ลด "ท้องไม่พร้อม" กับ "อุดรโมเดล"
ปฏิเสธไม่ได้ว่า "ท้องไม่พร้อม" ของวัยรุ่นไทยเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ ถึงขนาดที่องค์การอนามัยโลก(WHO) ระบุว่า หญิงไทยอายุต่ำกว่า 20 ปีมีการตั้งครรภ์สูงเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนเลยทีเดียว
แฟ้มภาพ
มองเผินๆ การตั้งครรภ์อาจดูเป็นเรื่องปกติธรรมดาของหญิงวัยเจริญพันธุ์ แต่การตั้งครรภ์ในภาวะที่ไม่มีความพร้อมแบบนี้ ย่อมนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ในสังคมต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการทำแท้ง ผิดกฎหมาย การทิ้งทารก หรือปัญหาสุขภาพจิต เพื่อเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการ ตั้งครรภ์ไม่พร้อมดังกล่าว สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงริเริ่มดำเนินโครงการรณรงค์ลดการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและเสริมสุขภาวะเยาวชน โดยมีพื้นที่ต้นแบบหลายแห่ง หนึ่งใน นั้นคือ "อุดรธานี" ซึ่งมีปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พร้อมสูงเป็นอันดับที่ 40 ของประเทศ นอกจากนี้ยังมีจำนวนผู้ป่วยเอดส์สูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศด้วย
"อุดรธานีเป็น 1 ใน 2 จังหวัดที่ทำเรื่องการ ตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี2556 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนในพื้นที่อายุ12-24 ปี ปัจจุบันมีกลุ่มเยาวชนที่เป็นกระบวนกรและผู้ใหญ่ใจดีที่ทำงานร่วมกันครอบคลุมทุกพื้นที่จนสามารถช่วยลดปัญหาต่างๆ เหล่านี้ลงได้" เพ็ญศิริ ศรีจันทร์ หัวหน้าโครงการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตของเยาวชนด้านสุขภาวะทางเพศ จังหวัดอุดรธานี หรือที่เรียกว่า "อุดรโมเดล" กล่าว
ด้าน ปราณี ฉายเนตร นายกเทศมนตรีตำบลแสงสว่าง ตำบลต้นแบบที่มีการบูรณาการภารกิจ ในโครงการอุดรโมเดล กล่าวว่า อำเภอหนองแสงเป็นอำเภอเล็กๆ ที่มี 4 ตำบล ทุกตำบลทำงานประสานกันโดยมีตำบลแสงสว่างเป็นพื้นที่ต้นแบบ "เรากำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน 5 ยุทธศาสตร์ด้วยกัน คือ 1.การจัดการเชิง ยุทธศาสตร์ จัดการอบรมเพื่อสร้างกระบวน กรเยาวชนและผู้ใหญ่ใจดี 2.เพศวิถีศึกษารอบด้าน จัดระบบเรื่องกิจกรรมภายในสถานศึกษา มีการขยายหลักสูตรไปสู่เพศวิถีศึกษารอบด้าน ทำให้เด็กเข้าใจเรื่องเพศ การป้องกัน 3.พื้นที่สร้างสรรค์ผู้ใหญ่ใจดี กระบวนกรเยาวชนสามารถติดตามและสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเชิงสร้างสรรค์ มีกิจกรรมจิตอาสา สร้างกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ 4.บริการสุขภาพและสังคมที่เป็นมิตร ทำให้เกิดการขยายผล เช่น การให้ความรู้เรื่องการใช้ถุงยาง ความรู้เรื่องเพศ และ 5 การระดมทรัพยากรและการขยายผล โดยทุกยุทธศาสตร์เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชน ตลอดจนผู้ใหญ่ทุกคนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันออกแบบกิจกรรมและเข้าร่วมกิจกรรมในทุกระดับ"
ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย และเป็นความตั้งใจจริงของคนในพื้นที่ ทำให้ตลอดระยเวลา 3 ปีที่ดำเนินโครงการเกิดประสิทธิผลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งยังสามารถสร้างกลุ่มพลังเยาวชนใหม่ๆ เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนงานด้านสุขภาวะทางเพศได้อย่างยั่งยืนด้วย
"ออนซอนแสงสว่าง" เป็นชื่อกลุ่มเยาวชนในพื้นที่ที่รวมกลุ่มกันเพื่อให้ความรู้ด้านสุขภาวะและเพศศึกษาแก่เยาวชนในพื้นที่ โดยมีเครือข่ายที่ใช้ชื่อว่า "แสงสว่าง Stop Teen Mom"
แก้วกาลดา แพงแพน อายุ 17 ปี ตัวแทนกลุ่มออนซอนแสงสว่าง เล่าว่า ก่อนหน้านี้ความรู้เรื่องเพศศึกษาแบบที่ถูกต้องแทบไม่มีเลย จนกระทั่งเข้ารับการอบรมจึงทำให้ได้รับความรู้อย่างกระจ่างแจ้ง และเป็นแรงผลักดันให้หันมาทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมและปัญหาจากเพศสัมพันธ์อื่นๆ
"ไม่รู้อะไรเลย รู้แค่ว่ามีโรคเอดส์นะ แต่ไม่รู้ว่าเป็นไง จนปีที่แล้วเจอคุณหมอซึ่งมาชักชวนให้ไปอบรม เราอยากได้ความรู้ก็ชวนเพื่อนๆ ไป เผื่อเราจะได้รู้อะไรหลายอย่าง เพราะพวกเราเป็นเพศทางเลือก ผู้ใหญ่บางคนจะมองไม่ดี เราเคยได้ยินเขาบอกว่า เด็กกะโหลกกะลา กะเทยกลุ่มนี้จะทำอะไรได้ ก็ไปคุยกับคุณหมอ คุณหมอบอกว่า มันใช่มั้ยล่ะ ถ้าไม่ใช่ก็ให้เอาคำพูดนั้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเอง มาทำให้เขาเห็น คุณหมอบอกจะช่วยทำให้กะเทยกลุ่มนี้ เด็กกะโหลกกะลากลุ่มนี้เป็นกระบวนกรน้อยให้ได้ พวกเราเลยไม่หยุดเพราะว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนปลงให้ได้"
ทุกๆ สัปดาห์แก้วกาลดาและกลุ่มเยาวชนออนซอนแสงสว่างจะไปรวมตัวกันที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) เพื่อศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับสุขภาวะและเพศศึกษาที่ถูกต้อง ก่อนจะเริ่มต้นทำหน้าที่กระบวนกรให้ความรู้เด็กๆ ในโรงเรียน รวมถึงฝึกอบรมให้แก่ "ผู้ใหญ่ใจดี" ได้เข้าใจและสื่อสารเรื่องเพศอย่างถูกวิธีกับ บุตรหลาน
ไม่เพียงแค่กลุ่มเยาวชนเท่านั้น แต่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกัน จนสามารถป้องกันและลดปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นได้ โดยอัตราการคลอดของมารดาอายุระหว่าง 15-19 ปี ลดลงจาก 54.97 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ในปี 2557 เหลือ 33.78 ต่อจำนวนประชากร 1,000 คน ในปี2558 ถือเป็นทิศทางที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แน่นอนว่า โครงการนี้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือในการป้องกันปัญหาท้องไม่พร้อมอย่างจริงจัง "อุดรโมเดล" จึงถือเป็นพื้นที่ต้นแบบ การบูรณาการที่มีประสิทธิภาพและเกิดผลสัมฤทธิ์ที่ยั่งยืน
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ