ลดดื่ม ลดเมา สวดมนต์ข้ามปีใหม่
ลดดื่ม ลดเมา สวดมนต์ข้ามปีใหม่ ความสุขที่คุณเริ่มได้ส่งต่อปลอดภัยต่อคนอื่นด้วย
เข้าใกล้สิ้นปี บรรยากาศสนุกสนานในเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เริ่มอบอวล แต่ในช่วงแห่งความสุขนี้ กลับมีตัวเลขจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า เทศกาลปีใหม่ 2558 ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. 2557 – 5 ม.ค. 2558 เกิดอุบัติเหตุทางถนน 2,997 ครั้ง เสียชีวิต 341 คนและบาดเจ็บถึง 3,117 คน โดยสาเหตุหลักเกิดจากการดื่มสุราคิดเป็นร้อยละ 37
เกี่ยวกับเรื่องนี้ สุรสิทธิ์ ศิลปะงาม ผู้จัดการเลขามูลนิธิเมาไม่ขับ เผยว่า การรณรงค์เรื่องอุบัติเหตุดำเนินการมากกว่า 12 ปี โดยเฉพาะช่วง 7 วันอันตราย ซึ่งหากค้นข้อมูลย้อนหลังกลับไปประมาณ 4 ปี อัตราการเกิดอุบัติเหตุไม่ได้ลดลงมากนัก และสาเหตุหลักยังเกิดขึ้นจากการดื่มแล้วขับ และไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแม้ว่าจะมีกฎหมายลงโทษเข้มงวดก็ตาม นับว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องช่วยกันแก้ไข
เป็นที่มาของมาตรการ "เมา ขับ จับ ขัง" ในช่วง 7 วันอันตราย ในโครงการรณรงค์ "ดื่มแล้วขับ นับเป็นฆาตกร" ที่ สำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมกันคิดและพร้อมเสนอกับทางภาครัฐ ในการรณรงค์และสร้างจิตสำนึกที่ดีให้กับผู้ขับขี่ยานพาหนะ เพื่อลดอุบัติเหตุและสร้างความปลอดภัยทางท้องถนน โดยทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง ซึ่งหากมีการกำหนดใช้มาตรการดังกล่าวได้จริง คาดจะช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และมีผู้เสียชีวิตลดลงเหลือเพียง 200 คน ในช่วง
เทศกาลปีใหม่ 2559
ขณะที่เสียงสะท้อนของผู้ประสบเหตุจากคนดื่มแล้วขับอย่าง สัณห์ สอนรักษ์ บอกว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับตนทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปตลอดกาล เพราะต้องกลายเป็นผู้พิการต้องนั่งวีลแชร์ ความฝันว่าจะเป็นวิศวกรก็จบลง ตนอยากบอกผู้ที่ดื่มแล้วขับว่าเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลร้ายแรงต่อผู้ขับขี่และคนบนท้องถนนโดยตรง เป็นการกระทำไม่รับผิดชอบต่อสังคม เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นไม่ใช่แค่ผู้ประสบเหตุเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ แต่ส่งผลต่อครอบครัวและคนรอบข้าง "ผมอยากให้เกิดการรณรงค์อย่างแพร่หลาย ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชนให้ความร่วมมืออย่างจริงจัง ยิ่งในช่วง 7 วันอันตราย อย่างเทศกาลปีใหม่ อยากฝากถึงผู้ขับขี่ทุกคน ควรนึกถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นด้วย ก่อนขับขี่ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ตรวจสภาพรถทุกคัน และที่สำคัญคือ ไม่ควรดื่มสุรา" สัณห์ กล่าว
ขณะที่ เครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ และเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์ รวมถึง เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกให้กระทรวงมหาดไทยเร่งรัดไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อออกคำสั่งให้แต่ละหน่วยงานปฏิบัติตามพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 จัดงานปีใหม่ปลอดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการจัดเลี้ยงปีใหม่ในสถานที่ราชการ ตลอดจนการรณรงค์ให้จังหวัดทั่วประเทศจัดกิจกรรมสวดมนต์ข้ามปีแทนการดื่มเหล้าฉลอง
ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.) กล่าวว่า เพื่อให้ทันต่อการรับมือเทศกาลปีใหม่อย่างปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สิน ยับยั้งสถิติความสูญเสียต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากเทศกาลปีใหม่ของทุกปีเป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางมากที่สุดเพราะมีวันหยุดยาว และจากการเฝ้าระวังในปีที่ผ่านมา พบว่าหลายหน่วยงานมีการดื่มเหล้าเบียร์เฉลิมฉลองโดยใช้พื้นที่ราชการ ซึ่งผิดกฎหมายชัดเจน ดังนั้นจึงขอให้กระทรวงเข้มงวดนำ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีฉบับใหม่ มาบังคับใช้อย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้การทำผิดกฎหมายเกิดขึ้นซ้ำรอยอย่างที่ผ่านมา
เชื่อว่า..เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่จะเต็มไปด้วยความสุขและรอยยิ้มอย่างแท้จริงได้ แค่เริ่มจาก "ตัวเรา" งดดื่มแอลกอฮอล์เมื่อต้องขับรถ หรือเริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการสวดมนต์เสริมสิริมงคล
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์