ลดเสี่ยงโรคหัวใจออกกำลังกายอย่างเดียวไม่พอ
วิจัยพบต้องลดน้ำหนักด้วยจึงจะได้ผลเต็มที่
สำนักข่าวซีบีเอสนิวส์รายงานผลการวิจัยล่าสุดซึ่งแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคหัวใจนั้นไม่สามารถช่วยให้คนที่ยังมีน้ำหนักตัวเยอะหรืออ้วนอยู่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มเหมือนกับคนที่มีน้ำหนักตัวปกติ
ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการด้านอายุรเวชศาสตร์ชื่อ archives of internal medicine โดยนักวิจัยระบุในผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ว่าการออกกำลังกายนั้นแน่นอนว่ามีผลดีต่อการรักษาสุขภาพของหลอดเลือดหัวใจให้ดีแต่การออกกำลังกายไม่ได้ช่วยทำให้ผลเสียของการมีน้ำหนักตัวเกินเกณฑ์หมดหายไปด้วย
ผลการวิจัยครั้งนี้นับเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของการรักษาร่างกายให้แข็งแรงและมีน้ำหนักตัวสมส่วนและในทางตรงกันข้ามทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงแนวโน้มใหม่ที่ว่าคนเราน่าจะมีสุขภาพที่ได้แม้ว่าจะตัวอ้วนแต่หากหมั่นออกกำลังกายสร้างความแข็งแรงให้แก่ร่างกาย
สำหรับโรคอ้วนหรือภาวะน้ำหนักตัวเกินปกตินั้นแน่นอนว่ามีความเชื่อมโยงกันกับความเสี่ยงในการป่วยเป็นโรคหัวใจซึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ในประชากรหญิงของประเทศ
หากจะพิจารณากันว่าปัจจัยไหนที่มีผลต่อความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจมากกว่ากันระหว่างการขาดการออกกำลังกายและเรื่องของน้ำหนักตัวเกิน นักวิจัยกล่าวว่ายังไม่มีคำตอบที่สามารถชี้ขาดลงไปได้สำหรับคำถามนี้
แต่ที่แน่ ๆ คือเซลล์ไขมันนั้นเป็นตัวปล่อยสารเคมีที่ไปมีผลเร่งให้เกิดการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง ก่อให้เกิดการอักเสบ และนำไปสู่การเกิดลิ่มเลือด ส่วนการออกกำลังกายนั้นพบว่ามีประโยชน์ในการช่วยต่อต้านกระบวนการทำลายหัวใจเหล่านี้ด้วยการช่วยทำให้หลอดเลือดทำงานได้ดีขึ้น
สำหรับการวิจัยนี้นั้นทำขึ้นมาโดยทีมนักวิจัยจากศูนย์การแพทย์ beth israel deaconess ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบอสตันประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นการศึกษาผลของปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ 2 อันร่วมกันกล่าวคือการขาดการออกกำลังกายและการมีน้ำหนักตัวมากเกินพอดี
ทีมนักวิจัยซึ่งนำโดยพญ. เอมี่ อาร์ ไวน์สไตน์ ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับส่วนสูง น้ำหนักตัว การออกกำลังกาย ประวัติทางการแพทย์ และพฤติกรรมทางด้านสุขภาพอื่นๆ ของผู้หญิงกลุ่มตัวอย่างจำนวนทั้งสิ้น 38,987 คน
ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ และ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าปกติ อีก 18 เปอร์เซ็นต์ถือว่าเป็นกลุ่มโรคอ้วน และ 34 เปอร์เซ็นต์เป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ
การศึกษานี้ใช้เวลาติดตามผลนานถึง 11 ปี และพบว่ามีกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 948 คนถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคหัวใจ ผู้หญิงกลุ่มที่มีน้ำหนักตัวปกติและออกกำลังกายสม่ำเสมอมีความเสี่ยงในการในการเป็นโรคหัวใจต่ำที่สุด คนที่น้ำหนักตัวปกติแต่ไม่ค่อยออกำลังกายมีความเสี่ยงสูงกว่าบ้าง แต่ที่เสี่ยงสูงกว่านั้นคือผู้หญิงที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนที่ออกกำลังกายประจำ และที่เสี่ยงสูงที่สุดคือทั้งอ้วนและไม่ออกกำลังกาย
ที่มา : สำนักข่าวต่างประเทศ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
update 02-05-51