ลดวิชาการ เพิ่มวิชาชีพปรับตารางสอน เป็นตารางการเรียนรู้
สัปดาห์ที่แล้ว ผมทิ้งค้างไว้ถึงบทสรุปที่ได้จากการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในเวทีเสวนาวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะนำเสนอให้คณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรไทย พิจารณาต่อไป
ในเวทีดังกล่าว ดร.รุ่งนภา จิตรโรจนรักษ์ นักวิจัยประจำสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) นำเสนอข้อมูลจากการสำรวจเด็กและเยาวชนบนเส้นทางระบบการศึกษาน่าสนใจทีเดียว
เธอพบว่าเด็กไทยกว่า 60% หลุดออกจากระบบการศึกษาเพื่อเข้าสู่ตลาดแรงงานในช่วงอายุเฉลี่ย 18 ปี มีเพียง 40% ที่เข้าสู่รั้วอุดมศึกษา และเพียง 10% เท่านั้นที่จบแล้วได้งานทำใน 1 ปีแรก ซึ่งเป็นข้อมูลที่ใช้ประกอบการหาแนวทางออกแบบหลักสูตรการเรียนรู้ ที่ควรจะตอบสนองวิถีชีวิตจริงและทักษะที่จำเป็นสำหรับเด็กและเยาวชนแต่ละกลุ่ม
โดยแยกเด็กออกเป็นกลุ่มๆ ได้แก่ 1.กลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มในการเรียนต่ออุดมศึกษา 2.กลุ่มเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ (จบระดับมัธยมศึกษา) 3.กลุ่มเด็กและเยาวชนด้อยโอกาสไม่จบการศึกษาภาคบังคับชั้น ม.3 4.กลุ่มเด็กทุกกลุ่มในระดับประถมศึกษา
บทสรุปที่ได้รวม 2 ประเด็น ได้แก่ ทักษะที่เป็นประโยชน์ต่อชีวิตจริงของเด็กและเยาวชนแต่ละกลุ่มคืออะไร กับแนวทางการปฏิรูปหลักสูตรเพื่อตอบสนองวิถีชีวิตจริงของเด็กและเยาวชนแต่ละกลุ่ม ควรเป็นอย่างไร
ด้านทักษะสำหรับเด็กแยกเป็นรายกลุ่ม ได้ดังนี้ กลุ่มที่ 1 ทักษะชีวิต การจัดการตนเอง การเข้าสังคม มนุษยสัมพันธ์ ทักษะการสืบค้นความรู้ การเรียนรุ้ด้วยตนเองและการใช้เทคโนโลยี ทักษะการสื่อสารใช้ภาษามากกว่า 1 ภาษา กลุ่มที่ 2 ทักษะสำหรับการประกอบอาชีพ ทักษะการจัดการชีวิตตนเองเพื่อดำรงชีวิตในชุมชน สังคม ทักษะการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ทักษะด้านภาษาและการสื่อสาร กลุ่มที่ 3 ทักษะชีวิต การดูแลตนเองในสังคม ทักษะอาชีพ ทักษะการเรียนรู้ การคิดวิเคราะห์ กลุ่มที่ 4 ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง ทักษะพื้นฐาน อ่านออกเขียนได้ คิดคำนวณ การสื่อสาร ทักษะความมีวินัย ทักษะการช่วยเหลือตนเองได้ในชีวิตประจำวัน
แนวทางการปฏิรูปหลักสูตร สำหรับเด็กแต่ละกลุ่ม ควรเป็นดังนี้ กลุ่มที่ 1 เรียนเฉพาะกลุ่มสาระที่จำเป็นและเพิ่มวิชาเลือก ให้น้ำหนัก (เวลาเรียน) ตามการนำไปใช้ ไม่จำเป็นต้องเท่ากันทุกวิชา จัดตารางเรียนใหม่ มีกิจกรรม home room เน้นการปฏิบัติมากขึ้น เน้นทักษะมากกว่าเนื้อหา เพิ่มการเรียนแบบโครงงานมากขึ้น กลุ่มที่ 2 ลดสาระเนื้อหาวิชาพื้นฐานลง เพิ่มวิชาประกอบอาชีพ เรียนนอกห้องเรียนแบบฝึกปฏิบัติจริง อย่างน้อย 3 ชั่วโมงต่อวัน เปลี่ยนจุดเน้นเป็น เน้นทักษะและวิธีการแสงหาความรู้ด้วยตนเอง ตอนเช้าเรียนวิชาการ ตอนบ่ายฝึกปฏิบัติ (ทักษะ บูรณาการ หรือโครงงาน) เพิ่มการสอนศิลปะ ดนตรี กีฬาและกิจกรรมสาธารณะช่วยเหลือสังคม ประเมินผลสัมฤทธิ์ตามสภาพจริง ยืดหยุ่นให้โรงเรียนสามารถปรับและจัดหลักสูตรได้เอง
กลุ่มที่ 3 โรงเรียนมีอิสระในการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับพื้นที่และเด็กด้อยโอกาสได้เต็มที่ เรียนเนื้อหา 4 วันต่อสัปดาห์ 1 วันฝึกทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตผ่านการปฏิบัติจริงนอกห้องเรียน จัดการศึกษาแบบคู่ขนาน ลดจำนวนสาระวิชาลงและควบรวมบางสาระวิชา เช่น สุนทรียภาพ ศิลปะ กีฬา และภาษาไทย อังกฤษ และปรับปรุงการแนะแนวให้สอดคล้องกับชีวิตและอาชีพจริง มีการประเมินแบบพิเศษให้กับเด็กด้อยโอกาส ลดน้ำหนักทักษะวิชาการ เพิ่มทักษะชีวิตและอาชีพ หน่วยต้นสังกัดส่งเสริมความร่วมมือแบบทวิภาคี ระหว่างโรงเรียนและสถานประกอบการ กลุ่มที่ 4 ลดวิชาเรียนให้น้อยลง โดยวิชาหลักที่ยังคงไว้คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาไทย
เพิ่มกิจกรรมพัฒนาทักษะ วินัย การแสวงหาความรู้และการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน บูรณาการเนื้อหาวิชาการกับการพัฒนาทักษะ มีรูปธรรมของการติดตามและประเมินทักษะ ปรับตัวชี้วัดให้น้อยลงและสอดคล้องกับทักษะข้างต้น
นอกจากนี้ เวทีประชุมเชิงปฏิบัติการยังร่วมกันออกแบบ ตัวอย่างตารางการเรียนรู้ใน 1 วัน สำหรับเด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ซึ่งจบระดับมัธยมศึกษา หน้าตาเป็นอย่างนี้
07.00-8.30 น. การจัดการตนเอง เช่น ออกกำลังกาย นั่งสมาธิ ไหว้พระ ทำความสะอาดโรงเรียน 08.30-12.00 น. เรียนวิชาหลักพื้นฐาน วิทย์ คณิต อังกฤษ 12.00-13.00 น. พักกลางวัน 13.00-15.00 น. กิจกรรมด้านการประกอบอาชีพ ฝึกปฏิบัติจริงในสถานประกอบการ แหล่งเรียนรู้กับผู้รู้ 15.00-16.00 น. กิจกรรมทางสังคม จิตอาสา 16.00-17.00 น. กิจกรรมนันทนาการ ออกกำลังกาย ดนตรี ศิลปะ 17.00-19.00 น. ทำงานบ้าน รับประทานอาหาร สวดมนต์
ตัวอย่างตารางการเรียนรู้ ใน 1 วัน สำหรับเด็กและเยาวชนที่มีแนวโน้มในการเรียนต่ออุดมศึกษา หน้าตาเป็นอย่างนี้07.00 น. การจัดการตนเองเตรียมไปเรียน แบ่งเบาภาระงานในครอบครัว ดูข่าว 08.00 น. สนทนากับเพื่อน ไหว้พระสวดมนต์ สร้างวินัย ความเป็นไทย home room 1 ช.ม. ก่อนเรียน หมุนเวียนตามความเหมาะสม 09.00 น-12.00 น. ภาคเช้า เรียนสาระที่จำเป็นโดยเพิ่มกิจกรรมเสริมทักษะ ทักษะชีวิตและการจัดการตนเอง การเข้าสังคม มนุษยสัมพันธ์ ทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง และทักษะการสื่อสาร กิจกรรมกลุ่มชมรม ตามความสนใจและความถนัด ค้นคว้าด้วยตนเอง นำเสนอ วิพากษ์ ใช้ ict ทำโครงงาน แนะแนวหัตถกรรม 13.00 น. ภาคบ่าย เลือกเรียนโดยเน้นปฏิบัติที่นำไปใช้ในชีวิตจริงให้เกิดทักษะติดตัว 15.00 น. กิจกรรม สาธารณประโยชน์ 16.00 น. กิจกรรมสุขภาพ ทบทวน ความรู้ ภาษา ดนตรี
ผมเอาผลงานที่เป็นรูปธรรมมาเล่าสู่กันฟัง แก่วิชาการไปหน่อยแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการระดมความคิดในเวทีระดับนานาชาติ ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะดีๆ ทั้งสิ้น จะได้เก็บไปช่วยกันคิดต่อไป โรงเรียนไหนสามารถปรับได้และเกิดผลดีต่อเด็กน่าจะเดินหน้าได้ก่อน ไม่ต้องคอยผลผลิตสำเร็จรูปจากกรรมการปฏิรูปหลักสูตรซึ่งยังไม่แน่ว่าจะจบวันไหน ก่อนถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ การเมืองจะเปลี่ยนไปเสียก่อนหรือเปล่า
ที่น่าสนใจอีกรายการคือ มุมมองของ ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ว่าด้วย ทิศทางการจัดการศึกษาไทยยุคใหม่ควรไปทางไหน อาทิตย์หน้าจะเก็บมาถ่ายทอดต่อ
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์