ลดปัจจัยเสี่ยง อาการ “ปวดหลัง”
กรมแพทย์เผยพบคน “ปวดหลัง” อายุน้อยลงเรื่อย ๆ แนวโน้มเพิ่มขึ้น เหตุใช้ชีวิตหักโหมทำกิจกรรมซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ไม่รักษาสุขภาพ
นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ และโฆษกกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปวดหลังเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานหนักต้องก้ม ๆ เงย ๆ อยู่เสมอ ผู้ใช้แรงงาน ผู้สูงอายุ หรือหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น ปกติอาการปวดเมื่อยบริเวณแผ่นหลังโดยไม่มีไข้จะหายได้เองใน 1 อาทิตย์ แต่ควรลดกิจกรรมที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวด เช่น ยกของหนัก เล่นกีฬา หากมีอาการปวดหลังติดต่อกันมากกว่า 1 อาทิตย์ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่ถูกต้อง เพราะอาการปวดหลังที่หลายคนคิดว่าเป็นเพียงปวดหลังธรรมดาอาจเป็นโรคร้ายแรง เช่น ติดเชื้อบริเวณกระดูกสันหลัง หรือมะเร็งกระดูก และอาจทำให้เสียชีวิตได้ ซึ่งการปวดหลังมีอาการแตกต่างกัน ดังนี้
1. อาการปวดหลังอย่างเดียว ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังจากการก้มยกของหนัก หรือการทำกิจวัตรประจำวันหนักมากเกินไป เช่น นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือขับรถเป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ปรับเปลี่ยนอิริยาบถ อาการเหล่านี้มักเกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็นยึด และหมอนรองกระดูกสันหลังเคลื่อนหรือได้รับการกระทบกระเทือน
2. การปวดหลังร่วมกับการปวดร้าวลงขาข้างใดข้างหนึ่ง มักปวดร้าวบริเวณต้นขาด้านหน้า หรือด้านหลัง ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหลังมานานและรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจทำให้ท่านั่ง ท่าเดินผิดปกติไปจากเดิม และเวลาไอ จาม อาการปวดจะกำเริบขึ้น ซึ่งเกี่ยวกับเส้นประสาท หรือรากประสาทถูกกดทับ หรือการระคายเคืองจากหมอนรองกระดูกเคลื่อนตัว และอาการปวดหลังร่วมกับอาการอ่อนแรง หรืออาการปวดร้าวลงขาเป็นระยะเพียงแค่เดินระยะใกล้ ๆ ก็มีอาการปวดจนต้องนั่งพักก่อน จึงจะเดินต่อไปได้ อาการเหล่านี้มักพบในผู้สูงอายุหากไม่รับการรักษาอาจรุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารถกลั้นปัสสาวะ อุจจาระได้
"อาการปวดหลังสามารถป้องกันด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการปวดหลัง เช่น หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หากต้องนั่งนาน ๆ ควรหาโอกาสเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ หมั่นบริหารกล้ามเนื้อหลังและหน้าท้องให้แข็งแรง ทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา และการสูบบุหรี่ เพราะสารนิโคตินในบุหรี่ทำให้หลอดเลือดหดตัว เลือดจึงไปหล่อเลี้ยงเซลล์ได้ไม่ดีส่งผลให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง” นพ.ณรงค์ กล่าว
นายแพทย์ ณรงค์ อภิกุลวณิช กล่าวว่า โรคปวดหลังสะท้อนวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบันที่ทำงานหนักจนละเลยการดูแลสุขภาพ ดังนั้น ควรใจใส่สุขภาพเริ่มจากการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ สะอาดปราศจากสารพิษ เลี่ยงอาหารที่มีส่วนผสมของผงชูรสหรือบรรดาสารสีต่าง ๆ เพราะเป็นตัวบั่นทอนความแข็งแรงของกระดูก ไม่ทำงานหนักเกินไป ไม่ควรซื้อยากินเอง ควรกินยาตามแพทย์สั่ง ไม่เครียด ทำจิตใจให้แจ่มใส และพักผ่อนให้เพียงพอจะช่วยให้ห่างไกลจากโรคได้
ที่มา : MGR online