ลงมือทำกันจริงๆ
ประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศที่ติดกลุ่มประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุในระดับที่น่าห่วงอันเกิดจากเหตุปัจจัยแวดล้อมมากมายดังที่รู้และเห็นกันเป็นประจำ
อันดับต้นๆ ของสาเหตุมาจากเมาแล้วขับขี่ เมาแล้วใช้รถใช้ถนนเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ที่ส่วนใหญ่มักเฉลิมฉลองกันด้วยน้ำเมา อย่างปีใหม่ สงกรานต์ การฉลองตำแหน่ง ความสำเร็จต่างๆ แม้เพียงเล็กน้อย การเที่ยวเตร่กลางคืน เป็นต้น
การเสียชีวิตและบาดเจ็บด้วยอุบัติเหตุที่เกิดจากความประมาท ทั้งการใช้ความเร็ว ทั้งถนนที่ไม่สมบูรณ์ กระทั่งการไม่เคารพกฎจราจรจนนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุจนเป็นที่มาของสถิติ “คนไทยเสียชีวิตวันละ 30คน จากอุบัติเหตุกลุ่มที่เสียชีวิตสูงที่สุด คือ เด็กและเยาวชน”การสูญเสียใคร คนใด คนหนึ่งในครอบครัวไปเป็นเรื่องใหญ่แน่นอน โดยเฉพาะการสูญเสียเพราะอุบัติเหตุนี่ไม่ได้รวมการสูญเสียทางเศรษฐกิจ
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.) ร่วมกับมูลนิธิไทยโรดส์ ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ร่วมมือกันจัดแถลง “11ดัชนี ชี้วัดตัวการคร่าชีวิตคนไทยบนท้องถนน สู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time For Action”
โดยในช่วงปลายเดือนสิงหาคมจะมีการจัดงานสัมมนาระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งที่ 10ที่ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมนานาชาติกรุงเทพฯ ไบเทค บางนา เพื่อเน้นการมีส่วนร่วม ลดการตายให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายใน 10ปี
หลักการที่น่าจะเน้นในการสัมมนาคือ รณรงค์ให้ “ลงมือทำกันจริงๆ” ไม่ใช่แค่คิดแค่พูด
ความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เป็นเรื่องที่ป้องกันและลดความสูญเสียลงได้ถ้าทุกฝ่ายทุกคนตระหนักถึงความสำคัญ ช่วงเวลา 10ปี น่าจะลดได้ไม่น้อยอย่างแน่นอนแต่นั่นประเทศไทยต้อง “ลงมือทำ” โดยใช้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายในสังคมไทย เพื่อระดมงบประมาณและทรัพยากรรณรงค์สร้างสำนึกไม่ให้ผู้ขับขี่ใช้รถใช้ถนนตั้งอยู่ในความประมาทเช่นขับขี่มอเตอร์ไซค์ต้องใส่หมวกกันน็อคอันจะนำไปสู่การลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุลงได้
มติครม. เมื่อวันที่ 4ม.ค.54ประกาศให้ปี 2554เป็นปีแห่งการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยและให้หน่วยงานภาครัฐทุกแห่ง กำหนดให้บริเวณสถานที่ราชการ เป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัย 100%ให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดแจ้งให้หน่วยงานในพื้นที่ร่วมมือย่างเคร่งครัด
สอดคล้องกับปฏิญญามอสโก ในเรื่องการป้องกันความสูญเสียจากอุบัติเหตุที่มีกรอบประกอบด้วย 5เสาหลัก เพื่อเป็นแนวทางการทำงาน คือ 1การบริหารจัดการ 2ความปลอดภัยด้านยานพาหนะ 4ด้านสมรรถนะและพฤติกรรมผู้ขับขี่ และ 5ด้านการช่วยเหลือรักษา และไทยยังได้ประกาศให้ตั้งแต่ปี 2554-2563เป็นทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุให้ต่ำกว่า 10คน ต่อประชากร 1แสนคน
ดัชนีชี้วัดความปลอดภัยทางถนน 11ด้าน จะมีการตีแผ่อย่างละเอียดในงานสัมมนาระดับชาติดังกล่าวภายใต้หัวข้อ “สู่ทศวรรษแห่งการลงมือทำ : Time For Action”
การสัมมนาดังกล่าวน่าจะกระตุ้นให้เกิดการตระหนักถึงการลดความเสียหายจากอุบัติเหตุได้อย่างจริงจังเพื่อนำความสุขมาสู่ครอบครัวและสังคมลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นมีสติในการขับขี่ สวมหมวกนิรภัยและคาดเข็มขัดนิรภัยเมื่อต้องขับขี่รถ
แต่นั่นหมายถึงว่าไม่ใช่คิดต้องลงมือทำกันจริง
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ