ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน

ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก


ลงทุนปลอดภัยทางถนนยั่งยืน thaihealth


แฟ้มภาพ


ในการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุขของประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียใต้และตะวันออก เพื่อเร่งรัดการขับเคลื่อนทศวรรษแห่งความปลอดภัยบนท้องถนน ตามที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดไว้เพื่อให้ประเทศสมาชิกลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ 50% ซึ่งไทยก็ได้กำหนดเป็นวาระแห่งชาติ


โดยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุขได้เปิดเผยถึงสถานะความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทยจากฐานข้อมูล 3 แหล่งสำคัญ ได้แก่ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ข้อมูลมรณบัตรและหนังสือรับรองการตายของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พบว่าในปี 2559 คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน 22,356 คน คิดเป็น 34.4 ต่อประชากรแสนคน โดย 3 ใน 4 ของผู้เสียชีวิตเป็นเพศชาย มีอายุ 25-29 ปี


ทั้งนี้ สิ่งที่น่าห่วงคือทุกปีมีผู้พิการรายใหม่จากอุบัติเหตุ 5,000 คนหรือในทุกวันมี 42 ครอบครัวสูญเสียสมาชิก ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานเป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และมี 25 ครอบครัวที่ต้องดูแลสมาชิกพิการจากอุบัติเหตุไปตลอดชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุขและความเสียหายทางเศรษฐกิจรวมกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตามจากการที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สนับสนุนการทำงานผ่านคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) โดยดำเนินงานใน จ.ภูเก็ต ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสามารถลดอัตราเสียชีวิตลงได้ 50% จากการวิเคราะห์และแก้ปัญหาจุดเสี่ยง ขณะที่ตำรวจเน้นบังคับใช้กฎหมายทั้งสวมหมวกนิรภัย ดื่มแล้วขับ ตรวจจับความเร็ว โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยถือเป็นโมเดลที่ควรขยายไปทุกจังหวัด


ล่าสุดมีการจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 13 ภายใต้แนวคิด "ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน" ในวันที่ 6-7 ธันวาคม โดยประเด็นสำคัญในการประชุมปีนี้มีประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1.การลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน 2.ประชารัฐเพื่อสังคมกับความปลอดภัยทางถนน 3.ลงทุนเพื่อสังคมร่วมใจป้องกันภัยทางถนน 4.มิติใหม่บังคับใช้กฎหมาย Road Safety 4.0 และ 5.รถพยาบาลปลอดภัย 6.มิติทางสังคมกับการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย และ 7.ระบบใบขับขี่ใหม่กับความปลอดภัยทางถนน โดยใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้เร่งแก้ปัญหาเรื่องดื่มแล้วขับ การขับรถเร็ว ใบอนุญาตขับรถ การควบคุมดูแลรถโดยสารสาธารณะและการคาดเข็มขัดนิรภัย


ขณะเดียวกันหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้บูรณาการการทำงาน 5 เสาหลัก คือ 1.สร้างกลไกบริหารจัดการด้านป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างมี ประสิทธิภาพ 2.สร้างความปลอดภัยด้านโครงสร้างถนนและสภาพแวดล้อมริมทาง 3.ส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานพาหนะที่ปลอดภัย 4.สร้างวินัยจราจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน และ 5.การช่วยเหลือและรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนผนวกด้วยเพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมายและส่งเสริมความปลอดภัยในกลุ่มเสี่ยงหลัก โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์แต่หากยังขาดความตระหนักรู้ถึงปัญหาและยังมีคนจำนวนมากมีพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนที่ไม่ปลอดภัยจึงจำเป็นต้องมีการปลูกฝังจิตสำนึกและระเบียบวินัยควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดที่จะช่วยปรับพฤติกรรมได้ จึงหวังว่าการสัมมนาครั้งนี้จะตกผลึกได้แนวทางปฏิบัติที่เกิดประโยชน์

Shares:
QR Code :
QR Code