ฤดูร้อนเลือกน้ำ `สะอาด` ป้องกันโรค
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ปัญหาคุณภาพน้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตน้ำดื่ม น้ำใช้ โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนบางพื้นที่อาจคุณภาพไม่ดีนัก การเลือกใช้น้ำดิบ ควรเลือกที่ไม่มีกลิ่น สีแปลก น้ำดื่มควรต้มให้เดือด เพื่อป้องกันจุลินทรีย์
รศ.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า น้ำเพื่อใช้ในการบริโภคนั้น ถือว่ามีความสำคัญเป็นอันดับแรก อันดับต่อมาคือ น้ำใช้ และ น้ำเพื่อเพาะปลูก น้ำดื่มจะใช้น้อยที่สุดเพียงวันละ 1-2 ลิตรเท่านั้น ปัจจุบัน กระบวนการผลิตน้ำดื่มของไทยถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนสถานการณ์การขาดแคลนน้ำดื่มนั้น ถือว่าอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ โดยในพื้นที่เมืองอาจมีปัญหาน้อยกว่า เพราะกระบวนการผลิตน้ำประปามีการใส่คลอรีนในระดับที่เหมาะสม เมื่อผ่านเครื่องกรองทั่วไปก็สามารถใช้ดื่มได้
ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดนั้น พบว่า ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่คุณภาพของน้ำดิบที่นำมาใช้ผลิตน้ำดื่ม โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่บางพื้นที่เกิดความแล้งขึ้น ทำให้หาแหล่งน้ำที่มีคุณภาพดีได้ยาก โดยแหล่งน้ำใต้ดินถือเป็นแหล่งน้ำดิบที่มีคุณภาพคงที่มากกว่า น้ำดิบที่อยู่บนผิวดิน ซึ่งมีความแปรผันตามธรรมชาติสูง และมีโอกาสที่เชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนได้มากกว่า แม้ว่าจะนำมาผ่านกระบวนปรับปรุงคุณภาพน้ำก็ยังเสี่ยงอยู่
“สำหรับพื้นที่ในชุมชนต่างๆ และโรงเรียน ขณะนี้ได้รับการอบรมจากภาครัฐและมหาวิทยาลัย ในการผลิตน้ำประปา และมีเครื่องกรองสำหรับใช้ทำน้ำดื่ม สิ่งที่ควรระวังคือ การเลือกใช้น้ำดิบที่มีคุณภาพ เช่น ไม่มีกลิ่น หรือ สีแปลกๆ เติมคลอรีนในปริมาณที่เหมาะสม และน้ำดื่ม ควรต้มน้ำให้เดือด เพื่อป้องกันจุลินทรีย์ ที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำเพื่อป้องกันโรคในทางเดินอาหาร แม้ว่าจะผ่านกระบวนการกรองน้ำแล้ว แต่บางครั้งการกรองก็ไม่สามารถดักจับเชื้อจุลินทรีย์ได้หมด โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน เชื้อจุลินทรีย์จะเติบโตเร็วกว่าปกติ นอกจากนี้ ควรล้างไส้กรองให้อยู่ในสภาพดีอยู่ตลอดเวลาด้วย” รศ.วิสิฐกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน