ลดเค็ม ลดโรค “ปลาร้า” เครื่องชูรสเด็ดแต่โซเดียมสูง
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
การบริโภคเกลือในปริมาณมากเกินพอดีจะส่งผลให้ เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง จะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น หัวใจวาย อัมพาต และความเสื่อมของไตนำที่นำไปสู่ ภาวะไตวาย ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นของคนทั่วโลก
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ อาจารย์สาขาวิชา โรคไต คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เผยว่า จากผลสำรวจ พบว่าคนไทยบริโภคโซเดียมสูงถึง 4,351.7 มิลลิกรัม/วัน ซึ่งสูงกว่าค่าแนะนำถึง 2 เท่า และจากผลการสำรวจสุขภาพประชาชน พบว่า คนไทยมีภาวะความดันโลหิตสูงถึง 24.7%
ทั้งนี้ "ปลาร้า" เครื่องปรุงรสเค็มยอดนิยมของไทย ถูกเติมโซเดียมมากถึง 3 ทอด ตั้งแต่ปลาร้าต้นทาง ที่หมักแบบดั้งเดิม ใช้ปลา เกลือ รำข้าวในการหมัก ต่อมาปลาร้าถูกส่งต่อให้พ่อค้าคนกลางและถูกแต่งเติมส่วนผสมเพื่อเพิ่มรสชาติ เช่น ใส่กะปิ หรือเพิ่มปริมาณด้วยการใส่น้ำเกลือต้ม และทอดสุดท้ายคือ ผู้จำหน่าย ปลาร้าจะถูกดัดแปลงเป็นสูตรเฉพาะร้าน ให้ได้กลิ่น รส ตามความประสงค์
ทำให้ค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมของเกลือและผงชูรสในปลาร้าแต่ละชนิดนั้น มีโซเดียมเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000-6,000 มิลลิกรัม เมื่อเทียบในอัตรา 100 กรัมเท่ากัน โดย "ปลาร้าแกง" ที่มีเนื้อและน้ำนั้น มีปริมาณโซเดียมของเกลือและผงชูรสที่สูงที่สุด โดยเฉพาะที่มาจากแม่บ้านมีปริมาณรวมมากถึง 6,552 มิลลิกรัม รองลงมาคือ ปลาร้าสับแจ่วบอง ปลาร้าส้มตำปรุงสำเร็จจากตลาด และปลาร้าต่วง ที่มา จากตลาดและโรงงาน ตามลำดับ
สะท้อนให้เห็นว่าการบริโภคปลาร้าเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนไทยบริโภคโซเดียมในปริมาณที่สูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก และทำให้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงตามมา คณะกรรมการนโยบายการลดการบริโภคเกลือและโซเดียมเพื่อลดโรคไม่ติดต่อระดับชาติ จึงอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประเทศไทย ปี 2559-2568 ตั้งเป้าให้คนไทยลดการบริโภคโซเดียมลง 30% ภายในปี 2568