี่น้องคนเหล่านี้ก็เจ็บปวดไม่แพ้กัน ยกตัวอย่างกรณีที่ตนเข้าไปช่วยซึ่งพบว่าแม่ของน้องคนที่ช่วยเจ็บไม่แพ้ลูก และ ต้องออกจากงานเพื่อมาดูแลเพราะเดิมทำงานอยู่ต่างจังหวัด ที่สำคัญแม้จะเป็นการทำร้ายร่างกายเพียงครั้งเดียวแต่สำหรับจิตใจจะเหมือนถูกทำร้ายซ้ำ ๆ อยู่ตลอดเมื่อนึกถึง
ขณะที่ พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม เมฆิยานนท์ อาจารย์จากสถาบันส่งเสริมงานสอบสวน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ความเห็นถึงช่องทางการขอคำแนะนำและปรึกษาข้อกฎหมาย จากเดิมที่ผู้หญิงหลายคนอาจคิดว่าต้องไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังสามารถใช้ช่องทางอื่นที่ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบ คือการยื่นคำร้องขอคุ้มครองสวัสดิภาพกับศาลเยาวชนและครอบครัว ในพื้นที่ของตัวเองเพื่อขอให้คุ้มครองฉุกเฉิน ซึ่งจะแก้ปัญหากระบวนการยุติธรรมที่อาจล่าช้าหากมีการแจ้งความตามปกติ เพราะมองว่าเป็นปัญหาครอบครัว จึงมักแนะนำให้เริ่มต้นที่การเจรจาไกล่เกลี่ย ทั้งที่จริงก่อนจะตัดสินขอความช่วยเหลือผู้หญิงหลายคนคงให้โอกาส มีการพูดคุยไกล่เกลี่ยกันแล้ว แต่เพราะทนต่อไปไม่ไหวจึงต้องวิ่งเข้ามาหา ความช่วยเหลือ ซึ่งการไปแจ้งความเชื่อว่าทำ ให้หลายคนถอดใจ เพราะมักถูกมองเป็น เรื่องสามีภรรยา แต่ตำรวจทั่วประเทศมีกว่า 2 แสนคน คงไม่สามารถทำให้ถูกใจผู้ถูกกระทำได้ทุกคน
พ.ต.ท.หญิง เพรียบพร้อม กล่าวด้วยว่า เดิมผู้หญิงหลายคนไม่กล้าดำเนินคดี เพราะแฟนอาจรู้ได้ทันที จากกระบวนการที่ต้องมีการออกหมายเรียก จึงยิ่งทำให้ถูกทำร้ายหนักขึ้น ประกอบกับกระบวนการยุติธรรมที่มีขั้นตอนเกี่ยวข้อง ออกหมายเรียก สอบปากคำ กว่าจะส่งฟ้องก็กินเวลาเป็นปี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว ทำให้ผู้หญิง มีช่องทางร้องขอการคุ้มครองสวัสดิภาพได้อีกช่องทางหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องมาแจ้งความที่สน. แต่ไปเขียนคำร้องต่อศาลได้โดยตรง
สำหรับการเข้าให้ความช่วยเหลือกรณีของน.ส.แพรวดาวถือเป็นตัวอย่างการเข้าไปช่วยเหลือที่ดี คือ ใช้วิธีอ่อนโยน ไม่แทรกแซง เพราะสำคัญคือตัวคนช่วยต้องไม่เข้าปะทะ เพิ่มเงื่อนไขให้สถานการณ์
สถิติสถานการณ์ที่เพิ่มสูงขึ้น ตามข้อมูลนำเสนอเป็นเพียงส่วนที่ปรากฏเป็นข่าว เชื่อว่ายังมีความรุนแรงในครอบครัวอีกไม่น้อยที่ถูกปิดเงียบ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่เพียงสะท้อนสภาพสังคม แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงรากของปัญหาที่ต้องอาศัยแรงผลักดันจากหน่วยงานรัฐเข้าไปจัดการร่วมด้วย