ลดเร็ว ลดเสี่ยง ลดอุบัติเหตุ ย้ำกลับบ้านปีใหม่ปลอดภัย

ที่มา : มติชน


ลดเร็ว ลดเสี่ยง ลดอุบัติเหตุ ย้ำกลับบ้านปีใหม่ปลอดภัย thaihealth


แฟ้มภาพ


สคอ.ชี้ 'ขับขี่'ยิ่งเร็ว ยิ่งตาย ย้ำปีใหม่ปลอดภัย กำหนดให้เทศกาลปีใหม่ 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563-วันที่ 4 มกราคม 2564 เป็นช่วงเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น


นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยระหว่างรณรงค์สื่อสารประชาสัมพันธ์ลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ว่า ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กำหนดให้เทศกาลปีใหม่ 7 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563-วันที่ 4 มกราคม 2564 เป็นช่วงเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น โดยสถิติอุบัติเหตุเทศกาลปีใหม่ 2563 พบมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,421 ครั้ง บาดเจ็บ 3,499 คน เสียชีวิต 373 ราย สาเหตุเสียชีวิตสูงสุด คือขับเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 30.23


"ในช่วงปีใหม่ประชาชนมักเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำนา จึงควรเตรียมความพร้อมก่อนการเดินทาง เพราะระหว่างเดินทางมีความเสี่ยงตลอดเวลา มีปริมาณรถที่หนาแน่นกว่าปกติ ดังนั้น จึงต้องใช้ความเร็วที่เหมาะสม โดยเฉพาะถนนใหญ่ที่พบอุบัติการณ์ทุกปี คือ วูบหลับในและขับเร็ว เนื่องจากเมื่อเลิกงานต่างรีบร้อนกลับบ้านโดยไม่ได้พักผ่อน ไม่ได้เตรียมการ และเดินทางเป็นหมู่คณะ เมื่อไปถึงกลางทางมักประสบอุบัติเหตุ ทั้งเสียหลักและวูบหลับในจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ และถูกตัดหน้ากระชั้นชิด


ดังนั้น จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน เมื่อถึงจุดหมายปลายทาง มีการเฉลิมฉลองดื่มสังสรรค์ข้ามคืน มักพบปัญหาคือ เมื่อดื่มฉลองได้ที่มักขับขี่รถออกไปซื้อของมาเพิ่ม ขับไปในพื้นที่ที่ตนเองไม่ชำนาญเส้นทางและเกิดอุบัติหตุ รวมถึงขากลับมักเกิดอาการอ่อนเพลียสะสมเป็นอันตรายต่อตัวเองและผู้ร่วมโดยสารอย่างมาก" ผู้อำนวยการ สคอ.กล่าว


นายพรหมมินทร์กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลมักเกิดในถนนสายรอง หมู่บ้าน ชุมชนที่มาจากรถจักรยานยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุร้อยละ 80 และ 2 ใน 3 ของการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมีสาหตุมาจากการขับรถเร็ว การขับด้วยความเร็วสูง คนขับจะควบคุมรถ หรือหลบหลีกอุบัติเหตุได้ยากขึ้น และเพิ่มความรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติหตุ จึงควรเว้นระยะห่างจากคันหน้าไม่ต่ำกว่า 60 เมตร เพื่อระยะการหยุดรถที่ปลอดภัย


นอกจากนี้ ยังพบว่าการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ เป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรงของอุบัติเหตุ พบว่าเมื่อรถจักรยานยนต์ใช้ความเร็วขณะขับขี่สูงกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (กม./ชม.) โอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 42 และเมื่อขับเร็วสูงกว่า 100 กม./ชม. มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 80 แสดงให้เห็นว่าขับรถด้วยความเร็วสูงมากขึ้นเท่าไร เมื่อเกิดอุบัติเหตุโอกาสเสียชีวิตจะสูงมากขึ้นด้วย

Shares:
QR Code :
QR Code