ลงพื้นที่ “ฉะเชิงเทรา” ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ครบวงจร

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข


 


สสส.หนุนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจ.ฉะเชิงเทรา ต้นแบบ “เกษตรอินทรีย์ครบวงจร” ภูมิภาคตะวันออก ชู อาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ ระบบกระจายผลผลิตถึงมือผู้บริโภค สร้างความมั่นคง ส่งเสริมระบบนิเวศน์อาหารยั่งยืน


เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ อ.สนามชัยเขต จ.ฉะเชิงเทรานพ.ปัญญา ไข่มุก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแผนคณะที่5 และคณะกรรมการกำกับทิศทางแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำคณะกรรมการฯ สื่อมวลชน ลงพื้นที่โครงการติดตามและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภาคีเครือข่ายอาหารจังหวัดฉะเชิงเทรา


นพ.ปัญญา กล่าวว่า ทิศทางการดำเนินงานภายใต้แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ ในกลุ่มแผนงานความมั่นคงทางอาหารและความปลอดภัยในระบบอาหารนั้น สสส.ให้การสนับสนุนเกษตรอินทรีย์ที่ส่งเสริมการเชื่อมโยงของระบบอาหาร จากการผลิตถึงการกระจายสู่ผู้บริโภค โดยเน้นที่ความมั่นคงของครอบครัว และชุมชนฐานเกษตร ความหลากหลายทางพันธุกรรม การพัฒนาระบบความสัมพันธ์ของผู้ผลิตกับผู้บริโภค การพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของผักผลไม้ ตลาดสีเขียว กิจการเพื่อสังคมที่ส่งเสริมระบบนิเวศน์อาหารยั่งยืน ฯลฯ สำหรับกลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขตที่ถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งและมีความมั่นคงทางอาหารในระบบเกษตรอินทรีย์ มีจุดเด่นด้านการส่งเสริมการผลิต และระบบการบริหารจัดการผลผลิต ผัก ข้าว อินทรีย์ ครบวงจรตลอดทั้งห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การผลิต การบริการจัดการผลผลิต และการจัดการด้านการตลาด เป็นต้นแบบของพื้นที่ในโซนภาคตะวันออก ทั้งนี้สุดท้ายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้บริโภคผักผลไม้อย่างเพียงพอ สามารถการเข้าถึงแหล่งผลิต แหล่งจำหน่าย และแหล่งให้บริการผักผลไม้ที่ปลอดภัยได้อย่างสะดวก รวมทั้งให้ประชาชนมีทักษะและค่านิยมในการปลูกเพื่อบริโภค


ลงพื้นที่ “ฉะเชิงเทรา” ต้นแบบเกษตรอินทรีย์ครบวงจร thaihealth


แฟ้มภาพ


นางสาวพลูเพ็ชร สีเหลืองอ่อน ผู้ประสานงานและกรรมการรับรองฟาร์มฝ่ายส่งเสริมของกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อ.สนามชัยเขต กล่าวว่า กลุ่มเกษตรอินทรีย์สนามชัยเขต ดำเนินงานภายใต้เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดฉะเชิงเทรา มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้ผลิตผ่านระบบสมาชิกมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มปรับระบบการผลิตทางการเกษตรเข้าสู่ระบบการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์อย่างยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับการจัดตั้งระบบควบคุมการผลิตภายในกลุ่มและการขอรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล ปัจจุบันมีสมาชิกคลอบคลุมจังหวัดฉะเชิงเทราและปราจีนบุรีรวมกว่า 418 ราย โดยมีเป้าหมายเพิ่มสมาชิกเป็น 500 รายภายในปี 2560 และขยายสมาชิกไปยังพื้นที่ใกล้เคียงในเขตภาคตะวันออก ในพื้นทีี่ จ.นครนายก สระแก้ว ด้วย


ทั้งนี้เครือข่ายฯ มีแนวทางการทำงานในการความสำคัญในการส่งเสริมการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์แบบหลากหลายและอนุรักษ์พันธุกรรมพืชท้องถิ่น พัฒนาระบบการผลิตโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบโรงเรียนเกษตรกรเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งวางแผนและจัดการตลาดผลผลิตด้วยการประกันราคารับซื้อ การกระจายสินค้าไปยังชุมชน โรงเรียน โรงพยาบาล ร้านอาหารสุขภาพ ตลาดนัดสีเขียวและเลมอนฟาร์ม โดยจะมีการขยายเพิ่มเครือข่ายไปยังประมงขนาดเล็ก เพื่อผลิตอาหารทะเลปลอดภัยในอนาคต ทั้งนี้ การทำเกษตรอินทรีย์ถือเป็นการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยให้เกิดการวมกลุ่ม มีโอกาสเรียนรู้การผลิตร่วมกันที่มีขนาดใหญ่ มีการอุดหนุนซึ่งกันและกัน เป็นเครือข่ายที่สร้างความมั่นคงทางอาหารที่มีความหลากหลาย


“เครือข่ายฯ ของเราไม่ได้มุ่งเน้นการผลิตหรือขายอย่างเดียวเท่านั้น เพราะผู้ผลิตกับผู้บริโภคถือเป็นคนคนเดียวกันที่ควรเข้าถึงอาหารปลอดภัยที่เพียงพออย่างเกื้อกูลกัน จึงมีการกำหนดราคาผัก ผลไม้ ข้าวในราคาที่เป็นธรรม โดยราคาจะไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแต่คำนวณตามต้นทุนการผลิตที่เป็นจริง ซึ่งไม่ได้แพงกว่าราคาผลผลิตเกษตรที่ใช้สารเคมี พร้อมกับทำการตลาดที่สร้างความสัมพันธ์กับผู้บริโภคเหมือนเป็นพี่น้อง”นางสาวพลูเพ็ชร กล่าว

Shares:
QR Code :
QR Code