ลดน้ำหนักอย่างไรให้ปลอดภัย

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ลดน้ำหนักอย่างไรให้ปลอดภัย thaihealth


แฟ้มภาพ


          ระยะนี้มีข่าวเรื่องอาหารเสริมลดน้ำหนัก รับประทานแล้ว มีอันตราย บางรายถึงแก่ชีวิต เนื่องจากผสมยา "ไซบูทรามีน" (Sibutramine) ที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพเจือปน โดยมีผลข้างเคียงกับคนที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ ปัจจุบัย อย. หรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไม่อนุญาตให้ใช้แล้ว หรือบางรายใช้อาหารเสริมที่ไม่ได้ผ่าน อย. แต่ขายกันทาง social media อย่างมากมาย สามารถตรวจเช็คดูว่ามีขึ้นทะเบียนไว้ไหมที่ https://oryor.com/ oryor2015/check_product.php ขอแนะนำการลด ความอ้วนให้ปลอดภัย


          ข้อมูลจาก ผศ.พญ.สุวิรากร โอภาสวงศ์ ประธานกิจกรรมการสังคม สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย และผู้อำนวยการ คลินิกสยามเดอร์มาติกส์ เปิดเผยว่า เมื่อไหร่ถึงเรียกว่าอ้วน ในปัจจุบันเกณฑ์ที่ยอมรับทางการแพทย์ จะใช้ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI (Body Mass Index) ซึ่งคำนวณโดยเอาน้ำหนัก (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง (หน่วยเป็นเมตร) หากเรามีน้ำหนัก 55 กิโลกรัม สูง 160 เซนติเมตร (1.60 เมตร) ค่า BMI = 55/ (1.60×1.60) = 21.48


          องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้คนที่มีค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ต่ำกว่า 18.5 จัดเป็นน้ำหนักตัวน้อย (Underweight) และมากกว่าหรือเท่ากับ 25 จัดเป็นน้ำหนักตัวเกิน (Overweight) และได้แบ่งความรุนแรงของน้ำหนักตัวเกิน (Overweight) เป็น 4 ระดับ สำหรับประเทศไทย มีการกำหนดค่า BMI ดังนี้


          น้อยกว่า 18 –> น้ำหนักน้อย


          18 – 22.9 –> น้ำหนักปกติ


          23 – 24.9 –> น้ำหนักเกิน


          มากกว่า 25 –> อ้วน


          ข้อจำกัดของ BMI คือใช้ประเมินในผู้ที่มีกล้ามเนื้อมาก อย่างเช่น นักกีฬาไม่ได้และในผู้ที่กล้ามเนื้อน้อยจากสูงอายุ ไม่ได้ ดังนั้นจึงไม่ควรดูค่า BMI เพียงอย่างเดียว ควรดูที่มวลไขมัน ของแต่ละคนด้วย เนื่องจากน้ำหนักตัวเป็นน้ำหนักรวมของ ทุกส่วน แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงส่วนประกอบต่างๆ ในร่างกาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องประเมินว่าปริมาณไขมันที่มีอยู่ในร่างกายนั้นมากน้อยแค่ไหน บางคนที่มีกล้ามเนื้อมาก อาจพบว่า น้ำหนักเกินกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งนี้เพราะน้ำหนักของกล้ามเนื้อมีมากกว่าไขมันถึง 7 เท่า ในกรณีที่มีมวลเท่ากัน และประเด็นสำคัญที่เราต้องการลดน้ำหนัก คือลดไขมันส่วนเกิน โดยไม่ลดกล้ามเนื้อ กระดูกและน้ำ


          ลดน้ำหนักอย่างไรให้ปลอดภัย


          เมื่อน้ำหนักเราเกิน ก็ถึงวิธีที่จะลดน้ำหนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่อาจจะทำได้ยากมาก ต้องมีความตั้งใจแน่วแน่ อาจจะตั้งเป้าหมายว่าจะลดกี่กิโล ในเวลาเท่าไหร่ ถ้าได้อาจจะต้องมีรางวัลให้ตัวเอง แต่การลดไม่ควรให้ลดเร็ว ตามมาตรฐานที่ควรจะเป็น คือ 0.5 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ ถ้ามากกว่านี้เมื่อหยุดควบคุมน้ำหนักมักจะดีดกลับ หรือมีโยโย่นั่นเอง สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ


          1.ควบคุมอาหาร ในการลดน้ำหนักการควบคุมอาหารเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด ไม่ว่าจะลดโดยใช้ยาหรือไม่ใช้ยา ถ้าคุมอาหารผิดๆ จะก่อให้เกิดอันตรายมากกว่าดี เพราะจะทำให้สุขภาพทรุดโทรมลง ดังนั้นควรรับประทานอาหารให้ครบสัดส่วนแต่ปริมาณน้อยลง 20% ไม่ควรจะงดอาหารเป็นมื้อ เพียงแต่รับประทานอาหารเย็นให้น้อยลง ไม่รับประทานมื้อดึก หรือรับประทานแล้วนอนเลย รับประทานอาหารวันละหลายมื้อ แต่ประมาณน้อยๆ จะดีกว่ารับประทานวันละมื้อสองมื้อ แต่มื้อละมากๆ


          นอกจากนี้การรับประทานอาหารให้ตรงเวลาจะทำให้ร่างกายปรับสมดุลและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย เวลาเรารับประทานอาหารทุกครั้งจะมีฮอร์โมนอินซูลินที่ควบคุมน้ำตาลปล่อยออกมา ถ้าไม่รับประทานให้ตรงเวลาเมื่อฮอร์โมนทำงานก็อาจทำให้เรารู้สึกโหยๆ มือสั่น อยากรับประทานของหวานๆ และเมื่อยิ่งกินของหวานก็ยิ่งอ้วน ดังนั้นควรกินอาหารให้ตรงเวลาดีที่สุด เทคนิคที่ใช้ได้ผลดีคือการรับประทานช้าๆ เคี้ยวช้าๆ จะทำให้รับประทานได้น้อยลง เมื่อตักเข้าปากเคี้ยวให้ละเอียดอย่างน้อยเคี้ยวให้ได้ 15 ครั้ง แต่ถ้าทำได้เคี้ยวคำละ 32 ครั้ง จะดีเยี่ยม แล้วค่อยกลืน สังเกตได้ว่าคนที่เคี้ยวเร็วๆ รับประทานเร็วๆ ส่วนใหญ่จะอ้วนง่าย


          2.ออกกำลังกาย ถ้าอยากรับประทานอาหาร ทำให้ได้รับ แคลอรี่เกินเท่าไหร่ การออกกำลัยกายเพื่อให้แคลอรี่ สมดุลก็ไม่ทำให้อ้วน การออกกำลังกาย ไม่ได้หมายความว่า จะต้องเข้าฟิตเนส ต้องออกวิ่ง ว่ายน้ำหรือเล่นกีฬา แค่ปรับพฤติกรรมเริ่มแรกเพื่อการลดน้ำหนักก็จำเป็นที่จะต้องใช้พลังงาน ให้มากขึ้น เช่น เปลี่ยนจากขึ้นลิฟท์มาเป็นขึ้นบันได และเดินไปไหน มาไหนให้มากขึ้น ต้องมีความกระฉับกระเฉงและตื่นตัวที่จะเคลื่อนไหวมากขึ้น จากนั้นค่อยๆ พัฒนาสู่การออกกำลังกาย เป็นกิจจะลักษณะ ในหนึ่งสัปดาห์ขอให้ออกกำลังกายอย่างน้อย วันเว้นวัน และทำให้ได้ครั้งละ 2-30 นาที หรือ การแกว่งแขน ลดพุง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขรณรงค์ก็ช่วยได้เช่นกัน


          3.ตัวช่วยในการลดไขมันส่วนเกินและส่วนสัด ปัจจุบัน มีอาหารเสริมมากมายที่โฆษณาว่าสามารถลดน้ำหนักได้ คุณสมบัติของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จะช่วยลดการดูดซึมของแป้งและไขมัน ช่วยการเผาผลาญอาหาร ช่วยให้เกิดความรู้สึกอิ่ม เช่น พวกไฟเบอร์ ช่วยลดความอยากอาหารและช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อ หรือบางชนิดเพิ่มการขับถ่าย ทั้งปัสสาวะ อุจจาระ ก่อนเลือกซื้อต้องดูว่าต้องมีเลข อย. ถูกต้อง และถึงแม้ว่ามีเลขถูกต้องก็ไม่ใช่จะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์เพราะหากเรามีปัญหาสุขภาพอยู่แล้วยาหรืออาหารเสริมบางชนิดอาจมีผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ อย่าซื้อยาลดความอ้วนมาใช้เอง เด็ดขาด หรือถ้าไปรักษาตามคลินิกควรจะสอบถาม ชื่อ ยา กลไก การออกฤทธิ์ และผลข้างเคียง จดชื่อยาที่รับประทาน เพราะ บางครั้งยาที่รับประทานอาจจะไปออกฤทธิ์ เสริม หรือต้านกับ ยาอื่นที่เราอาจจะได้ ทำให้มีผลข้างเคียง ยาลดความอ้วนบางชนิด ถ้าทานต่อเนื่องนานๆ อาจทำให้มีประสาทหลอนได้


          ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งหากจำเป็นต้องใช้ยาลดน้ำหนักทุกครั้ง การลดแบบค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจะเป็นวิธีที่ยั่งยืนกว่า

Shares:
QR Code :
QR Code