ลดธูป ลดเทียน เวียนต้นไม้ สร้างอากาศดี สู่ประเพณีเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน

เรื่องโดย : พงศ์ศุลี จีระวัฒนรักษ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก : งานเวียนเทียนด้วยต้นไม้ ในวันมาฆบูชา 2567 ณ วัดอรุณราชวราราม  24 กุมภาพันธ์ 2567

ภาพโดย ฐิติชญา สัมปุรณะพันธุ์ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ

                    ต้นไม้ มีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องในพุทธประวัติหลายชนิด ทั้งที่เป็นสถานที่ทรงประสูติ ตรัสรู้ แสดงธรรม และ ปรินิพพาน จากพุทธประวัติ ทรงประทับในป่ามากกว่าที่อื่นใด ดังนั้นต้นไม้หลายชนิดจึงมีความหมายต่อชาวพุทธและพระพุทธศาสนา อย่างมีนัยสำคัญมิใช่น้อย

                    ทรงประสูติ ใต้ต้นสาละ ณ อุทยานลุมพินี ทรงตรัสรู้ ภายใต้ร่มเงาของต้นพระศรีมหาโพธิ  จากนั้น ทรงดำเนินสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี และ ปรินิพพาน ใต้ต้นสาละ ณ สาลวโนทยาน กรุงกุสินารา

                    ดังนั้น ปรากฎการณ์ในสมัยพุทธกาล วันมาฆบูชา ตรงกับ 15 ค่ำ เดือน 3  จึงเป็นวันสำคัญยิ่งของระพุทธศาสนา ที่พระภิกษุ 1,250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ ป่าอิสิมฤคทายวัน  และ มาถึงปัจจุบันชาวพุทธต่างยังร่วมกันทำบุญ ตักบาตร รักษาศีล เจริญภาวนา และเวียนเทียนรอบพระอุโบสถเช่นทุกปี

                    ในวันมาฆบูชา 2567 ที่จัดขึ้น ณ วัดอรุณราชวราราม เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 พระวชิรรัตนาภรณ์, ดร. ผู้รักษาการเจ้าคณะแขวงวัดอรุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเลขานุการวัดอรุณราชวราราม นอกจากจะกล่าวถึงความสำคัญดังกล่าวแล้ว ยังเชิญชวนพุทธศาสนิกชน “เวียนเทียนต้นไม้” แทนการจุดธูปเทียน ให้เกิดเป็นวัฒนธรรมแบบรักษ์โลก สามารถนำไปปลูกต่อเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้โลกได้

                    “ นอกจากจะลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้แล้ว ยังเป็นการระลึกถึงบุญคุณต้นไม้ ที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ยึดถือเป็นสิริมงคลกับชีวิตได้อีกด้วย ผู้ช่วยเจ้าอาวาสและเลขานุการวัดอรุณราชวราราม กล่าว

                    ขานรับจาก ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. “โดยปกติแล้วแต่ละสังคมศาสนามักมีธูปเทียนเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ในความเชื่อที่สื่อสารความหมายถึงการแสดงความเคารพบูชาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ 

                    ซึ่งในทางกลับกัน ผู้จุดธูปได้รับผลกระทบจากการสูดดมกลิ่นควันโดยตรง โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุรวมไปถึงกลุ่มคนเปราะบางตามมาโดยไม่รู้ตัว ดังนั้น การให้ความตระหนักรู้ถึงการป้องกันคู่กันไปกับความเชื่อถือศรัทธาในวิถีวัฒนธรรมประเพณียังคงเดิม จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ

                    อ้างอิงจากข้อมูลควันธูปกับมะเร็ง โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า ธูป 1 ดอก สามารถก่อฝุ่น PM2.5 ได้มากถึง 2-10 เท่าของฝุ่นที่มีอยู่แล้วในอากาศ และขณะที่ผู้กำลังจุดธูปจะได้รับผลกระทบโดยตรงนี้ด้วยเช่นกัน

                    อีกข้อเท็จจริงที่สอดคล้องกับข้อมูลของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ที่พบว่า การจุดธูปเพียง 1 ดอก และสูดควันเข้าไป จะเท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญอีกหนึ่งข้อที่ทำให้เกิดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ (NCDs) อีกด้วย

                    ดังนั้นการที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) วัดอรุณราชวรารามวรมหาวิหาร มูลนิธิปลูกต้นไม้ ปลูกธรรมะ และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมสานพลังสร้างความเชื่อใหม่ เพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศในงานเวียนเทียนด้วยต้นไม้ จึงเป็นแนวทางทำบุญที่เกิดประโยชน์ 2 ต่อ ไม่เพียงระลึกถึงบุญคุณต้นไม้ที่มีความสำคัญในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ยังช่วยลดฝุ่น เพิ่มพื้นที่สีเขียวได้

                    เห็นได้ว่าในงานเวียนเทียนวันมาฆบูชา ณ วัดอรุณราชวราราม วันนั้นเป็นการนำร่องโดยต้นไม้แต่ละชนิดที่นำมาใช้เวียนเทียน มีทั้งไม้ยืนต้น ไม้ดอก ไม้พุ่ม ไม้ประดับมากมาย อาทิ ทองอุไร ทองนพเก้า ประดู่ป่า ล้วนมีคุณสมบัติในการดูดซับมลพิษที่ดี ควรขยายผลความร่วมมือทุกวัดใช้ต้นไม้เวียนเทียนทุกวันสำคัญทางศาสนาต่อไป

                    อย่างไรก็ตามในทางจิตวิทยา ดร.ชาติวุฒิ กล่าวว่า สีเขียวของต้นไม้ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย ร่มเย็น ใจเย็นได้ สอดคล้องกับการทำบุญ ทำจิตใจให้ผ่องใส รู้สึกเบิกบานได้ การผลักดันการเวียนเทียนด้วยต้นไม้ หากสร้างเป็นประเพณีเพื่อให้ผู้คนคุ้นชิน ไม่รู้สึกเป็นเรื่องแปลก ถือการสร้างบุญแก่ชาวโลกเช่นกัน

                    การทำบุญเป็นเรื่องของจิตใจ ซึ่งหัวใจหลักของการทำบุญให้ได้บุญ คือ ไม่เพียงต้องดูแลสุขภาพของตนเองแล้วยังควรต้องดูแลสุขภาวะผู้อื่น ซึ่งหมายรวมถึงผลกระทบทางสุขภาพด้วยเช่นกัน ดังนั้น การสร้างวิธีคิดใหม่ สร้างกระแสการทำบุญแบบใหม่ที่ไม่สร้างผลกระทบ และลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้

                    “ตัวอย่างนำร่องการใช้ต้นไม้เวียนเทียน แทนการใช้ธูปเทียนในพิธีเพื่อดูดซับมลพิษ และการคืนอากาศบริสุทธิ์ให้กับทุกคนได้พบกับความสุข จึงเป็นทางออกหนึ่งของปัญหาฝุ่น PM2.5  ” ดร.ชาติวุฒิ กล่าว

                    สอดรับกับ พล.ร.อ.ประพฤติพร อักษรมัต รองประธานกรรมการ มูลนิธิปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ กล่าวว่า “มูลนิธิปลูกต้นไม้ปลูกธรรมะ มีเป้าหมายส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชน ทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา ด้วยการปลูกต้นไม้ พร้อมดูแลต้นไม้ให้เติบโต อาจนำต้นไม้มาจากบ้านหรือมารับในงาน จึงเป็นโอกาสที่ดีในการยกระดับการทำบุญปลูกต้นไม้สู่ประเพณีปฏิบัติต่อไป ”

                    สสส.มุ่งมั่นสร้างความตระหนักรู้ถึงการดูแลป้องกันภัยต่อการมีสุขภาพที่ดี ควบคู่กันไปกับความเชื่อถือศรัทธาในวิถีวัฒนธรรมประเพณีที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบันและอนาคต  

Shares:
QR Code :
QR Code