ลดละเมิดทางเพศ ตั้งศูนย์ร้องเรียนในสถานศึกษา
เหตุการณ์ร้ายๆ อย่าง “ล่วงละเมิดทางเพศ” เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่เว้นแม้แต่สถานศึกษา ทั้งในโรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัย ซึ่งเหยื่อส่วนใหญ่ก็เป็น “เด็กหญิง” ที่ยังไม่สามารถดูแลตัวเองได้เท่าที่ควร ในงานสัมมนา “การจัดการสถานการณ์ละเมิดทางเพศในมหาวิทยาลัย” ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทุกภาคส่วนจึงมาร่วมระดมความคิดเพื่อหาแนวทางมาตการป้องกันอย่างเป็นรูปธรรม
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากหน้าหนังสือพิมพ์ สถานการณ์การล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่กระนั้นก็ยังไม่มีมหาวิทยาลัยไหนออกมาตรการป้องกันคุ้มครองนักเรียน นักศึกษาหญิง แม้บางมหาวิทยาลัย อย่างมหาวิทยาลัยมหิดลและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมีจรรยาบรรณของมหาวิทยาลัยที่ระบุไว้ว่า ห้ามล่วงละเมิดทางเพศและมีเพศสัมพันธ์กับนักศึกษาหรือผู้อื่นที่ไม่ใช่คู่สมรส แต่ยังเป็นจรรยาบรรณที่กว้างมากและยังไม่ครอบคลุม ทั้งยังไม่มีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้อย่างชัดเจน
“จรรยาบรรณที่กำหนดก็ยังไม่มีคำนิยามที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับการตีความ และเน้นแค่อาจารย์กับลูกศิษย์ ทั้งที่ในสถานศึกษามีการละเมิดทางเพศโดยเจ้าหน้าที่ หรือแม้แต่นักศึกษาละเมิดทางเพศกันเอง จึงควรมีหน่วยงานที่มาอธิบายหรือติดประกาศว่าอะไรบ้างที่ถือเป็นการละเมิดทางเพศ”
เพื่อวางมาตรการป้องกัน พร้อมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่ “เหยื่อ” ที่ถูกละเมิดทางเพศ รศ.ดร.กฤตยาเรียกร้องให้สถานศึกษาทุกแห่งมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนเรื่องนี้
“การละเมิดทางเพศนั้นเกิดขึ้นได้ในสถานศึกษาทั่วไป ไม่ใช่แค่เพียงในมหาวิทยาลัย จึงอยากเรียกร้องให้กระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยจัดให้มีหน่วยงานหรือศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ที่มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่ละเอียดและชัดเจน ใช้ในทุกระดับการศึกษาทั่วประเทศ และอยากให้มีกฎเกณฑ์ครอบคลุมบุคคลอื่นในมหาวิทยาลัย นอกเหนือจากอาจารย์กับนักศึกษาด้วย”
สิ่งสำคัญคือการป้องกัน หากหน่วยงานชี้แจงให้เจ้าหน้าที่ นักศึกษา และผู้เกี่ยวข้องทุกคนรู้ว่าทำสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ เพราะผิดวินัย แม้บางอย่างจะไม่ผิดอาญาก็ต้องได้รับโทษ
“ที่สำคัญคือ ต้องแจ้งไว้ว่าอะไรบ้างที่ทำแล้วผิดวินัยอย่างเป็นรูปธรรม มีตัวอย่างว่าสิ่งใดเป็นการละเมิดทางเพศ เช่น อาจารย์ไปจับก้นนักศึกษาก็ทำไม่ได้ สำหรับบทลงโทษที่ผิดวินัยร้ายแรงก็ต้องไล่ออก หากเป็นนักศึกษาก็อาจจะพักการเรียน” รศ.ดร.กฤตยาทิ้งท้าย
ควบคู่กับการวางกฎระเบียบ ในภาคส่วนอื่นๆ ก็ต้องมีมาตรการเพื่อปิดโอกาสลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น เช่น มหาวิทยาลัยก็ต้องพยายามลดมุมอับ ทำพื้นที่สาธารณะให้สว่างขึ้น และควรตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนด้วย
โดยเฉพาะนักศึกษาทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ก็ต้องตระหนักรู้ที่จะดูแลตัวเอง ไม่ให้อยู่ในสถานการณ์เสี่ยง
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน