ลงทุนในเด็ก สิทธิที่เด็กควรได้
ข้อมูลจาก เวทีเสวนา “ความรุนแรงในครอบครัว กับอนาคตเด็กไทยที่ขาดแคลนการลงทุน”
ภาพโดย: Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
วันของเด็ก ไม่เฉพาะ “วันเด็กแห่งชาติ” ที่จัดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กไว้มากมายในทุก ๆ ต้นปี แท้จริงในทุกวันควรเป็นวันของเด็ก วันที่มีการเปิดพื้นที่กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็ก วันที่สามารถเปิดรับข้อมูลหรือเติมส่วนบกพร่องของเด็กให้เต็ม จึงไม่ควรมีเพียงวันใดวันหนึ่ง และเด็กควรเป็นเจ้าของความคิด สิทธิในการเลือกจะเติบโต
เวทีเสวนา “ความรุนแรงในครอบครัว กับอนาคตเด็กไทยที่ขาดแคลนการลงทุน” ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง น้องเอ (นามสมมุติ) วัยรุ่นชาย อายุ 16 ปี จากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก เล่าว่า เปรียบชีวิตตัวเองเหมือนลูกฟุตบอล ถูกเตะไปมาจากคนในครอบครัว ทั้งที่ควรเป็นสถาบันหลักช่วยโอบอุ้ม ย้อนไปในวัยเด็กเพียง 3 วันที่ลืมตาดูโลก พ่อแม่แยกทางกัน ถูกเลี้ยงดูโดยย่า ตามคำบอกเล่า อาศัยอยู่ที่ชุมชนแออัดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ขึ้นชื่อ “เรื่องยาเสพติด” ชีวิตที่โตมาท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่สุ่มเสี่ยง พ่อทำหน้าที่แค่เพียงส่งเสียค่าใช้จ่าย ทำให้ย่ามีความคิดผลักดันน้องเอ ที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น หัวเลี้ยวหัวต่อจากเด็กประถมศึกษาเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นให้ไปอยู่ต่างจังหวัดกับพ่อ เพราะคิดว่าปลอดภัยจากยาเสพติด แต่ไม่นานก็ถูกส่งกลับมาอยู่บ้านที่กรุงเทพฯ กับอา ซึ่งพ่อก็ยังทำหน้าที่ส่งค่าเลี้ยงดูเหมือนเดิม เมื่อรู้สึกถึงความไม่ใส่ใจในชีวิตจากคนในครอบครัว น้องเอจึงหันหน้าหาเพื่อน
“ที่บ้านไม่มีใครใส่ใจพูดคุย ทุกคนออกไปทำงานหมด กลับมาบ้านไม่เจอใคร เคยเรียกร้องความสนใจจากคนในครอบครัว ด้วยการทำลายข้าวของ ขว้างปาโทรศัพท์มือถือ หวังคนที่บ้านถามไถ่ แต่ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สักพักก็ซื้อให้ใหม่ ชีวิตจึงกลายเป็นคนติดเพื่อน ไม่กลับบ้าน นอนบ้านเพื่อน เริ่มลอง กัญชา กระท่อม ประกอบกับพื้นฐานไม่มีคนใส่ใจ จึงแสดงออกด้วยอารมณ์ที่รุนแรง สุดท้ายก่อเหตุทำร้ายคู่กรณี ถูกจับดำเนินคดีในข้อหาทำร้ายร่างกาย และพยายามฆ่าผู้อื่น ด้วยความเป็นเยาวชน จึงถูกส่งมาอยู่บ้านกาญนาภิเษก” น้องเอ กล่าว
ปัจจุบันน้องเอ ยังเหลือระยะเวลาอีก 1 ปี 5 เดือน ภายในบ้านพักกาญจนาภิเษก แม้ช่วงแรกที่เข้าไปจะปรับตัวไม่ได้ ก่อเรื่องทะเลาวิวาท แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปในชีวิต คือ ได้พบกับครูที่คอยถามไถ่ และมีคนมองเห็นแสงสว่างในเงามืด และไม่ถูกมองเป็นเด็กร้ายกาจอีกต่อไป
อย่างไรก็ตามตั้งใจว่า หากพ้นโทษ จะกลับไปจะตั้งใจเรียนหนังสือ ที่ผ่านมาเพิกเฉยการเรียน ประกอบกับช่วงโควิด จึงขอที่บ้านดรอปเรียนไว้ ทำให้หลุดกรอบการศึกษา
“หากย้อนเวลาไปได้ก็ขอโทษคู่กรณีด้วย และทุกวันนี้ก็เข้าใจพ่อมากขึ้น และมองว่าพ่อในวันนั้นก็เหมือนผมในวันนี้ ยังเด็กเกินไปที่จะมารับผิดชอบ และไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร” น้องเอ กล่าว
ไม่ต่างจาก นายภานุเดช สืบเพ็ง ที่เล่าเรื่องราวชีวิตวัยเด็ก ว่า พ่อแม่เลิกกันตั้งแต่จำความได้ ประกอบกับพ่อทำงานก่อสร้าง ติดสุรา จึงเร่ร่อนตามพ่อไปทำงานในที่ต่าง ๆ ทำให้ตนเอง พี่สาว และน้องชาย ต้องพึ่งพาอาศัยขอข้าวปลาอาหารจากวัดกิน บ่อยเข้า พลเมืองและเจ้าหน้าที่ตำรวจรับตัวส่งให้มูลนิธิฯ ดูแล ตอนแรกพ่อยังคงมาเยี่ยมไปมาหาสู่ แต่นานวันก็ค่อย ๆ หายไป จนไม่ได้พบกันอีกเลยในที่สุด
ช่วงเวลาวัยเด็ก เจ็บปวดที่สุด เมื่อถูกเพื่อนล้อ ว่าเป็นเด็กกำพร้า ทั้งที่เคยมีพ่อแม่ จนเกิดเรื่องชกต่อยในโรงเรียน แม้จะเรียนไม่เก่ง แต่ก็พยายาม จนเรียนจบปริญญาตรีและทำงานได้ และได้ทำตามความฝันที่ตั้งใจร่วมกับพี่น้อง คือการออกติดตามหาแม่ จนในที่สุดไปพบ และได้มีโอกาสช่วยเหลือแม่ แต่ก็ถึงกับจุกอก เมื่อคำพูดของแม่บอกว่า “ในวันนั้น แม่ตั้งใจที่จะทิ้งพวกเค้าทั้ง 3 คนไป”
“นี่หรือสิ่งที่เราโหยหามาทั้งชีวิต กลับไม่ใช่สิ่งที่เราคิดมาตลอดว่า ถ้ามีแม่ชีวิตพวกเราคงน่าจะดีกว่านี้ ไม่ได้โทษแม่ แต่พยายามคิด และกลับมายืนหยัดด้วยตนเอง ด้วยทัศนคติที่ดีว่า เราโชคดีแค่ไหน ที่ได้ยังมีโอกาสเรียนหนังสือ และมีงานทำ อยากฝากหน่วยงานรัฐว่า เด็กแต่คนละเติบโตมาไม่เหมือนกัน บางคนพร้อม บางคนขาด จึงอยากให้โอกาสกับเด็กมากๆ” นายภานุเดช กล่าว
ด้าน นางทิชา ณ นคร ผู้อํานวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า กลไกสร้างความเปลี่ยนแปลงในเด็ก เริ่มได้จากการมองบวก ค้นหาด้านสว่างเด็ก สนใจพื้นฐานด้านสว่างและส่งเสริมให้แสงนั้นสว่างมากยิ่งขึ้น ไม่ต้องสนใจด้านมืด เป็นหลักพื้นฐานการดูแลเด็ก เพราะไม่มีเด็กคนไหน ดีน่ารักตลอดเวลา ต่างมีช่วงเวลาดี และช่วงเวลาร้ายกาจกันทั้งนั้น พร้อมสนับสนุนให้เกิด Empower เสริมพลังอำนาจให้กับพ่อแม่โดยให้พ่อแม่ได้เรียนรู้และเข้าใจการดูแลเด็กที่ถูกต้องก่อน
ส่วนการลงทุนในเรื่องเด็ก ภาครัฐควรเริ่มคิดค้นออกแบบโปรแกรม หรือนวัตกรรมเชิงรุก ฉวยจังหวะที่ประชากรไทย น้อยลงเหลือแค่ อัตราเกิด 450,000 คนต่อปี มาสร้างเยาวชนที่มีคุณภาพ เพราะถือว่าเป็นโอกาสดี ทำง่าย เริ่มตั้งแต่ก่อนมาเป็นครอบครัว พ่อแม่ เพราะบางคนเป็นได้คู่รัก ไม่มีความคิด หรือรับผิดชอบที่จะเป็นพ่อแม่ เซ็กส์มีง่าย แต่การมีลูก และเลี้ยงลูกไม่ใช่เรื่องง่าย
ด้าน นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผอ.สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. มีเป้าหมายป้องกันเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อการเติบโตของเด็ก ทั้ง บุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮลอล์ สารเสพติด และการพนัน ที่นับวัน ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่ต้องเข้ามาดูแลเพื่อช่วยกันจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน และร่วมเป็นต้นแบบดูแลเด็ก
โดย สสส. เตรียมสื่อการรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้กับบ้านพักเด็ก และครอบครัวเด็กทุกจังหวัด ซึ่งมีเนื้อหาสอดแทรกเรื่องสิทธิเด็ก การปกป้องคุ้มครองเด็กจาอบายมุข และความรุนแรงในครอบครัว เพื่อให้เยาวชนห่างไกล ปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง เพราะแม้ว่าจะรู้ว่าบุหรี่ เหล้าไม่ดี แต่ต้องทำอย่างไรให้เด็กเลือกกิจกรรมที่เหมาะสม
“ต้องยอมรับว่าการตลาดของเหล้า บุหรี่ ทำได้ดี มีความพยายามค้นหานักดื่ม และนักสูบหน้าใหม่ตลอดเวลา ดังนั้นเด็กและเยาวชนเป็นเป้าหมายหลัก เมื่อเสพติดแล้วก็หานักสูบและนักดื่มใหม่ไปเรื่อย ๆ” นางสาวรุ่งอรุณ กล่าว
ลงทุนซื้อสิ่งของให้เด็กอาจง่าย แต่ไม่ดีเท่า ไม่เท่ากับลงทุนสร้างพ่อแม่ที่เหมาะสมกับเด็ก เพราะจะเป็นทุกอย่างให้กับลูก ทั้งความอบอุ่นจากอ้อมกอด เป็นร้านอาหารชั้นเยี่ยมให้กับลูก ๆ ที่ครบทั้งโภชนาการและความอร่อย และเป็นธนาคารที่ให้ทั้งคำปรึกษาสินเชื่อ เงินกู้แบบไม่หลอกลวง ไม่เก็บดอกเบี้ย และยังมีความปรารถนาดีอย่างเปี่ยมล้น