ลดเสี่ยง เลี่ยงซิ่ง
เรื่องโดย เทียนทิพย์ เดียวกี่ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก หนังสือเดินทางปลอดอุบัติเหตุจราจร สสส. ,ข่าวเรื่อง สสส. – ไทยโรดส์ เปิดผลสำรวจการสวมหมวกนิรภัยปี 61 และข่าวเรื่อง สสส. – ภาคี เปิดเวทีถกความปลอดภัยทางถนน
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th
“ เอี๊ยดดดด โครม” เสียงเบรกของล้อรถที่เสียดสีกับผิวถนน ตามมาด้วยเสียงปะทะของวัตถุสองสิ่ง พลอยทำให้ใครหลายคนแทบหยุดหายใจและมองตามเป็นทางเดียวกันว่า เสียงเหล่านั้นคือเสียงที่บ่งบอกถึงอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นแน่
หากลองสังเกตฟีดข่าวในโซเชียลมีเดียตามเพจกู้ภัย หรือมูลนิธิ มักมีการนำเสนอข่าวอุบัติเหตุแทบทุกวัน ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บางรายโชคดีหน่อยที่บาดเจ็บเล็กน้อย เนื่องจากมีการป้องกัน แต่บางรายอาจนำมาซึ่งการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
ข้อมูลจากการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 14 “เดิน ขี่ ขับ ไป-กลับ ปลอดภัย” สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน (กปถ.) กรมการขนส่งทางบก ระบุว่า อัตราการเสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ของประเทศไทยอยู่ที่ระดับมากกว่า 30 ต่อประชากรแสนคนมาโดยตลอด โดยสาเหตุในการเกิดอุบัติเหตุจราจร มีดังนี้
1.ความประมาท เป็นสาเหตุหลักสำคัญ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายและบ่อยที่สุด เช่น ความประมาทในการข้ามถนน ความประมาทในการนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์
2.ความเพิกเฉยต่อกฎจราจรหรือกฎข้อบังคับต่าง ๆ เช่น การขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดหรือฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ยังความเสียหายและอุบัติเหตุทั้งต่อตนเองและผู้ร่วมทาง
3.พฤติกรรมเสี่ยง เช่น ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่เปิดไฟหน้ารถ เมาแล้วขับ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เป็นต้น
4.สภาพแวดล้อม สภาพจราจรที่คับคั่ง ไร้ระเบียบ พาหนะเคลื่อนตัวยาก
5.สภาพเส้นทาง พื้นผิวถนน ลื่น ขรุขระ เป็นหลุม ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
6.สภาพอากาศ เช่น ฝนตก หมอกลงจัด ฝนฟ้าคะนอง ทัศนวิสัยที่เลวร้าย เป็นต้น
7.สภาพร่ากงกาย ความเจ็บป่วยหรือความบกพร่องทางร่างกาย
8.สภาพจิตใจ ขับรถขณะสภาพจิตใจย่ำแย่ หรือหวาดกลัว หรือมึนเมาสิ่งเสพติดและแอลกอฮอล์
9.สภาพยานพาหนะ การละเลยตรวจสอบเช็กสภาพยานพาหนะก่อนเดินทาง
สิ่งที่น่าจับตามอง คือสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถจักรยานยนต์ ที่มีจำนวนผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์มากถึง 60 ล้านคัน โดยมีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บและเสียชีวิตสูง โดยนายแพทย์วีระพันธ์ สุพรรณไชยมาตย์ รองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 2 ประธานในงานแถลงผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ ประจำปี 2561 กล่าวว่า ผลสำรวจอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2561 จัดทำขึ้นโดย มูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนน ภายใต้การสนับสนุนของ สสส. ซึ่ง สสส.ให้ความสำคัญกับการมีฐานข้อมูลการสวมหมวกนิรภัยซึ่งเป็นฐานเดียวของประเทศ ณ ตอนนี้ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบันของพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในจังหวัดต่างๆ ทุกภูมิภาคของประเทศไทย
โดยผลการสำรวจพฤติกรรมการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์ โดยสำรวจผู้ใช้รถจักรยานยนต์ จำนวน 1,529,808 คน ทั้งในเขตเทศบาลนคร เทศบาลเมือง และเทศบาลตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศไทย พบว่า ภาพรวมผู้ใช้รถจักรยานยนต์ในประเทศไทยสวมหมวกนิรภัยเพียง 45% แบ่งเป็นผู้ขับขี่และผู้โดยสารสวมหมวกนิรภัยเพียง 52% และ 22% ตามลำดับ
จากสถิติดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าผลกระทบของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการไม่สวมหมวกนิรภัยเป็นหลัก ประกอบกับเหตุผลด้านอื่นๆ ที่อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น หากต้องขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ ควรระมัดระวังและปฏิบัติตาม ดังนี้
1.สวมหมวกนิรภัยก่อนขับขี่หรือโดยสารทุกครั้ง
2.ไม่ขับขี่ด้วยความเร็วสูง
3.ไม่บรรทุกสิ่งของหรือผู้โดยสารมากเกินไป เพราะ ทำให้รถเสียการทรงตัว
4.งดดื่มสุรา ก่อนขับขี่
5.ไม่ใช้โทรศัพท์ขณะขับขี่
6.ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
7.ตรวจสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมขับขี่
8.แต่งกายให้รัดกุม ช่วยป้องกันการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุ
9.พกใบอนุญาตขับขี่ทุกครั้ง
อย่าให้หนึ่งในข่าวที่รายงานอุบัติเหตุนั้นต้องเป็นคุณเลย เวลาขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ อย่าลืมทำตามคำแนะนำข้างต้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทั้งตัวคุณเองและผู้ร่วมใช้รถ ใช้ถนน สสส.และภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์ให้ทุกคนขับขี่ปลอดภัย เพื่อช่วยกันลดสถิติอุบัติเหตุ ความสูญเสีย และให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไปในสังคม